เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพฤหัสบดีที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๖

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 24 สิงหาคม 2023.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,893
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,575
    ค่าพลัง:
    +26,418
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพฤหัสบดีที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๖


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,893
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,575
    ค่าพลัง:
    +26,418
    วันนี้ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ ๒๔ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖ เป็นวันพระขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๙ ถ้าหากว่าสุ้มเสียงฟังไม่รู้เรื่องบ้างก็ต้องขออภัย เพราะว่ากรำงานมาหลายวันยังไม่พอ พื้นที่แถวนั้นแดดจัด ร้อนมาก กลับมาถึงวัดของเราแล้วก็เจอฝนหนักเหมือนกับคราวที่แล้วอีก ก็ต้องบอกว่าการเจ็บป่วยครั้งนี้น่าจะยืดยาวไปอีกหลายวัน..!

    ในวันพรุ่งนี้จะเป็นวันประชุมพระนวกะของคณะสงฆ์อำเภอทองผาภูมิ ซึ่งโดยปกติที่เคยปฏิบัติมาก็คือ กระผม/อาตมภาพให้พระภิกษุสามเณรวัดท่าขนุนทั้งหมด ที่ไม่ได้ติดภารกิจเวรยามอะไรไปเข้าร่วมพิธี แต่คราวนี้วัดที่เป็นเจ้าภาพก็คือวัดทุ่งเสือโทน หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า วัดคลีตี้ผลธรรมารามนั้น นอกจากจะอยู่ลึกแล้ว เรื่องอาหารการขบฉันต่าง ๆ ก็ยังไม่ได้สะดวกเหมือนกับทางบ้านนอกของเรา ถ้าไปกันมาก อาจจะเดือดร้อนทางด้านเจ้าภาพได้ จึงให้ไปเฉพาะบรรดาพระสังฆาธิการ ตลอดจนกระทั่งพระใหม่จริง ๆ เท่านั้น

    ในเรื่องของการประชุมพระนวกะ ส่วนที่สำคัญก็คือการที่ได้พบปะพระสังฆาธิการระดับสูง ไม่ว่าจะเป็นเจ้าคณะจังหวัด รองเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ รองเจ้าคณะอำเภอ ซึ่งโดยเฉพาะถ้าพื้นที่ของตำบลชะแลแล้ว เป็นเรื่องที่พบได้ยากมาก

    ตอนที่กระผม/อาตมภาพได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะตำบลชะแล เขต ๒ ซึ่งดูแลพื้นที่วัดทุ่งเสือโทน เดินทางเข้าไปสำรวจพื้นที่ หลวงพ่อไกโพ่เป็นชาวกะเหรี่ยง พอเข้าไปกราบท่าน รายงานตัวว่าเป็นเจ้าคณะตำบล ออกมาตรวจการคณะสงฆ์ ท่านถึงกับร้องไห้เลย บอกว่าเป็นเจ้าอาวาสมา ๒๗ ปี เพิ่งจะได้เห็นหน้าเจ้าคณะตำบลวันนี้เอง..!

    เนื่องเพราะว่าสมัยก่อน ถนนหนทางไม่ได้ดีเหมือนอย่างสมัยนี้ สมัยนี้ที่ท่านเห็นเป็นหลุมเป็นบ่อ ยิ่งหน้าฝนยิ่งเละเทะหนักนั้น สมัยก่อนหนักกว่านั้นหลายเท่า ต่อให้มีรถขับเคลื่อน ๔ ล้อก็ต้องทั้งขุดทั้งเข็น อย่างที่เคยเล่ากันตลก ๆ ว่า พวกกะเหรี่ยงมักจะนิยมโบกรถ เพราะว่าขี้เกียจเดิน แต่ถ้าหากว่าเป็นหน้าฝน เราไปจอดรถรับ กะเหรี่ยงเขาไม่ไปด้วย เขาบอกว่า "กำลังรีบ" ก็คือถ้าไปกับพวกเราแปลว่าช้าแน่นอน เพราะว่าต้องทั้งขุดทั้งเข็นรถยนต์ที่ติดหล่ม..!
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,893
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,575
    ค่าพลัง:
    +26,418
    ระยะทางของวัดสุดท้ายคือวัดคลิตี้ล่างนั้น ห่างจากวัดท่าขนุน ๘๗ กิโลเมตร วัดคลิตี้ล่างไม่นับเป็นวัด เป็นแค่สำนักสงฆ์เท่านั้น ในเขตปกครองคณะสงฆ์ตำบลชะแลเขต ๒ มีอยู่ ๕ วัดกับ ๗ สำนักสงฆ์

