เรื่องเด่น บาลี กับ พระไตรปิฎก ภาษาที่มีอายุกว่าสองพันปี

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย NoOTa, 10 มีนาคม 2020.

  1. NoOTa

    NoOTa Super Moderator ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    20,125
    กระทู้เรื่องเด่น:
    349
    ค่าพลัง:
    +64,492
    บาลี กับ พระไตรปิฎก ภาษาที่มีอายุกว่าสองพันปี

    สยามรัฐออนไลน์ 11 มกราคม 2563 00:10 น.


    5bb22e5121465cc993649ba2bf808a35866164732359c635a1fa7ef519c87c6f.jpg


    คนข้างวัด / อุทัย บุญเย็น

    เคยนึกถึง “ภาษาบาลี” ในพระไตรปิฎก ซึ่งมีอายุประมาณ 2563 ปี (นับตั้งแต่พระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ 3 เดือน หรือนับแต่ปฐมสังคายนาครั้งที่ 1) ตั้งข้อสงสัยว่า เหตุใดภาษาในพระไตรปิฎก (ฉบับบาลี) ของเถรวาท จึงมีแบบแผนเป็น “ไวยากรณ์” ที่ได้มาตรฐานถึงเพียงนั้น?

    “ภาษาบาลี” ในพระไตรปิฎกที่แปลกันอยู่ทุกวันนี้ไม่มีถ้อยคำใดและประโยคใดๆ เลย ที่ไม่มีธาตุ-ปัจจัย-วิภัตติ ฯลฯ และประธาน-กริยา ตามหลักภาษามาตรฐานสากลคนเรียนแม้จะเก่งในเรื่องนิรุติศาสตร์เพียงใด ก็ต้องแปลบาลีได้

    แม้แต่ผู้รู้ทางตะวันตก (ในทีมงานแปลบาลีของกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ของไทย) ก็แปลบาลีในพระไตรปิฎกได้อรรถรสเป็นอย่างดี

    แสดงว่า “ภาษาบาลี” มีความเป็นสากลตั้งแต่ปี พ.ศ. 1 แล้ว

    เอะใจเรื่องนี้ เพราะพบคำจารึกที่เสาศิลาของพระเจ้าอโศกมหาราช ที่เรียกว่า “จารึกอโศก” ซึ่งจารึกเมื่อราว พ.ศ.200 (สองร้อย) เศษ “ภาษาจารึก” ของพระเจ้าอโศกมหาราชนั้น เป็นภาษาพูดหรือภาษาถิ่น ไม่มีไวยากรณ์อย่างในภาษาบาลี เช่นจารึกว่า

    “อยํ ธํมลิปิ เทวานํปิเยนา ปิยทสินา เลขปิ” แปลว่า “อักขระประกาศ (จารึก) ข้อธรรมนี้ พระเจ้าปิยทัศศีผู้เป็นที่รักของเทวดาทั้งหลาย โปรดให้จารึกไว้”

    ผู้แปลบอกว่า อักขระหรือตัวหนังสือนี้ เป็นภาษาขโรษฐี (ภาษาถิ่นในชมพูทวีปมีประมาณ 400 ภาษา) ดูๆไปแล้ว ก็มีเค้าเป็นภาษาบาลีอยู่ เช่นคำว่า “อยํ” และคำว่า “ลิปิ” แต่ยังไม่มีรูปไวยากรณ์ (มีลักษณะเป็นภาษาพูดของคนในท้องถิ่น)

    ผมเคยไปพบภาษาอย่างนี้ที่เมืองกบิลพัสดุ์ใหม่ ซึ่งมีสิ่งก่อสร้างก่อด้วยอิฐและมีผอบบรรจุพระธาตุหรืออัฐิเหลืออยู่ ก็มีลักษณะเป็นภาษาพูดเหมือนกัน (ไม่สมบูรณ์ด้วยไวยากรณ์อย่างภาษาบาลีในพระไตรปิฎก)

