เรื่องเด่น คุณค่าทางจริยธรรมของหลักกรรมตามพุทธพจน์ ดังนี้

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย มาจากดิน, 17 มิถุนายน 2017.

  1. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,913
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,493
    คุณค่าทางจริยธรรม

    buddha.jpg


    กล่าวโดยสรุป คุณค่าที่ต้องการในทางจริยธรรมของหลักกรรม ดังนี้

    ๑) ให้เป็นผู้หนักแน่นในเหตุผล รู้จักมองเห็นการกระทำ และผลการกระทำ ตามแนวทางของเหตุปัจจัย ไม่เชื่อสิ่งงมงาย ตื่นข่าว เช่น เรื่องแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น

    ๒) ให้เห็นว่าผลสำเร็จที่คนต้องการ จุดหมายที่ปรารถนาจะเข้าถึง จะสำเร็จได้ด้วยการลงมือทำ

    - จึงต้องพึ่งตน และทำความเพียรพยายาม
    - ไม่รอคอยโอกาส หรือหวังผลด้วยการอ้อนวอนเซ่นสรวงต่อปัจจัยภายนอก

    ๓) ให้มีความรับผิดชอบต่อตนเองที่จะงดเว้นจากกรรมชั่ว และรับผิดชอบต่อผู้อื่น ด้วยการกระทำความดีต่อเขา

    ๔) ให้ถือว่า บุคคลมีสิทธิ์โดยธรรมชาติที่จะทำการต่างๆ เพื่อแก้ไขปรับปรุง สร้างเสริมตนเองให้ดีขึ้นไป โดยเท่าเทียมกัน สามารถทำตนให้เลวลงหรือให้ดีขึ้น ให้ประเสริฐจนถึงยิ่งกว่าเทวดาและพรหมได้ทุกๆคน

    ๕) ให้ถือว่าคุณธรรม ความสามารถ ความประพฤติปฏิบัติ เป็นเครื่องวัดความทรามหรือประเสริฐของมนุษย์ ไม่ให้มีการแบ่งแยกโดยชาติชั้นวรรณะ

    ๖) ในแง่กรรมเก่า ให้ถือเป็นบทเรียน และรู้จักพิจารณาเข้าใจตนเองตามเหตุผล ไม่ค่อยเพ่งโทษแต่ผู้อื่น มองเห็นพื้นฐานของตนเอง ที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อรู้ที่จะแก้ไขปรับปรุง และวางแผนสร้างเสริมความเจริญก้าวหน้าต่อไปได้ถูกต้อง

    ๗) ให้ความหวังในอนาคตสำหรับสามัญชนทั่วไป

    คุณค่าเหล่านี้ พึงพิจารณาตามพุทธพจน์ดังต่อไปนี้
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 17 มิถุนายน 2017
  2. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,913
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,493
    ความหมายทั่วไป เช่น

    “ภิกษุทั้งหลาย เจตนา เรากล่าวว่าคือกรรม บุคคลจงใจแล้ว จึงกระทำกรรม ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ" (องฺ.ฉกฺก.22/334/463)

    “สัตว์ทั้งหลาย มีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึงอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ ให้ทรามและประณีต” (ม.อ.14/579/376)

    “บุคคลหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้รับผลเช่นนั้น ผู้ทำดี ย่อมได้ดี ผู้ทำชั่ว ย่อมได้ชั่ว” (สํ.ส.15/15/23)

    “บุคคลทำกรรมใดแล้ว ย่อมเดือดร้อนในภายหลัง กรรมนั้นทำแล้วไม่ดี บุคคลมีหน้าชุ่ม ด้วยน้ำตา ร้องไห้อยู่ ย่อมเสพผลของกรรมใด กรรมนั้นทำแล้วไม่ ดี บุคคลทำกรรมใดแล้ว ย่อมไม่เดือดร้อนในภายหลัง กรรมนั้นแล ทำไว้เป็นดี” (ขุ.ธ.25/1523)

    "คนพาลมีปัญญาทราม ทำกับตนเองเหมือนเป็นศัตรู ย่อมทำกรรมชั่วอันให้ผลเผ็ดร้อน บุคคลทำกรรมใดแล้ว ย่อมเดือดร้อนภายหลัง มีหน้านองด้วยน้ำตา ร้องไห้อยู่ เสวยผลแห่งกรรมใด กรรมนั้นทำแล้วไม่ดีเลย"

    “บุคคลทำกรรมใดแล้ว ไม่เดือด ร้อนในภายหลัง เสวยผลแห่งกรรมใด ด้วยใจแช่มชื่นเบิกบาน กรรมนั้นทำไว้เป็น ดี บุคคลรู้กรรมใดว่า เป็นประโยชน์แก่ตน ควรรีบลงมือกระทำกรรมนั้นทีเดียว” (สํ.ส.15/281/81)
     