    กระผม/อาตมภาพตอนเป็นเจ้าคณะตำบล ถึงเวลามีคำสั่ง ไม่สามารถที่จะใช้วิธีโทรศัพท์ได้ เนื่องเพราะว่าพื้นที่ทั้งหมด ถ้าไม่ใช่อุทยานแห่งชาติ ก็เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ไม่ได้รับอนุญาตให้ติดตั้งเสารับสัญญาณโทรศัพท์ มีแค่ระบบโทรศัพท์ผ่านดาวเทียม ๔๗๐ เท่านั้น ซึ่งอาศัยอะไรไม่ได้เลย โดยเฉพาะหน้าฝนแบบนี้

    เนื่องเพราะว่าไฟฟ้าที่หล่อเลี้ยงระบบโทรศัพท์นั้นใช้โซล่าร์เซลล์ หน้าฝนโซล่าร์เซลล์แทบจะไม่มีโอกาสทำงาน จึงทำให้การติดต่อทุกอย่าง มีวิธีเดียวก็คือ ต้องวิ่งเข้าไปถึงพื้นที่ด้วยตนเอง

    กระผม/อาตมภาพเคยเช็คไมล์รถ เริ่มออกจากวัดท่าขนุนไป ส่งหนังสือไปจนครบ ๕ วัด กับ ๗ สำนักสงฆ์ เป็นระยะทาง ๑๔๒ กิโลเมตร..! ไกลขนาดไหนลองคิดเอา จากกรุงเทพฯ วิ่งผ่านนครปฐม ราชบุรี มาถึงกาญจนบุรี แค่ ๑๒๖ กิโลเมตร แต่วิ่งส่งหนังสือในตำบลชะแลเขต ๒ ครึ่งหนึ่ง ไม่ใช่ตำบลชะแลทั้งตำบล เป็นระยะทาง ๑๔๒ กิโลเมตร..!

    ดังนั้น..ในเรื่องของการปกครองคณะสงฆ์ จึงเป็นเรื่องที่ผู้บังคับบัญชาต้องเสียสละ พื้นที่แบบนั้น กิจนิมนต์ก็น้อยมาก เวลามีงานคณะสงฆ์ ก็มักจะมีการขอความช่วยเหลือจากบรรดาเจ้าอาวาส งานนี้เจ้าอาวาส ๒๐๐ บาท เจ้าคณะตำบล ๕๐๐ บาท งานนี้เจ้าอาวาส ๕๐๐ บาท เจ้าคณะตำบล ๑, ๐๐๐ บาท เหล่านี้เป็นต้น

    สมัยที่กระผม/อาตมภาพเป็นเจ้าคณะตำบลอยู่ จะจ่ายแทนทุกวัด เพราะมีประสบการณ์จากวัดพุทธบริษัทข้างนอกนี่เอง ส่งพระไปเป็นเจ้าอาวาส ๓ ปี มีกิจนิมนต์ครั้งเดียว ได้มา ๑๐๐ บาท ๓ ปีมีรายได้ ๑๐๐ บาท..! แล้วจะไปช่วยคณะสงฆ์แบบไหน ? ยุคนั้นก็เลยไม่มีใครอยากจะเป็นเจ้าอาวาสวัดพุทธบริษัท เพราะว่าไฟฟ้าก็ไม่มี กิจนิมนต์ก็ไม่มี

