เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันศุกร์ที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 16 กุมภาพันธ์ 2024.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,840
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,572
    ค่าพลัง:
    +26,415
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันศุกร์ที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,840
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,572
    ค่าพลัง:
    +26,415
    วันนี้ตรงกับวันศุกร์ที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๗ กระผม/อาตมภาพเดินทางไปร่วมพิธีเปิดโครงการอบรมบาลีก่อนสอบ ของคณะสงฆ์ภาค ๑๔ ที่วัดไร่ขิง (พระอารามหลวง) โดยมีพระเดชพระคุณท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (ธงชัย ธมฺมธโช) กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่หนกลาง เป็นประธานในพิธีเปิด

    ในเรื่องของการเรียนบาลีนั้น ต้องบอกว่าเป็นเรื่องของคนมีบุญ เพราะว่าเท่ากับถูกบังคับให้ทำธุระในพระพุทธศาสนา ซึ่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแบ่งออกเป็น ๒ ประการ คือ ๑) คันถธุระ ก็คือการศึกษาพระไตรปิฎก ปัจจุบันนี้ได้แก่การเรียนบาลีนี่เอง ๒) วิปัสสนาธุระ คือการเจริญพระกรรมฐาน ไม่ว่าจะเป็นสมถกรรมฐาน หรือว่าวิปัสสนากรรมฐาน

    การเรียนบาลีนั้น ถ้าหากว่าตามอย่างครูบาอาจารย์ของพวกเรา ก็คือหลวงปู่ปาน วัดบางนมโคก็ดี หลวงพ่อฤๅษีฯ วัดท่าซุงก็ตาม ท่านเรียนเพื่อให้แปลบาลีได้ถูกต้อง จะได้สอบทวนว่าตำราที่เอามาศึกษาและปฏิบัติในวิปัสสนาธุระนั้น ถูกต้องตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ในพระไตรปิฎกหรือไม่ ?

    คราวนี้จากการที่กระผม/อาตมภาพเคยเป็นนักเรียนบาลีมาด้วยตนเอง จึงกล้าพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า "ท่านใดที่สอบบาลีได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค สามารถที่จะเรียนปริญญาเอกจบได้อย่างน้อย ๓ ใบ..!" เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าบาลีนั้นยากมาก ต้องใช้คำว่า "ยากมากถึงมากที่สุด" บุคคลที่เรียนบาลีจึงต้องมีความขยันหมั่นเพียรเป็นพิเศษ

    โบราณเขาบอกว่าผู้ที่จะเรียนบาลีแล้วประสบความสำเร็จนั้น ประการที่ ๑ ต้องมีความขยัน ตัวอย่างที่กระผม/อาตมภาพจะยกให้ทุกท่านได้ทราบก็คือลูกศิษย์ท่านหนึ่ง ปัจจุบันนี้ก็คือพระครูกาญจนปริยัติคุณ (ชุมพร ปิยธมฺโม ป.ธ.๓) เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ประชุมชนาราม หรือว่าวัดท่ามะขาม ท่านเรียนบาลีที่สำนักวัดสามพระยาวรวิหาร เรียนตอนอายุมากแล้ว จึงต้องใช้ความขยันเข้าสู้ เพราะว่าบรรดาสามเณรนักเรียนบาลีนั้น ล้วนแล้วแต่สมองกำลังแจ่มใส อยู่ในช่วงวัยรุ่น พร้อมที่จะซึมซับเอาเนื้อหาบทเรียนได้ง่าย

    ในเมื่อพระครูกาญจนปริยัติคุณท่านเอาความขยันเข้าสู้ จึงกลายเป็นที่รักของครูบาอาจารย์อย่างยิ่ง เมื่อสอบได้เปรียญธรรม ๓ ประโยค ก็กลายเป็นที่กล่าวขวัญกันไปทั่ว โดยเฉพาะท่านเจ้าคุณไพบูลย์ - พระราชปริยัติโมลี (ไพบูลย์ วิปุโล ป.ธ .๙) ซึ่งภายหลังได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดสุวรรณาราม ราชวรวิหาร ซึ่งเรียนปริญญาโทรุ่นเดียวกับกระผม/อาตมภาพ ท่านกล่าวถึงเสมอว่า "มหาชุมพรเป็นสุดยอดของความขยัน ผมสอนบาลีมาเป็น ๑๐ ปี เจอลูกศิษย์ที่ขยันขนาดนี้แค่ไม่กี่รูปเท่านั้น"
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,840
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,572
    ค่าพลัง:
    +26,415
    คำว่า "มหาชุมพร" นั้น ท่านเจ้าคุณไพบูลย์เรียกอยู่คนเดียว เนื่องจากว่ากระผม/อาตมภาพได้ขอฐานานุกรมที่พระครูวินัยธร ของพระเดชพระคุณพระเทพเมธากร (ณรงค์ ปริสุทฺโธ ป.ธ.๔) อดีตเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรีให้กับท่าน

