เรื่องเด่น เหตุใด ค.ศ. 536 เป็นปีเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์การดำรงชีวิตของมนุษย์?

ในห้อง 'ภัยพิบัติและการเตรียมการ' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ เตือนภัย, 10 ธันวาคม 2018.

  1. โพธิสัตว์ เตือนภัย

    โพธิสัตว์ เตือนภัย เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    1,565
    กระทู้เรื่องเด่น:
    441
    ค่าพลัง:
    +655
    _104437721_gettyimages-515005712-170667a.jpg
    Image copyright Getty Images
    คำบรรยายภาพ ภาพจากจินตนาการแสดงให้เห็นหมอกควันที่บดบังแสงอาทิตย์ในซีกโลกเหนือนานถึง 18 เดือน เมื่อปี ค.ศ. 536

    ยุคสมัยที่คนเราต้องเผชิญกับความยากลำบากในการเอาชีวิตรอดมากที่สุด อาจไม่ใช่ช่วงเวลาวิกฤตในประวัติศาสตร์ที่รู้จักกันดีอย่างเช่นปี ค.ศ. 1349 ที่ประชากรครึ่งหนึ่งของยุโรปต้องตายลงด้วยเหตุกาฬโรคระบาด หรือปี ค.ศ. 1918 ซึ่งไข้หวัดใหญ่คร่าชีวิตผู้คนไป 50-100 ล้านคนทั่วโลก

    แต่ช่วงเวลาอันเลวร้ายที่สุดดังกล่าว อาจเป็นปี ค.ศ. 536 ที่นักวิทยาศาสตร์และนักประวัติศาสตร์บางกลุ่มเสนอว่า เป็นจุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศระดับโลกครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง ซึ่งเหตุการณ์นี้ได้ทำให้เกิดภัยพิบัติที่กระหน่ำซ้ำเติมมนุษย์ครั้งแล้วครั้งเล่า ตลอดช่วงหนึ่งศตวรรษต่อจากนั้น

    ศาสตราจารย์ไมเคิล แม็กคอร์มิก ประธานโครงการความริเริ่มทางวิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาประวัติศาสตร์ของมนุษย์แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ผู้นำทีมนักวิจัยนานาชาติ ได้ตีพิมพ์ข้อเสนอข้างต้นในวารสาร Antiquity ฉบับเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา โดยชี้ว่าเหตุภูเขาไฟระเบิดครั้งรุนแรงในซีกโลกเหนือเมื่อปี ค.ศ. 536 ส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อสภาพภูมิอากาศในหลายพื้นที่ทั่วโลก ซึ่งทำให้เกิดภัยแล้ง ความหนาวเย็น ภาวะขาดแคลนอาหาร โรคระบาด และการล่มสลายของอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ติดตามมา

    ปี ค.ศ. 536 (พ.ศ. 1079) ตรงกับยุคของจักรวรรดิไบแซนไทน์ซึ่งสืบทอดอำนาจจากจักรวรรดิโรมันตะวันตกที่ล่มสลายไปก่อนหน้านั้น บันทึกโบราณหลายฉบับระบุว่า ปี 536 เริ่มต้นขึ้นด้วยปรากฏการณ์แปลกประหลาดบนท้องฟ้า โดยมีกลุ่มหมอกควันปกคลุมไปทั่วยุโรป ตะวันออกกลาง และบางส่วนของเอเชีย เป็นเวลานานติดต่อกัน 18 เดือน จนทำให้ท้องฟ้าดำมืดทั้งกลางวันและกลางคืน

    อุณหภูมิในฤดูร้อนของปีนั้นลดลงจากปีก่อนหน้า 1.5-2.5 องศาเซลเซียส แต่ขณะนั้นไม่มีใครรู้ว่านี่คือจุดเริ่มต้นของทศวรรษที่หนาวเย็นที่สุดในรอบ 2,300 ปีที่ผ่านมา บันทึกโบราณของจีนระบุว่าเกิดหิมะตกกลางฤดูร้อน พืชผลทางการเกษตรเสียหาย และเกิดทุพภิกขภัยที่ทำให้ผู้คนต้องอดอยากล้มตายไปจำนวนมาก

