มงคลยอดชีวิตข้อ ๙ วินโย จ สุสิกฺขิโต -วินัยที่ศึกษาดี

ในห้อง 'ทวีป อเมริกา' ตั้งกระทู้โดย Wat Pa Gothenburg, 1 ธันวาคม 2008.

  1. Wat Pa Gothenburg

    Wat Pa Gothenburg เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 พฤศจิกายน 2008
    โพสต์:
    920
    ค่าพลัง:
    +260
    <table border="0" cellpadding="7" cellspacing="7" width="500"><tbody><tr><td colspan="3" align="center">[​IMG]</td> </tr> <tr> <td colspan="3" align="center">[SIZE=+2]สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ( พิมพ์ ธมฺมธโร)[/SIZE]</td> </tr> <tr> <td colspan="3" align="center">[SIZE=+1]วัดพระศรีมหาธาตุ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร[/SIZE]</td> </tr> </tbody></table>

    <center> มงคลยอดชีวิตข้อ ๙ </center>
    <center> วินโย จ สุสิกฺขิโต -วินัยที่ศึกษาดี </center> ชาติกับศาสนาได้มีสายสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันมา ถ้าชาติเป็นอันตรายด้วยประการใดๆ ศาสนาก็จะมีอันตรายไปด้วย ศาสนาจะดำรงมั่นต้องอาศัยความมั่นคงของชาติ แม้นชาติจะมั่นคงมีความสงบสุขอยู่ได่ ก็อาศัยศาสนาคุ้มครอง อย่าลืมว่าไม่มีแผ่นดินอิสระในประเทศใด ที่กฎหมายไม่มีอำนาจสูงสุด แม้อย่างนั้นกฎหมายก็ป้องกันได้ไม่สนิทเท่าศาสนา
    เชิญเถอะ เรามาไปศึกษามงคลยอดชีวิตข้อ ๙ คือวินัย เมื่อศึกษาแล้วจะเห็นได้ชัดแจ้งว่า ชาติกับศาสนาจะมั่นคง ต้องมีวินัยรักษาคุ้มครองป้องกัน นำให้คนในชาติและศาสนาเคารพนับถือกัน ตั้งใจปฏิบัติรักษาโดยเอื้อเฟื้อ มีระเบียบวินัยสม่ำเสมอกันและทั่วถึงกัน ไม่ฝ่าฝืนล่วงละเมิดทั้งในที่ลับและในที่แจ้ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าได้ศึกษาวินัยมาดีแล้ว ชาติกับศาสนาเป็นไฉน เชิญมาศึกษาต่อไปดังนี้
    ชุมชนที่ตั้งหลักแหล่งอยู่เป็นหมู่ๆ มีกำเนิดเชื้อชาติหรือสัญชาติที่สืบเนื่องมาแต่เผ่าพันธุ์เดียวกัน มีภาษาคำพูดร่วมกัน มีภูมิลำเนาที่อาศัยร่วมกัน คืออยู่ในเขตปกครองอันเดียวกัน มีประเพณีคล้ายคลึงกัน ส่วนมากนับถือศาสนาเดียวกัน และมีประมุขเป็นผู้บังคับบัญชากิจการให้เป็นไปอย่างเดียวกัน ซึ่งแต่ละคนรวมเรียกว่า “ชาติ”
    ศีลธรรมอันดีงาม ที่พระบรมศาสดาทรงสั่งสอนให้ละความชั่วให้ทำความดี และให้ชำระจิตใจของตนให้บริสุทธิ์สะอาด ที่มวลชนในชาติถือเป็นประมวลจรรยาของประเทศ เป็นมิ่งขวัญของชาติ เป็นบ่อเกิดแห่งความเจริญและความสงบสุขแห่งชาติ เป็นดวงประทีปส่องสว่างให้ชาติดำเนินไปตามวิถีทางที่ตรง ขึ้นถึงความเป็นอารยชาติ และเป็นหลักแห่งความประพฤติดีงามของปวงชนในชาติ นี่เรียกว่า “ศาสนา”
    นี่ดูเถิด วินัยสำหรับควบคุมคนในชาติและศาสนานั้น มีอยู่ ๒ ประเภท คือวินัยของชาติ กับวินัยของศาสนา ชีวิตจิตใจของคนในชาติแต่ละเพศ ต้องอยู่ในความควบคุมของวินัยทั้งสองประเภท ชาวบ้านแม้รักษาวินัยของชาติแล้ว ก็ต้องรักษาวินัยของศาสนาอีก แม้นบรรพชิตที่ครองชีวิตอยู่ด้วยวินัยของศาสนา ก็ต้องรักษาวินัยของชาติด้วย เพราะคนที่ถือวินัยของชาติแต่ประเภทเดียว ทิ้งวินัยของศาสนาเสียนั้น แม้จะเป็นผู้เจริญทางชีวิตแต่ก็ต้องเสื่อมทางจิตใจ ถ้ายิ่งทิ้งวินัยทั้งสองประเภทด้วยแล้ว ก็เท่ากับคนตาบอดเดินในทางเปลี่ยว ซึ่งมีภัยอันตรายรอบด้าน พึงเห็นในพระพุทธดำรัสว่าk “คนจำนวนมากหากไม่มีความรู้สำหรับตัว และไม่ได้ศึกษาวินัยมาดีแล้ว ก็เท่ากับควายตาบอดที่เที่ยวตุหรัดตุเหร่อยู่ในดงดิบ”