    “ภาษาบาลี” นั้น ไม่มีในชมพูทวีป ในสมัยพุทธกาลมีแต่ “ภาษามคธ” หรือภาษามาคธี คำว่า Pali Text ในคำว่า Pali Text Society (PTS) หรือ “สมาคมบาลีปกรณ์” ของกรุงลอนดอนนั้น หมายถึง “คัมภีร์พระไตรปิฎก” คำว่า “ปกรณ์” แปลได้ว่า “หนังสือ” หรือ “ตำรา” หรือ “คัมภีร์” คำว่า “บาลี” หมายถึง พระไตรปิฎก (ของนิกายเถรวาท) ในหลักสูตรบาลีของคณะสงฆ์ไทยใช้คำว่า “มคธ” ทั้งสิ้น (มิใช้คำว่า “บาลีไวยากรณ์” เฉพาะหนังสือแบบเรียนไวยากรณ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสเท่านั้น)

    หนังสือหรือคัมภีร์ที่แต่งสมัยหลัง (ไม่ว่าจะเป็นคัมภีร์อรรถกถา หรือ คัมภีร์รองลงมาใดๆ ก็ไม่เรียกว่า “ภาษาบาลี” คำว่าบาลี หมายถึงพระไตรปิฎกเท่านั้น

    คำว่า “บาลี” หรือ “ปาฬิ” หรือ “ปาลี” มีในพระไตรปิฎกเหมือนกัน แต่แปลว่า เขต หรือ ทำนบกั้น (น้ำ) จึงเข้าใจว่าบาลีที่ใช้กับพระไตรปิฎก หมายถึงเขตหรือทำนบกั้นคำสอนของพระพุทธเจ้าเอาไว้ นานเข้า ก็เข้าใจว่าบาลีเป็นภาษาหนึ่งอย่างที่พูดกันว่า “ภาษาบาลี” นั่นแหละ

    คำว่า “พระบาลี” นิยมใช้ในภาษาไทย เป็นการยกย่องเชิดชู เช่นเดียวกับคำว่า “พระราชา” หรือ “พระมหากษัตริย์” เป็นต้น แม้แต่คำว่า “พระภิกษุ” ก็ใช้ในภาษาไทย เพื่อเป็นการยกย่องเชิดชู “ภิกษุ” นั่นเอง

    หนักเข้า ได้ยินพระท่านใช้คำว่า “พระไตรลักษณ์” เข้าใจว่า เคยใช้คำว่า “พระไตรรัตน์” จนติดปากนั่นเองอันที่จริงไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง (ความไม่เที่ยง) ทุกขัง (ทุกข์) และอนัตตา (ความไม่มีตัวตน) เป็นสัจธรรมอย่างหนึ่งไม่ใช่ “พระ” แต่อย่างใด

    ผมคิดว่า ภาษาที่พระพุทธเจ้าใช้ประจำ คือ ภาษาพูดของคนทั่วไปสมัยนั้น ที่เรียกว่า “ภาษามคธ” หรือ “มาคธี” นั่นเอง ซึ่งภาษาพูดหรือภาษาถิ่นโดยทั่วไปนั้น ไม่มีไวยากรณ์ตายตัว แต่ก็เข้าใจกันได้

    พุทธวจนะ หรือคำสั่งสอนทั้งหลายของพระพุทธเจ้าที่ท่องจำเอาไว้ในสมัยพุทธกาล (ขณะที่พระพุทธเจ้ายังมีชีวิตอยู่)ก็คงเป็นภาษามคธที่ไม่มีไวยากรณ์ทั้งสิ้น

    ปัญหามีอยู่ว่า ภาษามคธที่มีไวยากรณ์อย่าง “ภาษาบาลี” เกิดขึ้นเมื่อใด?

