เรื่องเด่น ธนาคารโลก มอง “น้ำท่วม” ภัยพิบัติน่าห่วงที่สุดของเมืองไทย / ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

ในห้อง 'ภัยพิบัติและการเตรียมการ' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ เตือนภัย, 15 กันยายน 2021.

  1. โพธิสัตว์ เตือนภัย

    โพธิสัตว์ เตือนภัย เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    1,565
    กระทู้เรื่องเด่น:
    441
    ค่าพลัง:
    +655
    b884e0b8b2e0b8a3e0b982e0b8a5e0b881-e0b8a1e0b8ade0b887-e0b899e0b989e0b8b3e0b897e0b988e0b8a7e0b8a1.jpg
    ผมเพิ่งสอนนิสิตเรื่องโลกร้อน บอกน้องๆ ว่าจุดเสี่ยงสุดที่โลกมองไทย คือน้ำท่วม ไม่ได้แค่ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ยังรวมถึงฝนตกหนักฉับพลันที่จะเกิดขึ้นเป็นหย่อมๆ

    พูดถึงน้ำท่วม หลายคนคิดถึงภาพปี 54 นั่นก็อาจจะเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต แต่อีกอย่างที่จะเจอกันถี่ขึ้นคือฝนตกหนักอย่างเร็วเป็นจุดๆ

    ลักษณะแบบนี้เกิดขึ้นทั่วโลก ทั้งเยอรมัน จีน หรือล่าสุดที่นิวยอร์ก แม้แต่ในเมืองไทยก็มีข่าวน้ำท่วมฉับพลันเป็นระยะ

    WBG (ธนาคารโลก) รายงานว่าน้ำท่วมคือภัยพิบัติจาก Climate Risk (ความเสี่ยงต่อสภาพอากาศ) ที่น่าห่วงสุดของเมืองไทย

    ตัวเลขกลุ่มเสี่ยงในไทยต่อน้ำท่วมหนักมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จาก 2 ล้านคนในปี 2004 กลายเป็นเกือบ 5 ล้านคนในปี 2035

    ตัวเลขนี้ไม่รวมคนที่เดือดร้อนจากน้ำทะเลสูงขึ้น ที่อาจเริ่มส่งผลต่อคนไทยอีกหลายล้านในปี 2070

    ผมพยายามบอกน้องๆ นิสิตว่า นอกจากต้องช่วยกันลดก๊าซเรือนกระจกเท่าที่ทำได้ อีกอย่างที่อยากบอกคือน้องต้องปรับตัว

    ตอนนี้โลกร้อนขึ้น 1.1 องศา ยังไงเราก็หนี 1.5 องศาไม่ได้ หมายถึงสภาพอากาศจะแปรปรวนมากกว่านี้ในช่วงชีวิตเรา

    ที่โลกพยายามทำคือผ่อนหนักเป็นเบา ไม่ใช่หยุด เพราะมันหยุดไม่ได้แล้วจ้ะ

    น้องคนหนึ่งถามขึ้น แล้วประเทศไทยทำอะไรบ้าง?

    คำตอบง่ายๆ คือก็ทำอยู่นะ แต่เราจะไปหวังให้ประเทศมาปกป้องเราจากโลกร้อน มันไม่ง่ายขนาดนั้น

    ขนาดเยอรมัน จีน อเมริกา ยังไม่สามารถดูแลทุกคนจากน้ำท่วม จากไฟป่า จากฮีทเวฟ เห็นข่าวแทบทุกสัปดาห์คงพอเข้าใจ

    ที่ประเทศทำได้คือผ่อนหนักเป็นเบา บรรเทาและเยียวยา แต่ในโลกยุคนี้ คนต้องช่วยตัวเองด้วยนะจ๊ะ

    ยกตัวอย่างง่ายสุด น้องๆ เรียนจบไป ทุกคนล้วนอยากได้งานเงินเดือนดี จากนั้นเราก็ลงหลักปักฐาน กู้เงิน 30 ปีไปผ่อนบ้านผ่อนคอนโด แต่ยุคนี้ไม่เหมือนยุคก่อน หากเราไม่ระวัง มองแต่ภาพในวันนี้ ไม่ได้ดูไกลไปวันหน้า