    <center> วินัยของชาติ </center> ระเบียบควบคุมคนในสังคมต่างๆ โดยเป็นคำสั่งของสังคมให้ทำหรือไม่ให้ทำ เพื่อแก่ดวงตาว่าควรจะดูหรือมิควรดู เพื่อแก่หูว่าควรจะฟังหรือมิควรฟัง เพื่อแก่ปากว่าควรจะพูดหรือมิควรพูด เพื่อแก่มือว่าควรจะทำหรือมิควรทำ เพื่อแก่เท้าว่าควรจะไปหรือมิควรไป เพื่อแก่ใจว่าควรจะต้องการหรือมิควรต้องการ ซึ่งมีชื่อเรียกเป็นหลายอย่าง เช่นชื่อว่าพระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกา กฎหมาย กฎข้อบังคับ ระเบียบ แบบแผน ประเพณี คำสั่ง ประกาศ กติกา และชื่ออื่นอีก รวมเรียกว่าวินัยของชาติทั้งสิ้น
    ชนชาติที่เจริญแล้วย่อมมีวินัยเป็นเครื่องควบคุมชีวิตจิตใจของตน ให้อยู่ในระเบียบอันดีงาม และให้สามัคคีพร้อมเพรียงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เหมือนเป็นบุคคลคนเดียวกัน จะทำอะไรพูดอะไรเหมือนนัดกันไว้ ที่จริงวินัยก็คือตัวระเบียบคอยควบคุมคน เมื่อจะทำอะไรให้ทำตามระเบียบ ไม่ละเมิดระเบียบ ทำงานตามหน้าที่ของตน ไม่ละเว้น ไม่เพิกเฉย ไม่ดูดาย ไม่ก้าวก่ายงานการของกันและกัน
    แม้การภายในบ้าน เช่น การกิน การนอน การแต่งกาย การต้อนรับแขก หรือเมื่อออกนอกบ้านไปเดนถนน เดินบนทางเท้า เข้าดูมหรสพ ขึ้นรถลงรถขับรถ และเข้าไปในสถานที่ต่างๆก็ล้วนแต่มีระเบียบทั้งนั้น พึงทราบว่า ความมีระเบียบนี้มีอยู่ในที่ใดๆ เราจะเห็นความสวยงามมีอยู่ในที่นั้น หรือความสวยงามมีอยู่ในที่ใดก็แสดงว่าความมีระเบียบอยู่ในที่นั้นด้วย และความมีระเบียบนี้ ไม่เพียงแต่ประดับคนให้สวยงามเท่านั้น ยังยกคนผู้อยู่ในระเบียบขึ้นเป็นอารยชนอีก แม้ความไม่มีระเบียบเล่า นอกจากให้เกิดความยุ่งแล้ว ก็ยังยันคนลงเป็นอนารยชนด้วย
    เอาเป็นว่า ความมีระเบียบเป็นมูลเหตุให้สวยงามให้เรียบร้อย ส่วนความไม่มีระเบียบเป็นมูลเหตุให้ยุ่งให้สับสนอลหม่าน ดูเถิด แก้วมณีเอาประดับเสียเบื้องเท้า เอากระจกประดับไว้บนเศียร ปิ่นปักผมเอาลงมาแต่งเท้า เอากำไลเท้าขึ้นไปประดับบนเศียร หรือแก้วมณีมีค่าควรสถิตในเรือนทอง แต่เอาไปฝังไว้เสียในดีบุก เชิดกระจกขึ้นประดับมงกุฏ ลดแก้วมณีลงประดับเท้า นี่เรียกว่าเสียระเบียบ หาความงามความเรียบร้อยบ่มิได้
    ดังนั้น นักปราชญ์ทั่วโลก จึงเห็นสอดคล้องต้องกันว่า วินัยเป็นมูลเหตุสำคัญแห่งความเจริญของชาติ คนในชาติเกิดมาแล้วจำเป็นต้องมีวินัยควบคุม และแต่ละชาติต้องบัญญัติวินัยไว้ทุกแง่ทุกมุม จะค้าขายจะแต่งงานจะหย่าร้าง จะไปทางน้ำทางบกทางอากาศ มีวินัยควบคุมไว้ทั้งนั้น ชั้นแต่จะชกจะต่อยกันก็มีวินัย หรือจะรบกันก็รบด้วยยุทธวินัย และทุกชาติต้องมีการศึกษาอบรมกันให้รู้จักวินัยและคุณประโยชน์ของวินัย เข้มงวดกวดขันให้เคารพเอื้อเฟื้อวินัย ตั้งใจปฏิบัติตามทั้งในที่ลับและในที่แจ้ง จนเป็นผู้มีวินัยสม่ำเสมอกันและทั่วถึงกัน จึงจะอยู่สงบสุขสมเป็นผู้เป็นคน หรือสมเป็นบ้านเมืองของคนผู้มีวินัย