    หลังจากนั้นไม่กี่เดือน ท่านก็สอบผ่านเปรียญธรรม ๓ ประโยค จึงไม่มีโอกาสที่จะใช้คำว่า "มหา" นำหน้าเหมือนกับคนอื่น เพราะว่าตำแหน่งฐานานุกรมที่พระครูวินัยธรนั้น สูงกว่าตำแหน่งมหาเปรียญ ๓ ประโยค แต่ว่าครูบาอาจารย์ ก็คือท่านเจ้าคุณไพบูลย์ ท่านรักลูกศิษย์ของท่าน เห็นว่าสอบได้ด้วยความยากลำบาก จึงได้เรียก "มหาชุมพร" ให้ชื่นใจทุกครั้งที่กล่าวถึง

    ประการที่ ๒ บุคคลที่จะเรียนบาลีให้ประสบความสำเร็จ โบราณท่านว่า "ต้องมีครูดี" เนื่องเพราะว่าครูที่มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริงนั้น สามารถที่จะสอนเราให้เข้าใจเนื้อหาบทเรียนต่าง ๆ ได้ง่าย และบางท่านก็ยังมีความสามารถพิเศษ เก็งข้อสอบได้แม่นยำมาก..! จึงทำให้ท่านที่มีครูดี เรียนแล้วเข้าใจง่าย ดีไม่ดีก็ยังได้ข้อสอบไปซ้อมทำก่อนอีกต่างหาก..!

    ประการที่ ๓ ผู้ที่จะเรียนบาลีประสบความสำเร็จ ต้องมีบุญดี บุคคลที่มีบุญดีนี้ กระผม/อาตมภาพมีตัวอย่างหลายท่าน

    ท่านแรกก็คือท่านอาจารย์จักรฤกษณ์ จันทร์ดำ ท่านเป็นครูบาอาจารย์ที่สอนกระผม/อาตมภาพช่วงที่เรียนปริญญาตรีอยู่ ท่านอาจารย์จักรฤกษณ์เรียนบาลีที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก เป็นสามเณร พอสอบได้ประโยค ๓ ใคร ๆ ยกย่องเป็นสามเณรเปรียญ ท่านก็เริ่มเหลิง ปรากฏว่าพอให้เรียนประโยค ๔ ก็ไม่ค่อยสนใจแล้ว เอาแต่ดูหนังฟังเพลง เที่ยวเตร่เสียมากกว่าตามประสาวัยรุ่น

    จนกระทั่งหลวงพ่อเจ้าอาวาสวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ หรือเรียกง่าย ๆ ว่า "วัดพระพุทธชินราช" ทนไม่ไหว ไล่ให้ไปลงชื่อสอบ ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เรียน ในเมื่อโดนไม้ตายแบบนั้นเข้า สามเณรจักรกฤกษณ์ก็ไปเปิดประโยค ๔ อ่าน ปรากฏว่าพอเปิดอ่านไปถึงหน้านั้น ความรู้สึกบอกอย่างชัดเจนว่า "ตรงนี้ออกแน่" ท่านจึงท่องแปลบาลีเฉพาะหน้านั้นเท่านั้น

    ปรากฏว่าออกจริง ๆ..! กลายเป็นสามเณรประโยค ๔ ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เรียนหนัง ซ้ำยังค่อนข้างจะเกเรเกตุง ต้องบอกว่าผ่านได้ด้วยบุญ เล่นเอาหลวงพ่อเจ้าอาวาสวัดพระพุทธชินราชถึงขนาดด่าว่า "โลกนี้ไม่ยุติธรรม คนชั่วมันได้ดี..!" ทำเอาท่านอาจารย์จักรฤกษณ์ รู้ตัวขึ้นมา ถึงได้ตั้งใจเรียนประโยค ๕ ต่อ แล้วก็เอาวุฒิประโยค ๕ นั้น มาเรียนในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เพราะว่ารุ่นเก่า ๆ นั้น จะต้องผ่านเปรียญธรรม ๕ ประโยค เขาถึงจะให้เรียน ไม่เช่นนั้นก็ต้องใช้วุฒิการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ ๖ เท่านั้น
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,840
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,572
    ค่าพลัง:
    +26,415
    อีกผู้หนึ่งที่อยากจะยกตัวอย่างก็คือ ท่านอาจารย์พระมหาสันติ โชติกโร ป.ธ. ๙ อดีตเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ประชุมชนาราม อดีตรองเจ้าคณะอำเภอห้วยกระเจา ท่านไปติวก่อนสอบเปรียญธรรมประโยค ๗ ที่วัดสร้อยทอง ขณะที่นอนอ่านหนังสืออยู่หลังพระประธานในอุโบสถ ปรากฏว่าเห็นเทวดาเดินออกมาแล้วชี้หนังสือให้ บอกว่า "ตรงนี้ออก" ท่านก็ตั้งใจท่องหนังสือตรงนั้น ปรากฏว่าออกจริง ๆ สอบผ่านประโยค ๗ ได้แบบง่าย ๆ นี่คือตัวอย่างของบุคคลที่ "บุญดี"

