เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันศุกร์ที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๖

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 24 มีนาคม 2023.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,243
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,603
    ค่าพลัง:
    +26,455
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันศุกร์ที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๖


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,243
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,603
    ค่าพลัง:
    +26,455
    วันนี้ตรงกับวันศุกร์ที่ ๒๔ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖ กระผม/อาตมภาพต้องไปยังวิทยาลัยสงฆ์พุทธปัญญาศรีทวารวดีตั้งแต่เช้า เพื่อเข้าร่วมฟังบรรยายในหัวข้อ หลักเกณฑ์และวิธีการขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ ซึ่งรศ.ดร.สุรพล สุยะพรหม รองอธิการบดีฝ่ายกิจการทั่วไป มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นผู้บรรยายถวายความรู้แก่พระภิกษุ ตลอดจนกระทั่งให้ความรู้ในด้านการขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการแก่อาจารย์ที่เป็นฆราวาสทั่วไป

    การขอตำแหน่งทางวิชาการนั้น ตั้งแต่ประมาณปี ๒๕๕๖ กระผม/อาตมภาพก็ได้รับการกระตุ้นให้ยื่นเรื่องขอตำแหน่งทางวิชาการ คือผู้ช่วยศาสตราจารย์ไปแล้ว แต่โดยนิสัยของตนเองนั้นไม่ชอบขออะไร โดยเฉพาะสิ่งที่ได้มานั้นมักจะเป็นเรื่องที่รู้สึกว่ารกรุงรัง จึงไม่ได้ขอ จนกระทั่งลาออกจากวิทยาลัยสงฆ์พุทธปัญญาศรีทวารวดี เพื่อไปดำเนินการสร้างวิทยาลัยสงฆ์กาญจนบุรีศรีไพบูลย์

    เมื่อไปทำงานทางด้านจังหวัดกาญจนบุรีอย่างเต็มที่ ก็ได้รับการกระตุ้นให้ขอตำแหน่งทางวิชาการอีก ซึ่งกระผม/อาตมภาพเองก็ยังคงมีนิสัยเหมือนเดิม ก็คือไม่มีอารมณ์ที่จะขอตำแหน่งแห่งที่ใด ๆ ให้กับตัวเองทั้งสิ้น จึงได้ทำหูทวนลมมาจนกระทั่งถึงวันนี้

    ท่านอาจารย์รศ.ดร.สุรพล สุยะพรหม ก็ยังถามว่า "หลวงพ่อเล็ก ไม่คิดจะขอบ้างหรือครับ ?" จึงได้เรียนท่านอาจารย์ไปว่า "ตำแหน่งแห่งที่ทุกอย่างที่ได้รับอยู่ในปัจจุบันนั้นเป็นผู้อื่นถวายมา หรือว่าผู้บังคับบัญชามอบหมายมาให้ทั้งสิ้น ไม่เคยขอด้วยตนเองมาก่อนเลย จึงไม่รู้สึกเคยชินว่าจะต้องไปขออะไร"

    ทำให้ท่านอาจารย์บอกว่า "เคยมีเหมือนกันครับ ที่อาจารย์อาวุโสบางท่านก็มีนิสัยอย่างนี้ ว่าใครจะให้อะไรก็ให้มาเลย ถ้าไม่ให้ก็ไม่ขอใคร แล้วท่านอาจารย์ก็เป็นแค่ด็อกเตอร์ไปจนกระทั่งเกษียณอายุ ไม่มีตำแหน่งแห่งที่ใด ๆ เพราะไม่ยอมขออะไรใครเหมือนกัน" เมื่อได้ยินดังนี้ กระผม/อาตมภาพก็ถึงได้เข้าใจว่า ไม่ใช่ตนเองแปลกแยกจากสังคม หากแต่ว่าบุคคลที่มีแนวคิดแบบนี้มีอยู่