    <center> วินัยของศาสนา </center> วินัยของศาสนา หมายถึงกฎบทพุทธอาณา เป็นข้อห้ามบ้าง เป็นข้ออนุญาตบ้าง มีอยู่ ๒ ประเภทตามเพศ คือ อาคาริยวินัย วินัยของคฤหัสถ์ผู้ครองเหย้าเรือน กับ อนาคาริยวินัย วินัยของบรรพชิตที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติขึ้น เพื่อนำความประพฤติของศาสนิกให้สม่ำเสมอกัน และเพื่อประโยชน์ ๑๐ ประการ สำหรับให้ศาสนิกมีความสงบระงับ ให้ศาสนิกอยู่ผาสุก ขู่ขนาบคนไม่มีศีล ประคองผู้มีศีลให้อยู่สบาย ป้องกันโทษในปัจจุบัน กำจัดโทษในภพหน้า เร้าใจคนไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส ส่งเสริมคนเลื่อมใสแล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้น ให้พระศาสนาตั้งมั่น และให้ศาสนิกเอื้อเฟื้อถือตามวินัย

    <center> อาคาริยวินัย </center>คฤหัสถ์ คือชาวบ้านผู้ครองเหย้าเรือน จำเป็นต้องมีที่พึ่งป้องกันเวรภัยโทษทุกข์ในปัจจุบันและอนาคต จึงต้องมีอาคาริยวินัยควบคุมชีวิตจิตใจ ให้ดำเนินไปในทางดีทางชอบ จำแนกออกเป็น ๔ คือ ๑. ไตรสรณคมน์ อุบายนำผู้มีศรัทธาเลื่อมใสพร้อมด้วยความเห็นชอบเป็นมูลฐาน ให้หยั่งลงแน่นอนในพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ที่รวมเรียกว่าพระรัตนตรัย และน้อมกิริยาวาจาใจเข้ายึดพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งของใจ ชื่อว่าไตรสรณคมน์ ไตรสรณคมน์นี้เป็นวินัยเบื้องต้นของคฤหัสถ์ชายหญิง สำหรับควบคุมจิตใจของตนให้อยู่ในระเบียบอันดีงาม ยึดเอาคุณพระรัตนตรัยมาถือปฏิบัติดำเนินตาม ดังนี้
    ๑.๑ พระพุทธคุณ ๙ บท ย่นลงเป็น ๓ คือ พระปัญญาคุณ พระปริสุทธิคุณ และพระกรุณาคุณ หรือย่นพระคุณ ๓ บท ลงเป็น ๒ คือ อัตตหิตคุณ และ ปรหิตคุณ ผู้ยึดเอาคุณพระพุทธมาถือปฏิบัติโดยวิธีฝึกฝนตนให้มีปัญญา อบรมกิริยาวาจาใจของตนให้บริสุทธิ์สะอาด และอบรมใจให้มีเมตตากรุณาในบุคคลและสัตว์อื่น หรือบำเพ็ญคุณความดีที่เกื้อกูลแก่ตน และบำเพ็ญคุณความดีที่เกื้อกูลแก่คนอื่น ให้เกิดมีขึ้นในตน
    ๑.๒ พระธรรมคุณ ๖ บท ย่นลงเป็น ๒ คือ สุธมฺมตา ความเป็นธรรมดีจริง ให้ผู้ปฏิบัติตามเป็นคนดีจริง และนำผู้ปฏิบัติให้ลุถึงความสุขเห็นประจักษ์ในปัจจุบัน รักษาผู้ปฏิบัติให้ไม่ตกไปในที่ชั่ว ในคงอยู่ในที่ดี และให้ดียิ่งๆขึ้นไป ผู้ยึดเอาคุณพระธรรมมาถือปฏิบัติ โดยวิธีบำเพ็ญคุณธรรม คือรักษาศีล เจริญสมาธิ อบรมปัญญา ให้ตนเป็นคนดีขึ้น ดีด้วยศีล ดีด้วยสมาธิ และดีด้วยปัญญา