    อีกท่านหนึ่งก็เป็นครูบาอาจารย์ของกระผม/อาตมภาพเช่นกัน ก็คือ รศ.ดร. เวทย์ บรรณกรกุล ซึ่งตอนที่ท่านเป็นสามเณรนั้นสอบได้ประโยค ๘ แล้ว และไปช่วยในการก่อสร้างวิทยาลัยสงฆ์บาฬีพุทธโฆส ซึ่งตอนนั้นก็คือสถาบันบาฬีศึกษาพุทธโฆส ตั้งใจว่าประโยค ๙ นั้นยาก ท่านจะขอ "ดร็อป" เอาไว้ก่อน ไปช่วยหลวงพ่อสร้างสถาบันบาฬีศึกษาฯ ให้เรียบร้อยแล้วค่อยมาเรียนประโยค ๙ ต่อ

    ปรากฏว่าวันนั้นกำลังปีนหลังคามุงกระเบื้องอยู่ อยู่ ๆ มีรถนำขบวนเลี้ยวเข้ามา พร้อมกับขบวนอีก ๓ - ๔ คัน แล้วก็มีชายในชุดปกติขาว ออกมาตะโกนว่า "ท่าน..เป็นพระหรือเป็นเณรครับ ?" สามเณรเวทย์ก็ตอบลงมาว่า "เป็นสามเณรครับ" "แล้วท่านไปทำอะไรบนโน้น ?" ตอบว่า "มาช่วยหลวงพ่อมุงหลังคาครับ" ท่านเองก็ยังสงสัยว่าจะถามไปเอาอะไร ?

    ปรากฏว่าชายในชุดปกติขาวบอกว่า "นิมนต์ลงมาหน่อยครับ" ท่านก็เลยต้องปีนลงมา ชายในชุดปกติขาวก็นำสามเณรตรงไปที่รถยนต์คันหนึ่ง ปรากฏว่าเมื่อรถยนต์คันนั้นลดกระจกลงมา ท่านก็ตกตะลึง เพราะว่าผู้ที่นั่งอยู่ในนั้นก็คือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระยศในขณะนั้น ซึ่งท่านได้นำเอาช่อดอกไม้ที่ได้รับมาจากการเสด็จไปเปิดงาน ถวายให้แก่สามเณรเวทย์ ถามว่า "สามเณรเรียนบาลีหรือเปล่า ?" ท่านก็ทูลตอบว่า "สอบได้ประโยค ๘ แล้วครับ แต่ว่าไม่ได้เข้าเรียนประโยค ๙ เพราะต้องมาทำงานตรงนี้ให้หลวงพ่อก่อน"

    สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา" สยามบรมราชกุมารี ก็ได้ถวายคำแนะนำว่า "สามเณรเรียนประโยค ๙ ต่อเถอะ ถ้าหากว่าได้ประโยค ๙ แล้ว จะทำอะไร ๆ ก็ได้ง่ายกว่านี้" สามเณรเวทย์เมื่อได้รับกำลังใจมหาศาลขนาดนั้น ก็รับไว้เหนือเศียรเหนือเกล้า รีบอาบน้ำแต่งตัว กลับไปยังวัดชนะสงคราม กราบครูบาอาจารย์ ถามว่า "มีเก็งประโยค ๙ ไหมครับ ?" ครูบาอาจารย์ท่านก็มอบมาให้ สามเณรเวทย์มีเวลาแค่ ๒๐ วันในการศึกษาประโยคเก็งนั้น ปรากฏว่าออกตรงเป๊ะ..! สอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค ต้องบอกว่าในเรื่องของคนมีบุญนั้น เป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งในการศึกษาบาลีเหมือนกัน
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,840
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,572
    ค่าพลัง:
    +26,415
    แต่ว่าเราท่านทั้งหลาย ถ้าหากว่าเรียนบาลี เราไม่มั่นใจว่าเราจะขยัน ไม่มั่นใจว่าครูจะดี แถมยังไม่มั่นใจว่าบุญจะดีอีกต่างหาก ถ้าอย่างนั้น เราท่านก็คงต้องอาศัยความขยันของตนอีกทาง ก็คือ "ไม่ได้เล่ห์ต้องเอาด้วยกล ไม่ได้ด้วยมนต์ ต้องเอาด้วยคาถา"