    โดยเฉพาะกระผม/อาตมภาพนั้น ส่วนที่กลัวมากเลยก็คือ สิ่งต่าง ๆ ที่มาร้อยรัดจนกระทั่งเราดิ้นไม่หลุด แล้วก็จะต้องติดอยู่กับวัฏสงสาร เวียนว่ายตายเกิดไม่รู้จบ ซึ่งกระผม/อาตมภาพถือว่าเป็นเรื่องที่น่ากลัวที่สุด จึงไม่พยายามที่จะดิ้นรนขออะไรกับใคร
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,243
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,603
    ค่าพลัง:
    +26,455
    แต่ว่าภายในวันนี้ก็มีมติเถรสมาคม ที่แต่งตั้งให้กระผม/อาตมภาพนั้น ทำหน้าที่คณะกรรมการโครงการสร้างความปรองดองและสมานฉันท์โดยหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา หมู่บ้านรักษาศีล ๕ ในเขตปกครองคณะสงฆ์หนกลาง ซึ่งคณะกรรมการดำเนินงานนี้คือผู้ที่ต้องเหนื่อยที่สุด เพราะว่าไม่ใช่คณะกรรมการอำนวยการ และขณะเดียวกันก็ไม่ใช่คณะกรรมการอำนวยการกลาง

    หากแต่ว่าเป็นตัวจักรที่ต้องลงไปกระโดดโลดเต้น เพื่อให้งานแต่ละอย่างสำเร็จเสร็จสิ้นลงไป ตอนนี้ก็รอเพียงแต่ว่าจะได้รับพระบัญชาจากสมเด็จพระสังฆราชอย่างเป็นทางการเมื่อไร ก็คงต้องเริ่มการประชุมกำหนดการปฏิบัติหน้าที่ของตนเป็นลำดับไป

    เมื่อจบการฟังบรรยายแล้วก็ได้ฉันเพลร่วมกับพระมหาบุญเลิศ อินฺทปญฺโญ, ศ.ดร. ซึ่งเป็นครูบาอาจารย์และเพื่อนฝูงสหธรรมิกกันมานาน ตั้งแต่สมัยที่ท่านยังทำหน้าที่ผู้อำนวยการหน่วยวิทยบริการคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วัดไร่ขิง (พระอารามหลวง) ซึ่งได้ปั้นรุ่นของกระผม/อาตมภาพให้จบปริญญาโทเป็นรุ่นแรก จนกระทั่งภายหลังก็ได้ยกฐานะขึ้นมาเป็นวิทยาลัยสงฆ์พุทธปัญญาศรีทวารวดี และมีแนวโน้มว่าจะยกขึ้นเป็นวิทยาเขตในเวลาอีกไม่นาน

    ในระหว่างที่ฉันภัตตาหารนั้น ก็ได้พูดคุยกันในแนวทางที่ว่า บุคคลนั้นมักอยากจะได้ตำแหน่ง แต่ไม่ต้องการทำหน้าที่ ซึ่งบุคคลทั้งหลายเหล่านี้มีแต่จะเป็นตัวถ่วงหน่วยงาน ทำให้ไม่ได้รับความก้าวหน้าอย่างที่ต้องการ

    เมื่อฉันเพลเสร็จเรียบร้อยแล้ว กระผม/อาตมภาพก็ลาครูบาอาจารย์และเพื่อนฝูงทั้งหมดกลับเข้าสู่ที่พัก เพื่อที่จะได้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นในเวทีทบทวนและปรับปรุงธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ซึ่งจะทำการปรับปรุงและส่งเข้าไปในคณะรัฐบาล เพื่อที่จะได้ออกมาเป็นกฎหมายอย่างเป็นทางการ การทำงานทุกอย่างเมื่อมีกฎหมายรองรับจะได้สะดวกขึ้น

    เนื้อหาของธรรมนูญส่งเสริมสุขภาพนั้น กระผม/อาตมภาพไม่มีข้อใดเห็นค้าน นอกจากเพิ่มคำพูดบางคำลงไปเพื่อให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น อย่างเช่นในส่วนที่ระบุว่า อุปัชฌาย์ อาจารย์ และสหธรรมิก ขอให้เปลี่ยนเป็นพระอุปัชฌาย์ อาจารย์ ตลอดจนพระภิกษุสามเณรทั้งหลาย ถ้าจะเอาให้ชัดเจนก็มีวงเล็บว่า ในวัดนั้น ๆ ไปเลย
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,243
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,603
    ค่าพลัง:
    +26,455
    แต่ว่าในส่วนที่ได้ท้วงติงทางคณะกรรมการไปก็คือว่า การที่เราถึงขนาดจะไปกำหนดว่า คณะญาติโยมจะต้องทำอาหารอย่างนั้นอย่างนี้มาถวายเพื่อสุขภาพของพระสงฆ์นั้น น่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาในทางที่ผิด

    เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าอันดับแรกเลยก็คือ ญาติโยมเขามีอย่างไรก็ถวายพระอย่างนั้น ขนาดพระภิกษุในสมัยพุทธกาลขอให้พระภิกษุสงฆ์ทั้งหมดฉันเจ หรือมังสวิรัติ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ทรงอนุญาต เพราะว่าจะสร้างความลำบากให้แก่ญาติโยมเขาที่ต้องทำอาหารเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งเป็นมังสวิรัติเพื่อถวายพระภิกษุสงฆ์ อีกส่วนหนึ่งก็เป็นอาหารปกติสำหรับตนเองและครอบครัว ซึ่งจะสร้างความยากลำบากให้แก่ญาติโยมเขา

    อีกส่วนหนึ่งที่กระผม/อาตมภาพได้ท้วงติงไปก็คือว่า พระสงฆ์ของเรานั้นต้องปฏิบัติตามหลักโภชเนมัตตัญญุตาในอปัณณกปฏิปทา ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากำหนดไว้อยู่แล้ว ถ้าหากว่าเรารู้จักฉันแต่พอดี เพียงพอที่จะดำรงธาตุขันธ์นี้ไว้เพื่อปฏิบัติธรรมเท่านั้น เราก็จะไม่เกิดอาการฉันล้น ฉันเกิน จนก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเบาหวาน ความดัน ไขมันในเส้นเลือด เหล่านี้เป็นต้น

    ดังนั้น...ถ้าหากว่าเรารู้จักประมาณในการขบฉันแล้ว มีการออกกำลัง อย่างเช่นว่ากระผม/อาตมภาพก็เดินบิณฑบาตวันละ ๕ กิโลเมตร พระภิกษุสงฆ์สามเณรวัดท่าขนุนก็มีการร่วมกันทำความสะอาด ปัดกวาดเช็ดถูวัดวันละ ๒ รอบ เช้า-เย็น เป็นต้น ในลักษณะอย่างนี้เราเองเท่ากับได้ออกกำลังอย่างหนัก ๆ อยู่ทุกวัน สุขภาพร่างกายก็ย่อมจะดีโดยอัตโนมัติ

    แต่ขณะเดียวกัน ส่วนที่อยากให้มีก็คือว่า ให้มีการประสานกับคณะอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านก็ดี โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลก็ดี โรงพยาบาลประจำอำเภอก็ตาม ถ้าหากว่ามีการประสานกัน อยู่ในลักษณะทำโครงการเพื่อสุขภาพพระสงฆ์ ทำการตรวจสุขภาพประจำปีสักปีละ ๑ ครั้ง หรือว่าถ้าหากว่าเหมาะสมก็ปีละ ๒ ครั้ง ก็จะได้รู้ว่าพระภิกษุสามเณรท่านใดอยู่ในภาวะการสุ่มเสี่ยงต่อการที่จะเป็นคนป่วยด้วยโรคที่ปราศจากเชื้อ

    สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ถ้าหากว่าเราประสานงานดี ๆ ก็เท่ากับว่า โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลก็ดี โรงพยาบาลประจำอำเภอก็ตาม ได้ทำโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนด้วย ส่วนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เขาทั้งหลายเหล่านั้นมีหน้าที่ที่จะต้องดูแลทุกคน แม้กระทั่งพระภิกษุสามเณรอยู่แล้ว
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,243
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,603
    ค่าพลัง:
    +26,455
    อีกส่วนหนึ่งที่มีพระท่านเสนอร่วมเข้ามาก็คือ ขอให้มีสายด่วนสุขภาพ เจ็บไข้ได้ป่วยอะไรจะได้ติดต่อหมอได้ทันท่วงที ได้รับการรักษา หรือว่าได้รับคำปรึกษาโดยไม่ต้องไปให้แออัดในโรงพยาบาล ซึ่งตรงนี้ กระผม/อาตมภาพก็เห็นด้วย

    เพียงแต่ว่าในส่วนที่อยากจะบอกกับคณะกรรมการก็คือว่า ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ของเราจะร่างเอาไว้ดีขนาดไหนก็ตาม จะได้รับอนุมัติออกมาเป็นกฎหมายแล้วก็ตาม จะดีแค่ไหนก็ไม่มีประโยชน์ถ้าหากว่าผู้ปฏิบัติตามยังขาดจิตสำนึกอยู่