    พงศาวดารไอริชได้บันทึกไว้ว่า เกิดภาวะ “ขาดแคลนขนมปัง” ในระหว่างปี 536-539 และไม่กี่ปีต่อมาที่เมืองเพลูเซียม (Pelusiam) ซึ่งเป็นเมืองท่าของชาวโรมันในอียิปต์ ได้เกิดกาฬโรคระบาดหนักในปี 541 และต่อมาลุกลามไปเป็นเหตุโรคระบาดครั้งใหญ่ในสมัยของจักรพรรดิจัสติเนียน ทำให้ประชากรของจักรวรรดิไบแซนไทน์ต้องล้มตายลงราว 1 ใน 3 หรืออาจจะถึงครึ่งหนึ่งของทั้งหมด อันเป็นสาเหตุที่เร่งให้จักรวรรดิโรมันตะวันออกล่มสลายเร็วขึ้น

    อะไรคือต้นเหตุของหายนะที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าเป็นเวลากว่าร้อยปี และกลุ่มหมอกควันหนาทึบที่บดบังแสงอาทิตย์นานถึงปีครึ่งนั้นมาจากไหนกันแน่?

    ชั่วโมงแห่งความมืดมิด


    _104437720_10098465-a1e6-40d0-94e0-892b32a50e93.jpg
    Image copyright Getty Images
    คำบรรยายภาพ เหตุภูเขาไฟ Eyjafjallajökull ในไอซ์แลนด์ปะทุเมื่อปี 2010 ทำให้ต้องปิดน่านฟ้าและงดการเดินอากาศทั่วยุโรป

    กล่าวกันว่าสมัยกลางศตวรรษที่ 6 นั้น ถือได้ว่าเป็น “ชั่วโมงมืด” (a dark hour) ท่ามกลางช่วงเวลาที่เคยเรียกขานกันว่า “ยุคมืด” (dark ages) ซึ่งก็สอดคล้องกับสภาพการณ์ที่ท้องฟ้าอันมืดมิด นำมาซึ่งหายนะอันดำมืดสำหรับมวลมนุษยชาติโดยไม่ทราบสาเหตุ

    แต่ปัจจุบันปริศนาที่ดูเหมือนจะมืดมนไร้คำตอบนี้ ได้รับการไขให้กระจ่างจากทีมนักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดแล้ว โดยการวิเคราะห์หลักฐานในแกนน้ำแข็งซึ่งขุดเจาะจากธารน้ำแข็งที่มีอายุเก่าแก่ในสวิสเซอร์แลนด์ ได้เผยถึงองค์ประกอบของบรรยากาศโลกในยุคนั้น

    ในส่วนหนึ่งของแกนน้ำแข็งซึ่งเก็บรักษาร่องรอยทางเคมีและอนุภาคฝุ่นละอองต่าง ๆ ในอากาศจากช่วงฤดูใบไม้ผลิของปี 536 นักวิทยาศาสตร์พบเศษหินแก้วภูเขาไฟขนาดจิ๋ว 2 ชิ้น ซึ่งชี้ว่าเกิดเหตุภูเขาไฟระเบิดครั้งรุนแรงในแถบไอซ์แลนด์หรือภูมิภาคอเมริกาเหนือ โดยเถ้าถ่านภูเขาไฟที่ปะทุออกมาปริมาณมหาศาลได้กระจายตัวปกคลุมท้องฟ้าของซีกโลกเหนือเอาไว้ทั้งหมด