    โบราณท่านให้ภาวนาคาถาช่วยในการเรียน ซึ่งนักเรียนบาลีทั่ว ๆ ไปก็จะใช้คาถาพระสุนทรีวาณี หรือบางท่านกล่าวว่าคาถานางฟ้าผู้พิทักษ์พระไตรปิฎก ซึ่งมีดังนี้ มุนินทะ วะทะนัมพุชะ คัพภะสัมภวะ สุนทะรี ปาณีนัง สะระณัง วาณี มัยหัง ปิณะยะตัง มะนัง เป็นสิ่งที่นักเรียนบาลีส่วนใหญ่จะใช้ภาวนากัน เพื่อให้เกิดสมาธิและรู้แจ้งปรุโปร่ง เพื่อที่จะได้ทำบาลีได้ถูกต้อง

    แต่ว่าถ้าเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อฤๅษีฯ วัดท่าซุง ก็จะใช้คาถาท่านปู่พระอินทร์ ก็คือ สหัสสะเนตโต เทวินโท ทิพจักขุง วิโสทายิ โดยที่ถึงเวลาแล้วรับข้อสอบมา อย่าเพิ่งอ่าน ให้คว่ำข้อสอบลง ภาวนาคาถานี้ ๓ จบก่อน เมื่อพลิกขึ้นมาอ่านคำถามแล้ว ถ้ายังคิดว่าทำไม่ได้ ให้คว่ำลง แล้วว่าอีก ๗ จบ หลังจากนั้นแล้ว อยากจะทำอะไร อยากจะเขียนอะไร ก็ให้ตะลุยไปเลย..!

    เมื่อกระผม/อาตมภาพนำมาใช้ ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เรียนนักธรรมชั้นเอก ซึ่งสมัยโน้นยากมาก ตัวเองเจ็บไข้ได้ป่วยด้วยมาลาเรีย แม้แต่แรงจะหายใจก็ยังไม่มี จึงต้องภาวนาคาถาท่านปู่พระอินทร์นี้ แต่ได้รับเพิ่มมาเป็น สหัสสะเนตโต เทวินโท ทิพจักขุง วิโสทายิ อิกะวิติ พุทธะสังมิ โลกะวิทู ปรากฏว่าถึงเวลาแล้วเหมือนกับลอกข้อสอบเลย เพราะว่าเขียนได้ตรงตามคำตอบเกือบทุกคำ..!

    ในปัจจุบันนี้ เมื่อได้รับคำสั่งให้สร้างเหรียญเสริมปัญญา ก็มีพระคาถาเสริมปัญญาเพิ่มขึ้นมา แต่ว่าพระคาถานี้ท่านบอกให้ภาวนา ๑๐๘ จบ ก็คือ ปัญญาเสฏฐัง ปัญญาพะลัง ปัญญาปาสาทิโก ปัญโญภาโส ปัญญาปัชโชโต ปัญญาระตะนัง ภูริปัญโญ มหาญาณัง สัมปะฏิจฉามิ
    ใครชอบบทไหน ก็สามารถใช้บทนั้นได้ แต่ว่าเรื่องของคาถานั้น ต้องการคนขยันและสม่ำเสมอ ไม่ใช่ถึงเวลาฉุกเฉินแล้วค่อยไปภาวนา ถ้าลักษณะอย่างนั้น มักจะโดน "สนิมกิน" ไม่มีทางที่จะใช้งานได้อย่างใจแน่นอน จึงต้องภาวนาทุกวัน เคยทำกี่จบก็ต้องเท่านั้นจบ แล้วเคล็ดลับมีอย่างไร ก็ต้องทำไปตามนั้น ไม่เช่นนั้นแล้วก็จะไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่หวัง

    สำหรับวันนี้เลยเวลามามากแล้ว จึงขอเรียนถวายแก่พระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันศุกร์ที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๗
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...