    ๑.๓ พระสังฆคุณ ๙ บท ย่อลงเป็น ๒ คือ อัตตหิตคุณ คุณเกื้อกูลแก่ตนเอง คือปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติเป็นธรรม ปฏิบัติสมควร และปรหิตคุณ คุณเกื้อกูลแก่คนอื่น คือควรแก่ของคำนับ ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ของทำบุญ ควรประณมมือไหว้เป็นนาบุญของชาวโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่าผู้ยึดเอาคุณพระสงฆ์มาถือปฏิบัติ โดยวิธีบำเพ็ญคุณความดีที่เกื้อกูลแก่ตนเอง และบำเพ็ญคุณความดีที่เกื้อกูลแก่คนอื่นให้เกิดมีขึ้นในตน
    เมื่อเราปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ พุทธมามิกา หรือเป็นอุบาสกอุบาสิกา ถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่เคารพนับถือของตนจริงแล้ว และน้อมเอาคุณพระรัตนตรัยมาอบรมตน ให้เป็นคนดีมีชีวิตเจริญก้าวหน้าเช่นนี้ ชื่อว่ายึดเอาคุณพระรัตนตรัยมาถือปฏิบัติดำเนินตาม นับเป็นมงคลแก่ตน
    ๒. เบญจศีล คือศีล ๕ คนที่เราอยู่ด้วยกัน ผู้มีอัธยาศัยหยาบมักเบียดเบียนเขาทางกายบ้าง เบียดเบียนทรัพย์สมบัติของเขาบ้าง เบียดเบียนเขาทางประเวณีบ้าง เบียดเบียนเขาทางวาจาบ้าง เบียดเบียนตนเองด้วยการเสพสิ่งเสพติดให้โทษบ้าง ดังนั้น พระพุทธองค์จึงทรงบัญญัติเบญจศีลไว้เป็นวินัยของคฤหัสถ์ชายหญิงว่า
    ๒.๑ ให้ตั้งเจตนางดเว้นการฆ่ากัน
    ๒.๒ ให้ตั้งเจตนางดเว้นการลักของกัน
    ๒.๓ ให้ตั้งเจตนางดเว้นการทำผิดประเวณี
    ๒.๔ ให้ตั้งเจตนางดเว้นการโกหกหลอกลวงกัน
    ๒.๕ ให้ตั้งเจตนางดเว้นการเสพสิ่งเสพติดให้โทษ
    พึงทราบว่า ผู้ฆ่าเขา ลักของเขา ทำผิดประเวณีต่อเขา โกหกหลอกลวงเขา ชื่อว่าทำแก่เขาในสิ่งที่ตนไม่อยากให้เขาทำแก่ตน นับเป็นคนก่อเวร ผู้ถูกเบียดเบียนก็ต้องจองเวรตอบ ส่วนผู้เสพสิ่งเสพติดให้โทษ ชื่อว่าทำลายตัวเอง จัดเป็นอัปมงคล ผู้งดเว้นกรรมเหล่านี้เสีย ชื่อว่าทำแก่คนอื่นในสิ่งที่ตนอยากให้เขาทำแก่ตน ย่อมห่างไกลจากเวรภัย นับเป็นมงคล
    เบญจศีลนี้เป็นวินัยประเภทข้อห้ามเบื้องต้นของชาวบ้าน และเป็นพื้นฐานของวินัยทุกประเภท ชาวบ้านแต่ละคนจะต้องระมัดระวังสังวรงดเว้นตลอดกาล เพราะผู้ที่ไม่อาจรักษาศีล ๕ ข้อนี้ได้แล้ว จะรักษาวินัยชั้นสูงขึ้นไปได้ยาก
    ๓. อุโบสถศีล หรือศีล ๘ กัลยาณวัตรที่คฤหัสถ์ชายหญิงพึงถือปฏิบัติ เข้าอยู่ในที่สงัดห้ามจิตใจให้ห่างไกลจากกรรมอันเป็นข้าศึกแก่กุศล และอบรมบ่มนิสัยให้ละเอียดกว่าพื้นเดิม เรียกว่าอุโบสถศีล หรือเรียกว่ากาลยุตตพรหมจรรย์ ประพฤติอย่างพรหม ประกอบด้วยกาลกำหนด คือ วันพระเดือนละ ๔ ครั้ง ซึ่งมีองค์ ๘ ประการ คือ
    ๓.๑ ให้ตั้งเจตนางดเว้นการฆ่ากัน
    ๓.๒ ให้ตั้งเจตนางดเว้นการลักของกัน
    ๓.๓ ให้ตั้งเจตนางดเว้นการเสพเมถุน อันเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์
    ๓.๔ ให้ตั้งเจตนางดเว้นการโกหกหลอกลวงกัน
    ๓.๕ ให้ตั้งเจตนางดเว้นการเสพสิ่งเสพติดให้โทษ