    มีตำราไวยากรณ์ภาษามคธสมัยโบราณคัมภีร์หนึ่ง ชื่อ “คัมภีร์มูลกัจจายน์” แปลว่า หลักไวยากรณ์ภาษามคธของพระมหากัจจายนะ เป็นตำราไวยากรณ์ที่คนสมัยก่อนเรียนกันก่อนที่จะมีแบบเรียนบาลีไวยากรณ์ ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรสในสมัยปัจจุบัน

    สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ และพระเถระรุ่นก่อนๆ ก็ล้วนแต่ได้เรียนไวยากรณ์ภาษามคธจาก “มูลกัจจายน์” ทั้งนั้น คัมภีร์ไวยากรณ์สมัยมูลกัจจายน์ มีความละเอียดพิสดารอย่างยิ่งยากที่คนสมัยปัจจุบันจะเรียนได้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ จึงแต่งตำราไวยากรณ์ให้เรียนง่ายขึ้น ให้ชื่อว่า “บาลีไวยากรณ์”ดังกล่าว

    แสดงว่า เคยมีตำราหรือคัมภีร์แสดงหลักไวยากรณ์ภาษามคธ ที่แต่งโดยพระเถระชื่อ “กัจจายนะ”

    ท่านกัจจายนะ หรือที่เราเรียกว่า “พระมหากัจจายนะ” นั้นเป็นนักปราชญ์ทางภาษาในสมัยพุทธกาล ท่านเกิดในวรรณะพราหมณ์

    สมัยนั้น มีคนเก่งๆ เป็นอันมากจากทุกวรรณะมาบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า เช่น พระสารีบุตร ก็เกิดในวรรณะพรามหณ์ พระอานนท์ เกิดในวรรณะกษัตริย์ เป็นต้น ท่านเหล่านั้น นอกจากเป็นพระอริยบุคคลแล้ว ยังเป็นเลิสในทางต่างๆ เข้าใจว่าในการปฐมสังคายนานั้น นอกจากงานคัดกรอง (สังคีติ-สังคายนา) คำสอนแล้ว คงจะมีงานทางภาษาด้วย เพื่อให้ภาษาของพระพุทธเจ้ามีมาตรฐานเดียวกัน

    ภาษาที่จะมีมาตรฐานเดียวกัน ก็จะต้องใช้หลักไวยากรณ์เป็นเครื่องเรียงร้อย

    สมัยนั้นภาษาที่มาตรฐานทางไวยากรณ์ เป็นภาษาชั้นสูง เรียกว่า “ภาษาสันสกฤต” เป็นภาษาที่ใช้ในคัมภีร์พระเวทของลัทธิพราหมณ์ มีแต่พวกพราหมณ์ที่เป็นพระเท่านั้นใช้สวดกัน (พวกพราหมณ์ไม่นิยมเขียนภาษาสันสกฤต นิยมสวด-ท่องเท่านั้น การสวด-ท่อง เรียกว่า “มุขปาฐะ” จึงปรากฎว่า ภาษาสันสกฤตมีอยู่ก่อนภาษาถิ่นทั้งหลาย แต่มีการจารึกเป็นตัวหนังสือหลังภาษามคธเสียอีก)

    น่าสังเกตอย่างหนึ่งว่า ภาษามคธ (มาคธี) ในพระไตรปิฎกมีทั้งรูปคำ ไวยากรณ์ และฉันทลักษณ์ (คำกวี) แบบภาษาสันสกฤต รูปคำ เช่น กุฏิ (ในภาษามคธ) ในภาษาสันสกฤตใช้คำว่า “กุฎี” เป็นต้น ไวยากรณ์ (ในคัมภีร์ “มูลกัจจายน์” ) เป็นหลักไวยากรณ์ในภาษาสันสกฤต(ของพราหมณ์) นักบาลีรุ่นเก่าๆ เช่น “นาคะประทีป”(คู่กับ “เสฐียรโกเศศ”) หรือ “หลวงดรุณานุศิษฎ์” (ทวีธรมธัช ป.ธ.9) เป็นต้น มักจะเรียนภาษาสันสกฤตไปด้วยเพราะ “ภาษาบาลี” ปรุงแต่งไวยากรณ์และรูปคำต่างๆ จากภาษาสันสกฤตทั้งสิ้น