  3. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,913
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,493
    ความเป็นคนมีเหตุผล ไม่เชื่อถืองมงาย เช่น

    “คนพาลมีกรรมดำ (อกุศล) ถึงจะแล่นไปยัง (แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ คือ) แม่น้ำพหุกา ท่าน้ำอธิกักกะ ท่าน้ำคยา แม่น้ำสุนทริกา แม่น้ำสรัสวดี แม่น้ำปยาคะ และแม่น้ำพาหมดี เป็นนิตย์ ก็บริสุทธิ์ไม่ได้ แม่น้ำสุนทริกา ท่าน้ำปยาคะ หรือ แม่น้ำพหุกา จักทำอะไรได้ จะชำระสรชนผู้มีเวร ผู้ทำกรรมอันหยาบช้า ผู้มีกรรมชั่วนั้น ให้บริสุทธิ์ไม่ได้เลย

    แต่ผัคคุณฤกษ์ (ฤกษ์ดีเยี่ยม) ย่อมสำเร็จทุกเมื่อ แก่บุคคลผู้บริสุทธิ์ อุโบสถก็สำเร็จทุก เมื่อ แก่ผู้บริสุทธิ์ วัตรของบุคคลผู้หมดจดแล้ว มีการงานสะอาด ย่อมสำเร็จผลทุกเมื่อ


    "ดูกรพราหมณ์ ท่านจงอาบตนในคำสอนของเรานี้เถิด จงสร้างความเกษมแก่สัตว์ทั้งปวงเถิด ถ้าท่านไม่กล่าวเท็จ ไม่เบียดเบียนสัตว์ ไม่ทำอทินนาทาน เป็นผู้มีศรัทธา หาความตระหนี่มิได้ไซร้ ท่านจะต้องไปท่าน้ำคยาทำไม แม้น้ำดื่มของท่านก็เป็นแม่น้ำคยาแล้ว” (ม.มู.12/98/70)



    “ถ้าแม้นบุคคลจะพ้นจากบาปกรรมได้ เพราะการอาบน้ำ (ชำระบาป) กบ เต่า นาค จระเข้ และสัตว์เหล่าอื่นที่เที่ยวไปในแม่น้ำ ก็จะพากันไปสู่สวรรค์แน่นอน...ถ้าแม่น้ำเหล่านี้ พึงนำบาปที่ท่านทำไว้แล้วในกาลก่อนไปได้ไซร้ แม่น้ำเหล่านี้ ก็พึงนำบุญของท่านไปได้ด้วย” (ขุ.เถรี.26/466/473)

    “ความสะอาดจะมีเพราะน้ำ (ศักดิ์สิทธิ์) ที่คนจำนวนมากพากันไปอาบก็หาไม่ ผู้ใดมีสัจจะ มีธรรม ผู้นั้นจึงจะเป็นผู้สะอาด เป็นพราหมณ์” (ขุ.อุ.25/46/81)


    “ผู้ใด ไม่ถือมงคลตื่นข่าว ไม่ถืออุกกาบาต ไม่ถือความฝัน ไม่ถือลักษณะดีหรือชั่ว
    ผู้นั้น ชื่อว่าล่วงพ้นโทษแห่งการถือมงคลตื่นข่าว ครอบงำกิเลสที่ผูกสัตว์ไว้ในภพ อันเป็นดุจคูกั้นเสียได้ ย่อมไม่กลับมาเกิดอีก” (ขุ.ชา.27/87/28)

    “ประโยชน์ได้ล่วงเลยคนเขลาผู้คอยนับฤกษ์อยู่ ประโยชน์เป็นตัวฤกษ์ของประโยชน์เอง ดวงดาวจักทำอะไรได้” (ขุ.ชา.27/49/16)

    “บุคคลประพฤติชอบเวลาใด เวลานั้น ได้ชื่อว่า เป็นฤกษ์ดี มงคลดี เป็นเช้าดี อรุณดี เป็นขณะดี ยามดี และเป็นอันได้ทำบูชาดีแล้ว ในท่านผู้ประพฤติพรหมจรรย์ทั้งหลาย

    "แม้กายกรรมของเขา ก็เป็นสิทธิโชค วจีกรรมก็เป็นสิทธิโชค มโนกรรมก็เป็นสิทธิโชค ประณิธานของเขาก็เป็นสิทธิโชค ครั้นกระทำกรรมทั้งหลายที่เป็นเป็นสิทธิโชคแล้ว เขาย่อมได้ประสบแต่ผลที่มุ่งหมายอันเป็นสิทธิโชค” (องฺ.ติก.20/595/379)
     