    ๓.๖ ให้ตั้งเจตนางดเว้นการบริโภคอาหารในยามวิกาล เริ่มแต่เวลาเที่ยงแล้วไปจนถึงอรุณ ขึ้นมาใหม่
    ๓.๗ ให้ตั้งเจตนางดเว้นการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการเล่น บรรดาที่เป็น ข้าศึกแก่กุศล และทัดทรงประทับตบแต่งร่างกายด้วยดอกไม้และของหอมเครื่องย้อม เครื่องแต่งต่างๆ
    ๓.๘ ให้ตั้งเจตนางดเว้นการนอนที่นอนสูง คือเตียงตั่ง และที่นอนใหญ่ภายในยัดนุ่นหรือ สำลี และเครื่องลาดมีลวดลายอันวิจิตรต่างๆ
    คฤหัสถ์ชายหญิง คือชาวบ้านผู้ครองเหย้าเรือน แม้มีเบญจศีลเป็นวินัยคุ้มครองให้ปลอดเวรภัยแล้ว แต่ยังมีกิจกังวลในการครองชีพ ต้องแสวงหาเลี้ยงชีวิตของตนและครอบครัว ซึ่งทำให้จิตใจหมกมุ่นวุ่นวายกับอารมณ์ ชวนให้รักโลภโกรธหลงมัวเมาอยู่ ไม่มีเวลาสงบใจได้ ดังนั้นพระพุทธองค์ทรงหวังจะปลดเปลื้องชาวบ้านจากอารมณ์นั้นบ้าง จึงทรงบัญญัติอุโบสถศีลให้เป็นวินัยควบคุมจิตใจให้ห่างไกลจากกามกิเลสบ้าง เป็นครั้งคราว เพื่อเป็นอุบายอบรมจิตใจให้สงบผ่องใสละเอียดขึ้นไป
    ๔. กุศลกรรมบถ กรรมดีที่เป็นบุญเป็นกุศล และเป็นทางให้เกิดความสุขทั้งในภพนี้และภพหน้า ชื่อว่ากุศลกรรมบถ มีอยู่ ๑๐ ประการ โดยจำแนกเป็นกายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ และมโนกรรม ๓
    กายกรรม ๓ คือ งดเว้นการเบียดเบียนร่างกาย และชีวิตของเขา ๑, งดเว้นการลักฉ้อโกง ยักยอกแย่งชิงจี้ปล้นเอาทรัพย์สมบัติของเขามาเป็นของตน ๑, งดเว้นความ ประพฤติผิดในกาม คือการทำชู้ในบุตรภรรยาสามีของเขา ๑
    วจีกรรม ๔ คือ งดเว้นการโกหกหลอกลวงเขา ๑, งดเว้นการพูดส่อเสียด ๑, งดเว้นการ พูดหยาบคายและหยาบโลน ๑, งดเว้นการพูดสำรากเพ้อเจ้อเหลวไหล ๑
    มโนกรรม ๓ คือ ไม่คิดละโมบเพ่งเล็งจ้องเอาทรัพย์สมบัติของคนอื่น มาเป็นของตน ด้วย กโลบายเล่ห์กะเท่ ๑, ไม่คิดพยาบาทปองร้ายใครๆ ๑, มีความเห็นชอบตาม คลองธรรม เช่นเห็นว่าผู้ใดประพฤติกุศลกรรมบถ ๑๐ ให้บริบูรณ์ ผู้นั้นเป็น คนดี ผู้ใดประพฤติอกุศลกรรมบถ ๑๐ ผู้นั้นเป็นคนชั่ว ๑
    วินัยของคฤหัสถ์นอกจากเบญจศีล อุโบสถศีล และกุศลกรรมบถนี้แล้ว ก็ยังมีบรรดาข้อห้ามอีกมากที่เกี่ยวกับความประพฤติของคฤหัสถ์ เช่นห้ามค้าขายอาวุธ ค้าขายมนุษย์ ค้าขายสัตว์เป็นเพื่อให้เขานำไปฆ่า และค้าขายยาพิษให้เขานำไปทำลายกันเป็นต้น ทั้งนี้ก็อนุโลมเข้าในวินัยของคฤหัสถ์ด้วย
    วินัยของคฤหัสถ์ทุกประการนั้น เมื่อชายหญิงชาวบ้านถือเป็นหน้าที่ของตน ตั้งใจศึกษาให้รู้ดีให้เห็นว่ามีคุณควบคุมตน คุ้มครองหมู่คณะให้เจริญก้าวหน้า และปฏิบัติทั่วถึงกันแล้ว ชื่อว่าเป็นมงคลสูงสุด เพราะเป็นเหตุนำความสงบสุขมาทั้งแก่ตนและแก่หมู่คณะ