    ฉันทลักษณ์หรือคำกวีนั้น มีแทรกอยู่ในพระไตรปิฎกตั้งแต่ต้นฉบับ จะเป็นด้วยพุทธวจนะแต่ดั้งเดิมมีคำกวีด้วยหรือแต่งเสริมเข้ามาในภายหลังก็ย่อมเป็นไปได้ ในหมู่พุทธสาวกมีนักกวีท่านหนึ่งชื่อ “พระวังคีสะ” ก็มาจากวรรณะพรามหณ์ จึงเป็นไปได้ว่าบทกวีในรูป “คาถา” ในพระไตรปิฎก ได้รับการแต่งเติมหรือขัดเกลาโดยพระวังคีสะนั่นเอง

    ถ้าเป็นดังว่านั้น บาลีในพระไตรปิฎกก็มีงานด้านภาษาทำควบคู่ไปกับงานคัดกรองคำสอนควบคู่กัน อย่างขะมักเขม้นแต่เนื่องจากคณะทำงานเป็นพระอรหันต์ผู้เคารพอย่างยิ่งในพระพุทธเจ้า จึงทำงานอย่างอุทิศตนไม่มีกิเลสเอาดีเอาเด่นในผลงานแต่อย่างใด เราจึงไม่รู้ว่าการทำงานด้านภาษาอย่างไรบ้าง

    รู้แต่ว่า มีการปรับปรุงภาษามคธครั้งใหญ่ให้เป็นภาษาที่มีแบบแผน (ตันติภาษา) คือมีไวยากรณ์และมีรูปคำอันอิงภาษาสันสกฤตเป็นหลัก และตั้งแต่นั้นมา การจดจำหรือการสวดท่อง (สาธยาย) พุทธวจนะในพระไตรปิฎก ก็ยึดภาษามคธในพระไตรปิฎกเป็นมาตรฐานเดียวกัน การเรียบเรียงคัมภีร์ต่างๆ ในสมัยต่อๆ มา ก็ยึดรูปแบบภาษามคธในพระไตรปิฎกเป็นมาตรฐานเดียวกัน

    ในสมัยเรียนบาลี (ตั้งแต่ ป.ธ.3 หรือตั้งแต่ชั้นบาลีไวยากรณ์ถึง ป.ธ.8-ป.ธ.9) ไม่เคยเห็นคัมภีร์ “มูลกัจจายน์”เลย เคยเรียนแต่ตามแบบเรียนบาลีไวยากรณ์ ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ

    จึงมานึกว่า ภาษามคธในพระไตรปิฎก แต่เดิมก็เหมือนกับภาษาใน “ศิลาจารึกพระเจ้าอโศก” (เมื่อ พ.ศ.200เศษ) นั่นเอง

    ภาษาจารึกพระเจ้าอโศกนั้น เป็นภาษาถิ่น ใช้สั่งสอนคนในท้องถิ่นทั่วชมพูทวีป จึงใช้ภาษาถิ่นให้อ่านเข้าใจง่าย ไม่ใช้ภาษามคธของสมัยปฐมสังคายนา ซึ่งปรุงแต่งจากภาษาสันสกฤตของพรามหณ์

    ถ้าอยากรู้ว่า รูปแบบภาษาถิ่นของภาษามคธเป็นอย่างไรให้ดูจาก “ศิลาจารึกพระเจ้าอโศก” นั่นเถิด


    ขอบคุณที่มา
    https://siamrath.co.th/n/125732
     
  2. ~หัตถ์oBuddha~

    ~หัตถ์oBuddha~ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 มกราคม 2017
    โพสต์:
    557
    ค่าพลัง:
    +398
    อ่านเเล้วได้ใจความดีครับ เเละก็ยาวดีครับ
     

แชร์หน้านี้

Loading...