    ดังนั้น...ในส่วนที่ควรจะกระทำก็คือ ควรที่จะมีการประชุมพระสงฆ์สักปีละ ๒ ครั้ง ตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของกองทัพธรรมในพระพุทธศาสนา ถ้าทหารกล้าในกองทัพธรรมนั้นสุขภาพย่ำแย่ ย่อมไม่สามารถที่จะเผยแผ่ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้อย่างเต็มที่ ต้องให้ทุกคนตระหนักถึงหน้าที่ของตนเอง โดยเฉพาะเพศภาวะของตนเอง ว่าเรามีเพศต่างจากคฤหัสถ์แล้ว อาการกริยาใด ๆ ที่เป็นของสมณะ เราต้องทำอาการกริยานั้น ๆ

    หลักข้อห้ามคือศีลมีอย่างไร หลักข้อที่ต้องปฏิบัติตามคือธรรมะมีอย่างไร เราต้องปฏิบัติให้ครบถ้วนสมบูรณ์ วัตรปฏิบัติต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติต่อพระอุปัชฌาย์อาจารย์ การออกบิณฑบาต การปัดกวาดลานวัดลานเจดีย์เหล่านี้ ถ้าหากว่าเราทำเป็นปกติ เชื่อว่าสุขภาพของพระภิกษุสามเณรจะต้องดีขึ้นโดยอัตโนมัติ

    เพียงแต่ว่าเจ้าคณะปกครองก็ดี ผู้ที่รับผิดชอบตามสายงานก็ตาม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปากเปียกปากแฉะในการย้ำแล้วย้ำอีก ในลักษณะของอนุสาสนี ก็คือต้องตอกย้ำหัวตะปูกันบ่อย จนกระทั่งพระภิกษุสามเณรเกิดจิตสำนึกขึ้นมาว่าตนเองควรที่จะประพฤติปฏิบัติอย่างไร ถึงจะเป็นไปตามพระธรรมวินัย

    ขณะเดียวกัน สุขภาพร่างกายก็จะแข็งแรง ช่วยให้เราสามารถที่จะศึกษาธรรมะแล้วนำไปเผยแผ่ต่อ สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับพระพุทธศาสนา ถ้าปราศจากจิตสำนึกตรงนี้ ต่อให้ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ร่างออกมาดีแค่ไหน แต่ผู้ปฏิบัติไม่ปฏิบัติตาม ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้เลยว่าจะบังเกิดผลดีต่อสุขภาวะของพระสงฆ์สามเณรโดยส่วนรวม

     
  6. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,243
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,603
    ค่าพลัง:
    +26,455
    การแสดงความเห็นในครั้งนี้ ทำให้บรรดาคณะกรรมการได้ทราบถึงปัญหาอย่างชัดเจนว่า สุขภาพพระสงฆ์ที่ย่ำแย่อยู่นั้นไม่ได้เกิดจากการขาดข้อกฎหมายหรือระเบียบบังคับ เพราะว่ากฎหมายหรือระเบียบบังคับก็คือพระธรรมวินัยนั้น มีสมบูรณ์บริบูรณ์อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าพระภิกษุสามเณรได้ตระหนักถึงและปฏิบัติตามเท่าไรเท่านั้น ถ้าหากว่าเราไม่ปฏิบัติตามแล้ว ต่อให้เป็นพระธรรมวินัยของพระพุทธศาสนา ที่เป็นหลักยึดถือปฏิบัติของตนก็ไม่แยแสสนใจ ถ้าอย่างนั้นแล้วต่อให้ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ดีอย่างไร ก็คงไม่ดีไปกว่าสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติเอาไว้

    จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งว่า ทำอย่างไรที่จะตอกย้ำจิตสำนึกให้พระภิกษุสามเณรของเรา ปฏิบัติตามคำสั่งและคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างเคร่งครัด นอกจากจะช่วยให้สุขภาพดีขึ้นแล้ว ยังสร้างเสริมศรัทธาของคณะญาติโยม ช่วยประคับประคองพระพุทธศาสนาของเราให้เจริญมั่นคงได้อีกส่วนหนึ่งด้วย

    สำหรับวันนี้ ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้


    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันศุกร์ที่ ๒๔ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...