    บ้านคอนโดที่ยังไม่เป็นอะไรในวันนี้ แต่ยิ่งอากาศแปรปรวน อีก 4-5 ปี น้ำอาจท่วมเข้าบ้านฉับพลัน จากนั้นที่เคยท่วมปีละหน กลายเป็นปีละ 2-3 หน ตามสภาพฝนหนักที่เพิ่มมากขึ้น

    สุดท้าย เราผ่อนมา 15 ปี อยากขายแล้ว อยู่ไม่ไหว

    แต่คำถามคือใครอยากจะซื้อบ้านคอนโดที่มีน้ำท่วมปีละ 3-4 หน และมีแววว่าจะท่วมถี่ขึ้นเรื่อยๆ แต่เรายังต้องผ่อนอยู่ ก็ทำงานไปสิ จ่ายเงินให้กับทรัพย์สินที่ด้อยค่าลงเรื่อยๆ

    นั่นเป็นตัวอย่างง่ายสุด ยังหมายถึงกิจการต่างๆ ร้านอาหารริมน้ำ ไร่นาสวน ฯลฯ อะไรที่ต้องกู้ระยะยาว อะไรที่ทำแบบหวังทุ่มชีวิตให้ อะไรที่ต้องพึ่งพาวัฏจักรธรรมชาติ เรื่องพวกนั้นต้องระวังให้มาก

    อย่าใช้อดีตมาตัดสินอนาคต เพราะทุกรายงานโลกร้อนบอกไว้ มันจะไม่เหมือนเดิม

    ไม่ใช่หมายความว่าไม่ให้ทำ แต่จะทำต้องรอบคอบถึงที่สุด ต้องประเมินความเสี่ยงทุกด้านในเรื่องโลกแปรปรวน

    ในต่างประเทศเริ่มมีงานวิจัยแล้ว อีกหน่อยจะซื้อบ้านซื้อที่ดินลงทุนตรงไหน จะมีโปรแกรมประเมินความเสี่ยงเรื่องโลกร้อน เราก็ลองดูว่าจะคุ้มหรือไม่ เพื่อการตัดสินใจที่รอบคอบ (ไม่ใช่ให้เชื่อ แต่ใช้ช่วย)

    สอนแล้วเด็กๆ ชอบเรื่องนี้ เริ่มรู้สึกใกล้ตัว เริ่มรู้สึกว่าเราต้องปรับตัวหาข้อมูล เริ่มคิดว่าโลกร้อนกับหนี้กู้บ้านมันเกี่ยวกันนะ

    จึงนำมาบอกเพื่อนธรณ์ไว้ ในวันที่ฝนตกกระจายทั่วไทย และจะเป็นแบบนี้ไปอีกตลอดสัปดาห์ ถามผมไม่ได้หรอกครับว่าตรงไหนเสี่ยงน้อยสุด แต่ผมตอบได้ว่าข้าพเจ้ายังยินดีอยู่เอกมัย

    น้ำท่วมใหญ่ปี 54 มาไม่ถึงเพราะเราอยู่ใน CBD ฝนตกหนักน้ำเข้าบ้านเมื่อ 4-5 ปีก่อน ตอนนี้เขาลงทุนทำท่อยักษ์ฝังใต้ถนน ใช้เวลา 2 ปีเศษกว่าจะเสร็จ จะท่วมอีกให้มันรู้ไป ในบ้านก็มีระบบดูดน้ำเพื่ออัดลงท่อยักษ์ มีปั๊มเล็กปั๊มใหญ่ (คุณแม่ลงทุน ผมปรบมือเชียร์)

    การบริหารความเสี่ยง การปรับตัว การตัดสินใจ เป็นเรื่องของแต่ละคน บอกวิธีได้ แต่ให้บอกคำตอบเลย ทำไม่ได้

    จึงนำมาบอกเพื่อนธรณ์ ในวันที่เมฆดำก้อนที่สองของวันผ่านไป แต่เมฆดำปี๋ลูกใหม่เริ่มก่อตัวอยู่ลิบๆ ครับ

    บทความโดย ผศ.ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
    ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

    อ้างอิง เพจเฟซบุ๊ค Thon
    Thamrongnawasawat
    (9 ก.ย.2564)

    หมายเหตุ รายละเอียด climate risk ธนาคารโลกประเมินไทย

    https://reliefweb.int/…/climate-risk-country-profile…

    ขอบคุณที่มา

    https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9640000091551
     

แชร์หน้านี้

Loading...