    <center> อนาคาริยวินัย </center> วินัยของบรรพชิตคือนักบวช เรียกว่าอนาคาริยวินัย แต่นักบวชในพระศาสนานี้มีอยู่ ๒ ประเภท คือ สามเณร กับพระภิกษุ วินัยของบรรพชิตทั้งสองประเภทนี้มีต่างกัน พึงทราบดังต่อไปนี้

    <center> วินัยของสามเณร </center> ศีล ๑๐ ซึ่งเรียกว่าสิกขาบท ๑๐ ประการ จัดเป็นวินัยของสามเณร คือ
    เว้นจากการฆ่าสัตว์
    เว้นจากการลักทรัพย์
    เว้นจากการเสพเมถุน
    เว้นจากการพูดเท็จ
    เว้นจากการดื่มน้ำเมา
    เว้นจากการฉันอาหารในยามวิกาล
    เว้นจากการฟ้อนรำขับร้อง ประโคมดนตรีและดูการเล่น ซึ่งเป็นข้าศึกแก่กุศล
    เว้นจากเหตุเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด คือทัดทรงประดับตกแต่งร่างกาย ด้วยดอกไม้และของหอมเครื่องทาต่างๆ
    เว้นจากการนอนบนที่นอนสูงและที่นอนใหญ่
    เว้นจากการรับทองและเงิน
    ในสิกขาบท ๑๐ ประการนี้ ท่านแบ่งออกเป็น ๒ ตามกำลังแห่งโทษ คือสิกขาบทข้างต้น ๕ เป็นนาสนังคะ กับเพิ่มข้อห้ามที่มีโทษถึงนาสนังคะอีก ๕ รวมเป็นนาสนังคะ ๑๐ และสิกขาบทข้างปลาย ๕ เป็น ทัณฑกรรม กับเพิ่มข้อห้ามที่มีโทษลงทัณฑกรรมอีก ๕ รวมเป็นทัณฑกรรม ๑๐ พึงสังเกตต่อไป

    นาสนังคะ ๑๐
    ชอบฆ่าสัตว์
    ชอบลักขโมย
    เสพเมถุน
    ชอบพูดปด
    ชอบดื่มน้ำเมา
    พูดติเตียนพระพุทธเจ้า
    พูดติเตียนพระธรรม
    พูดติเตียนพระสงฆ์
    เป็นมิจฉาทิฏฐิ
    ข่มขืนนางภิกษุณี