    พอกระผม/อาตมภาพไปช่วยสร้างให้ดีขึ้นมา มีไฟฟ้าเข้าได้ ถนนหนทางดีขึ้น คราวนี้แย่งกันอยากจะเป็นเจ้าอาวาสวัดพุทธบริษัท กระผม/อาตมภาพเรียนหลวงพ่อเจ้าอาวาสวัดหินแหลมที่เป็นเจ้าคณะอำเภอตอนนั้นว่า "ในเมื่อให้ผมสร้าง ก็ต้องเอาคนของผมไปเป็น" ไม่ได้ยึดติด แต่สร้างวัดทั้งที ก็อยากได้เจ้าอาวาสที่ชาวบ้านเขาไหว้ได้เต็มมือหน่อย เรื่องพวกนี้บางทีก็เป็นปัญหาที่พวกเราคิดไม่ถึง
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,893
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,575
    ค่าพลัง:
    +26,418
    ดังนั้น..พรุ่งนี้พวกท่านส่วนหนึ่งที่ต้องลำบากลำบน โดนเขย่าแทบจะหลุดเป็นชิ้น ๆ ไปสองชั่วโมงครึ่ง เพื่อที่จะเข้าไปถึงวัดทุ่งเสือโทนนั้น งานนี้จัดขึ้นเพื่อให้เจ้าคณะปกครองได้ทราบว่า ในพื้นที่เขาลำบากกันขนาดไหน โดยเฉพาะวิทยากรท่านหนึ่ง ซึ่งเมื่อครู่เพิ่งจะไลน์คุยกัน ก็คือท่านเจ้าคุณวีรพล - พระสุธีวชิรปฏิภาณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ท่านเป็นคนจังหวัดกาญจนบุรี จบเปรียญธรรม ๓ ประโยคแล้ว ถวายการรับใช้หลวงพ่อสมเด็จพระมหาธีราจารย์ (ปสฤทธ์ เขมงฺกโร) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามอยู่ ได้นิมนต์ท่านมาเป็นวิทยากร เพื่อที่ถึงเวลาแล้ว ท่านจะได้ไปกราบหลวงพ่อสมเด็จฯ วัดโพธิ์ ว่าพวกเราอยู่กันแบบไหน..?!

    กระผม/อาตมภาพเคยถ่ายรูปตอนเข้าไปตรวจการคณะสงฆ์ ส่งไปทางสำนักงานเจ้าคณะภาค ๑๔ แล้ว ทุกท่านสงสัยว่าพื้นที่แบบนี้ยังมีอยู่ในประเทศไทยด้วยหรือ ? ยังต้องบอกว่าที่ลำบากกว่านี้ยังมีอีก แถวบ้านจะแก สาละวะ ไล่โว่ หรือแม้กระทั่งบ้านทิไร่ป้า สะเหน่พ่อง กองม่องทะ เกาะสะเดิ่ง แถวนั้นเขาบวชพระกันปีละครั้งเดียว พอถึงเวลาพร้อม ทางด้านหลวงพ่อเจ้าคณะจังหวัด จะนัดพระอุปัชฌาย์อาจารย์ พระคู่สวด เขย่ากันเข้าไปหลาย ๆ ชั่วโมงกว่าจะถึง บางทีก็ต้องเข็นรถกันจนขี้โคลนท่วมหัว เข้าไปบวชให้ชาวบ้านชื่นใจว่าได้บวชลูกแล้ว ส่วนบวชลำบากลำบนขนาดนั้น จะอยู่ได้กี่วันก็แล้วแต่บุญของเขา

    บางทีญาติโยมส่วนใหญ่ที่ใช้วาจาในลักษณะว่า "บวชพระแล้วดี สบาย บ้านไม่ต้องเช่า ข้าวไม่ต้องซื้อ ภาษีไม่ต้องเสีย" อยากจะบอกแบบไพเราะว่า "มึงมาบวชแถวนี้ดูสิ..ดูว่าจะสบายไหม..?!"