    หมอกควันจากเถ้าถ่านภูเขาไฟนี้ยังถูกกระแสลมพัดพาให้ปกคลุมไปทั่วยุโรป และขยายตัวบดบังแสงอาทิตย์ในบางส่วนของทวีปเอเชียในเวลาต่อมา เหตุร้ายยังไม่หมดเพียงเท่านั้น เพราะในปี 540 และปี 547 ยังเกิดเหตุภูเขาไฟระเบิดรุนแรงตามมาอีก 2 ครั้งในพื้นที่ซึ่งคาดว่าเป็นเขตร้อนของโลก ซ้ำเติมให้สภาพท้องฟ้ามืดมิดและอากาศหนาวเย็นแผ่ขยายไปทั่ว จนอาจจะเรียกได้ว่าเป็น “ยุคน้ำแข็งช่วงสั้น” (mini ice age) ที่กินเวลานานราว 125 ปี

    เวลาของการฟื้นคืนชีพ


    หลังประสบหายนะและโรคระบาดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ภาวะเศรษฐกิจของยุโรปตกต่ำสู่ความฝืดเคืองและภาวะชะงักงันที่กินเวลานานกว่าหนึ่งศตวรรษ ก่อนที่จะพบกับสัญญาณของการเริ่มฟื้นตัวในปี 640 ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ทราบได้จากปริมาณของอนุภาคตะกั่วในอากาศที่พุ่งสูงขึ้น แสดงถึงการทำเหมืองแร่เงินที่กลับมาเฟื่องฟูอีกครั้งในช่วงกลางศตวรรษที่ 7 หลังจากที่ซบเซาไปในช่วงกว่าร้อยปีก่อนหน้านั้น

    _104435657_glaciar.jpg
    Image copyright Getty Images
    คำบรรยายภาพ แกนน้ำแข็งที่ขุดเจาะได้จากธารน้ำแข็งอายุเก่าแก่ สามารถบ่งบอกถึงชีวิตของผู้คนในอดีตเมื่อหลายร้อยปีก่อนได้

    นักวิทยาศาสตร์ยังพบว่าปริมาณของอนุภาคตะกั่วในแกนน้ำแข็งอายุเก่าแก่ พุ่งสู่ระดับสูงสุดอีกครั้งในตำแหน่งที่ตรงกับช่วงปี 660 ซึ่งขณะนั้นแร่เงินได้เข้ามาเป็นส่วนสำคัญของระบบเศรษฐกิจยุคกลางแทนทองคำที่กำลังขาดแคลน เนื่องจากการค้าขายโดยใช้เงินตราได้เฟื่องฟูขึ้นจนทองคำไม่พอใช้ เหตุการณ์นี้ยังชี้ถึงการเกิดขึ้นของชนชั้นพ่อค้าวาณิช ซึ่งเริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ด้วย

    ศ. ไคล์ ฮาร์เปอร์ นักประวัติศาสตร์ยุคโรมันและยุคกลางจากมหาวิทยาลัยโอคลาโฮมาของสหรัฐฯ บอกว่าข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับภัยธรรมชาติและมลพิษในอากาศจากฝีมือมนุษย์เมื่อเกือบ 1,500 ปีก่อน ซึ่งถูกเก็บรักษาไว้ในชั้นน้ำแข็งนี้ “ได้มอบบันทึกทางประวัติศาสตร์แบบใหม่ให้กับเรา สร้างความเข้าใจถึงเหตุการณ์ที่มีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกัน ระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ ซึ่งนำไปสู่การล่มสลายอย่างสิ้นเชิงของจักรวรรดิโรมัน และการเริ่มเกิดขึ้นของระบบเศรษฐกิจใหม่ในยุคกลาง”

    ศ. คริสโตเฟอร์ เลิฟลัค นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยนอตติงแฮมของสหราชอาณาจักร แสดงความเห็นว่า “เราได้เข้าสู่ยุคของวิทยาการใหม่ล่าสุด ที่สามารถผสมผสานข้อมูลจากบันทึกธรรมชาติที่มีความแม่นยำและความละเอียดสูงในสิ่งแวดล้อม เข้ากับข้อมูลจากบันทึกประวัติศาสตร์ที่มีรายละเอียดสอดคล้องตรงกันได้แล้ว นับเป็นการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญทีเดียว”

    ขอบคุณที่มา
    https://www.bbc.com/thai/features-46505470
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 10 ธันวาคม 2018

แชร์หน้านี้

Loading...