    ทัณฑกรรม ๑๐
    ฉันอาหารในยามวิกาล
    ฟ้อนรำขับร้อง ประโคมดนตรีและดูการเล่น
    ทัดทรงประดับตกแต่งร่างกายด้วยดอกไม้ของหอมเครื่องย้อมและทา
    นอนบนที่นอนสูงและที่นอนใหญ่
    รับทองและเงิน
    พยายามให้ภิกษุเสื่อมลาภ
    พยายามเพื่อทำความหายนะแก่ภิกษุ
    พยายามเพื่อให้ภิกษุอยู่ไม่ได้
    ด่าทอตัดพ้อภิกษุ
    ยุยงให้ภิกษุแตกร้าวกัน
    โทษที่สามเณรละเมิดข้อใดข้อหนึ่ง ถึงแก่นาสนะ คือ ฉิบหายจากเพศ ซึ่งต้องให้สึกเสียนั้นเรียกว่า นาสนังคะ ส่วนโทษที่สามเณรละเมิดข้อใดข้อหนึ่งแล้ว ไม่ถึงแก่นาสนะ เป็นเพียงแต่ท่านให้ปรับโทษ มีให้ปัดกวาด หรือเทกระโถน เป็นต้น เรียกว่าทัณฑกรรม รวมวินัยบัญญัติข้อห้ามสำหรับสามเณรมี ๒๐ ประการ โดยแบ่งเป็น นาสนังคะ ๑๐ ทัณฑกรรม ๑๐ ดังบรรยายมาแล้ว

    <center> วินัยของพระภิกษุ </center> ศีลของพระภิกษุในพระศาสนา ซึ่งเป็นมูลเหตุสำหรับชำระกายวาจาให้บริสุทธิ์ผ่องใส ท่านเรียกว่าปาริสุทธิศีล ๔ จัดเป็นวินัยของพระภิกษุ พึกสำเหนียกดังต่อไปนี้
    ๑. ปาติโมกขสังวรศีล ศีลเป็นเหตุสำรวมในพระปาติโมกข์ คอยระมัดระวังสะกัดกั้นโทษ ที่จะพึงละเมิดอาบัติ ๗ กอง ทางกาย ทางวาจา คือ ปาราชิก มีโทษอย่างหนัก สังฆาทิเสส มีโทษอย่างกลาง ถุลลัจจัย ปาจิตติยะ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฎ และทุพภาสิต มีโทษอย่างเบา
    เมื่อภิกษุตั้งใจสำรวมในวินัยบัญญัติ เว้นจากข้อที่ทรงห้าม ปฏิบัติตามข้อที่ทรงอนุญาต ให้ไม่ต้องอาบัติกองใดกองหนึ่ง เมื่อต้องเข้าแล้ว ถ้าอย่างหนักผู้ต้องขาดจากความเป็นภิกษุ ก็พึงสละเพศเสีย ถ้าอย่างกลางผู้ต้องแล้วพึงอยู่กรรม ถ้าอย่างเบาผู้ต้องแล้วก็พึงประจานตนต่อหน้าภิกษุด้วยกัน เมื่อทำดังนี้จึงจะพ้นโทษ
    ๒. อินทรียสังวรศีล ศีลเป็นเหตุให้สำรวมอินทรีย์ ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ใช้ตาหูจมูกลิ้นกายใจให้เกิดความฉลาดรู้เท่าทันอารมณ์ เอาชนะตาในขณะเห็นรูป เอาชนะหูในขณะฟังเสียง เอาชนะจมูกในขณะดมกลิ่น เอาชนะลิ้นในขณะลิ้มรส เอาชนะกายในขณะถูกต้องสัมผัส เอาชนะใจในขณะรับอารมณ์ ให้ไม่เกิดความยินดียินร้ายอันเป็นเหตุทำใจให้เศร้าหมองเสีย เมื่อภิกษุทำได้อย่างนี้ ชื่อว่ามีอินทรียสังวรศีล
    ๓. อาชีวปาริสุทธิศีล ศีลเป็นเครื่องบริสุทธิ์แห่งการเลี้ยงชีพ งดเว้นการเลี้ยงชีพที่ผิดเพศของนักบวชเสีย เช่นทำมาหากินอย่างชาวบ้าน เป็นวิธีการลวงโลก เสี่ยงโชคด้วยการพนัน เช่นเล่นสลากกินรวบ เล่นม้าแข่ง เป็นหมอยาเพื่อการอาชีพ มีเงินให้กู้เอาดอกเบี้ย เป็นหมอเสน่ห์ยาแฝด ชักสื่อชายหญิงให้เป็นสามีภรรยากัน เมื่อภิกษุงดเว้นการอาชีพที่ผิดเพศเสีย สำเร็จการเลี้ยงชีพตามสมณวิสัย ไม่สะสมทรัพย์สมบัติ ถือว่าพระจนทรัพย์สมบัติและมั่งมีคุณสมบัติ เป็นผู้งามในพระศาสนาเช่นนี้ ชื่อว่ามีอาชีวปาริสุทธิศีล
    ๔. ปัจจัยสันนิสสิตศีล ศีลอาศัยการพิจารณาปัจจัยสี่ คือ บิณฑบาต จีวร เสนาสนะ คิลานเภสัช โดยพิจารณาทั้งในขณะรับ ขณะบริโภค และภายหลังบริโภคแล้ว ให้เห็นประโยชน์ของการบริโภคเท่าที่จำเป็น ไม่บริโภคด้วยตัณหาอันเป็นเหตุให้ติดอยู่ในปัจจัยสี่ เมื่อภิกษุมาพิจารณาปัจจัยสี่ ให้เห็นเหตุผลข้อเท็จจริงในการบริโภคเช่นนี้แล้ว ชื่อว่ามีปัจจัยสันนิสสิตศีล