    หน้าแล้งกระผม/อาตมภาพเคยต้องฉันต้มผักกูดที่ก้านแข็งกว่าไม้กวาดอีก..! เพราะว่าชาวบ้านหาอะไรกินไม่ได้ เคี้ยวเข้าไปก็เหมือนเคี้ยวกระดาษ แต่ก็ต้องกิน เพื่อให้รอด บิณฑบาตกี่วัน ๆ กับข้าวก็ได้แค่น้ำพริกกะเหรี่ยง แล้วก็รู้อยู่ว่าน้ำพริกกะเหรี่ยงก็คือใส่ปลาร้ากะเหรี่ยง ซึ่งขึ้นชื่อว่าปลาร้า แต่ไม่เคยได้หมักจากปลาสักที ส่วนใหญ่ก็หมักจากพวกสัตว์ต่าง ๆ ที่เขาหาได้ กลิ่นประทับใจไปเป็นกิโลเมตรเลย..! ก็อยู่กันแบบนั้นแหละ มีน้ำพริกแล้ว ส่วนที่เหลือก็ไปหาเอาในป่า

    ช่วงที่กระผม/อาตมภาพธุดงค์อยู่ บางทีก็ต้องฉันกล้วย ฉันมะละกอแทนข้าว ฉันฟักทองแทนข้าว บางทีเขาถวายมันสำปะหลังมาหัวหนึ่ง ก็ไม่ได้ใหญ่โตอะไร ยาวประมาณท่อนแขนเท่านั้น คือแค่คืบกว่า ๆ ต้องแบ่งเป็น ๓ ท่อน เผาฉันวันละท่อนให้พออยู่ได้เท่านั้น..!
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,893
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,575
    ค่าพลัง:
    +26,418
    ดังนั้น..พื้นที่ลักษณะนั้น แม้ว่าปัจจุบันจะเจริญมากแล้วก็ตาม แต่ก็ยังลำบากกว่าข้างนอกอยู่ดี เมื่อมีการประชุมพระนวกะ ซึ่งเป็นภาระหน้าที่ซึ่งผู้บังคับบัญชาระดับอำเภอขึ้นไป จะต้องเข้าไปถวายประสบการณ์ความรู้ต่าง ๆ ต่อพระใหม่ในพรรษา ท่านจะได้รู้ว่าพื้นที่เป็นอย่างไร แต่คราวนี้ส่วนใหญ่แล้ว เจ้าคณะปกครองในพื้นที่ของเรา ก็รู้อยู่แล้วว่าพื้นที่เป็นอย่างไร ที่ไม่รู้ก็คือส่วนใหญ่ที่มาจากที่อื่น..!

    สมัยพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระพรหมดิลก (เอื้อน หาสธมฺโม ป.ธ.๙, Ph.D.) ประธานสงฆ์วัดสามพระยา ยังเป็นพระเทพสุธี เจ้าคณะภาค ๑๔ อยู่ โดนพวกกระผม/อาตมภาพหลอกไปงานประชุมพระนวกะ บ่นไป ๓ ปี ไปที่ไหนท่านก็บรรยายว่า "ตอนแรกพาพวกผมไป ถึงริมเขื่อนลงแพ แหม..วิวดีมาก ผมก็ว่า "หรูแล้วงานนี้" ที่ไหนได้..ขึ้นจากแพ พาผมขึ้นรถขับเคลื่อน ๔ ล้อ เขย่าไปอีกเกือบ ๒ ชั่วโมง หวิดจะหลุดเป็นชิ้น ๆ..! ผมเพิ่งจะรู้ว่าลูกน้องของผมอยู่กันลำบากขนาดนี้"

    นี่คือสิ่งที่ตั้งใจทำเพื่อให้ผู้บังคับบัญชาระดับสูงท่านได้รู้ว่าพวกเราอยู่ลำบากกันแค่ไหน แล้วทุกวันนี้ที่ทนอยู่ในผ้าเหลือง เพื่อช่วยกันรักษาพระพุทธศาสนาเอาไว้ ต้องใช้ความอดทนอดกลั้นขนาดไหน ไม่ใช่เรื่องที่พระในเมืองจะเข้าใจ จนกว่าที่จะไปพบได้ด้วยตัวเอง

    ก็แปลว่าพรุ่งนี้ ท่านทั้งหลายต้องเป็นผู้เสียสละ ยอมลำบากด้วย เพื่อที่จะให้ความลำบากของเรา เข้าไปถึงหูถึงตาพระผู้ใหญ่ เผื่อท่านมีแนวคิด หรือว่าจะปรับเปลี่ยนแก้ไขเรื่องการปกครองอย่างไร อันนั้นก็ควรมิควรแล้วแต่จะกรุณา..!

    สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันพฤหัสบดีที่ ๒๔ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...