    <center> ความสำคัญของวินัย </center> คนเราจะได้ดีเพราะกฎข้อบังคับ และคนดีคือคนอยู่ในกฎข้อบังคับ คนอยู่นอกกฎข้อบังคับนั้น คือคนป่ากับคนตายที่ชีวิตออกจากร่างแล้ว ไม่มีความรู้สึกอะไร ไม่มีชีวิตจะอยู่ในกฎข้อบังคับได้ ดังนั้นวินัยของคฤหัสถ์และของบรรพชิต จึงเป็นกฎข้อบังคับคุ้มครองหมู่คณะให้ดีงาม กล่าวคือ มีอาญาเหนือคอยกำกับจะลงโทษแก่ผู้ฝ่าฝืนอยู่ และมีระเบียบนำให้ผู้กระทำผิดได้กลับตัวทำให้ถูก ซึ่งจะเป็นความผิดโดยเจตนาหรือไม่เจตนา แต่เป็นการมิชอบด้วยวินัย
    คฤหัสถ์และบรรพชิตผู้ศึกษาวินัยมาดีแล้ว ได้อาศัยวินัยเป็นปัจจัยหนุนให้เจริญด้วยคุณธรรมที่ยิ่งขึ้นไป คือ ให้สังวรระมัดระวังตน มีสังวรแล้วให้ไม่เดือดร้อน มีความไม่เดือดร้อนแล้วให้ปราโมทย์คือปลื้มใจ มีปราโมทย์แล้วให้เกิดปีติคืออิ่มใจ มีปีติแล้วให้เกิดปัสสัทธิสงบกายสงบใจ มีปัสสัทธิแล้วให้เกิดสุข มีสุขแล้วให้เกิดสมาธิ มีสมาธิแล้วให้เกิดยถาภูตญาณทัสสนะ คือรู้เห็นสภาวธรรมตามความเป็นจริง มียถาภูตญาณทัสสนะแล้วให้เกิดนิพพิทาคือเบื่อหน่าย มีนิพพิทาแล้วให้ได้วิราคะ คือความคลายกำหนัดย้อมใจ มีวิราคะแล้วให้ถึงวิมุตติ คือความหลุดพ้น มีวิมุตติแล้วให้เกิดวิมุตติญาณทัสสนะ คือความรู้เห็นว่าตนหลุดพ้นแล้ว มีวิมุตติญาณทัสสนะแล้วให้บรรลุนิพพาน คือดับกิเลสและกองทุกข์ได้ไม่มีส่วนเหลือ
    เมื่อคฤหัสถ์และบรรพชิตปฏิบัติวินัยถูกต้องแล้ว เชื่อว่าได้ศึกษาวินัยมาดี เป็นผู้มีระเบียบอันดีงามประพฤติสงบเสงี่ยมเรียบร้อย ชวนให้หมู่คณะศรัทธาเลื่อมใส ร่วมกันจรรโลงพระศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง เป็นคุณประโยชน์แก่ชาวโลก มีชีวิตเจริญด้วยคุณธรรมก้าวหน้าไปโดยลำดับ นับว่าห่างไกลจากเวรภัย ปราศจากโทษทุกข์ ทั้งในภพนี้และภพหน้า ดังนั้น วินัยที่บุคคลศึกษาดีแล้ว พระพุทธองค์จึงตรัสว่าเป็นมงคลยอดชีวิต นี่มงคลข้อ ๙ ซึ่งมีเนื้อความดังบรรยายมา

    <table border="0" cellpadding="0" cellspacing="0" width="500"> <tbody><tr> <td align="center">*********</td> </tr> </tbody></table>
     

แชร์หน้านี้

Loading...