  4. ธรรมแท้ว่าง

    ธรรมแท้ว่าง กายเบาใจเบา

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 มีนาคม 2011
    โพสต์:
    12,288
    ค่าพลัง:
    +12,620
    ตลึง!! กระทู้นี้ ของ อจ.มจด.ได้ขึ้นแท่นเป็นกระทู้
    เด่น ขอแสดงความนับถืออย่างสูงคับ
     
  5. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,913
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,493
    การลงมือทำ ไม่รอคอยความหวังจากการอ้อนวอนปรารถนา เช่น

    “ไม่ควรหวนละห้อยถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ไม่พึงเพ้อฝันถึงสิ่งที่อยู่ภายหน้า สิ่งใดเป็นอดีต สิ่งนั้นก็ผ่านไปแล้ว สิ่งใดเป็นอนาคต สิ่งนั้นก็ยังไม่มาถึง ส่วนผู้ใด เห็นประจักษ์ชัดสิ่งที่เป็นปัจจุบัน อันเป็นของแน่นอนไม่คลอนแคลน ขอให้ผู้นั้น ครั้นเข้าใจชัดแล้ว พึงเร่งขวนขวายปฏิบัติให้ลุล่วงไป ในที่นั้นๆ

    "เร่งทำความเพียรเสียแต่วันนี้ ใครเล่าพึงรู้ว่าจะตายในวันพรุ่ง เพราะว่า สำหรับพระยามัจจุบัน เจ้าทัพใหญ่นั้น เราทั้งหลายไม่มีทางผัดเพี้ยนเลย

    "ผู้ที่ดำรงชีวิตอยู่อย่างนี้ มีความเพียร ไม่เกียจคร้าน ทั้งกลางวันและกลางคืน ผู้นั้นแท้ พระสันตมุนีทรงขนานนามว่า ถึงอยู่ราตรีเดียวก็ประเสริฐ” (ม.อ.14/527/348...)

    “ดูกรคฤหบดี ธรรม ๕ ประการนี้ เป็นสิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นของได้ยากในโลก คือ อายุ...วรรณะ...สุข...ยศ...สวรรค์ ธรรม ๕ ประการนี้...เราไม่กล่าวว่าจะพึงได้มาเพราะการอ้อนวอน หรือเพราะการตั้งปรารถนา
    ถ้าการได้ธรรมทั้ง ๕ นี้ จะมีได้เพราะการอ้อนวอน หรือเพราะการตั้งปรารถนาแล้วไซร้ ใครในโลกนี้ จะพึงเสื่อมจากอะไร

    "ดูกรคฤหบดี อริยสาวกผู้ปรารถนาอายุ (ยืน) ไม่พึงอ้อนวอนหรือมัวเพลิดเพลินกับอายุ เพราะการอยากได้อายุนั้นเลย อริยสาวกผู้ปรารถนาอายุ พึงปฏิบัติข้อปฏิบัติที่จะเป็นใปเพื่ออายุ เพราะข้อปฏิบัติอันเป็นไปเพื่ออายุที่ปฏิบัติแล้วนั่นแหละ จึงจะเป็นไปเพื่อการได้อายุ อริยสาวกนั้น ย่อมเป็นผู้ได้อายุ ไม่ว่าจะเป็นของทิพย์ หรือของมนุษย์ ...ผู้ปรารถนาวรรณะ...สุข...ยศ...สวรรค์ ก็พึงปฏิบัติข้อปฏิบัติที่จะเป็นไปเพื่อวรรณะ...สุข...ยศ...สวรรค์...” (องฺ.ปญฺจก.22/43/51)


    “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่หมั่นประกอบความเพียรในการฝึกอบรมจิต ถึงจะมีความปรารถนาว่า “ขอให้จิตของเราหลุดพ้นจากอาสวะเถิด” ดังนี้ จิตของเธอจะหลุดพ้นไปจากอาสวะได้ก็หาไม่ ...
    เหมือนไข่ไก่ ๘ ฟองก็ตาม ๑๐ ฟองก็ตาม ๑๒ ฟองก็ตาม ที่แม่ไก่ไม่นอนทับ ไม่กก ไม่ฟัก ถึงแม้แม่ไก่มีความปรารถนาว่า “ขอให้ลูกของเราใช้ปลายเล็บหรือจะงอยปาก ทำลายเปลือกไข่ออกมาโดยสวัสดี เถิด” ดังนี้ ลูกไก่จะใช้ปลายเล็บ หรือจะงอยปาก ทำลายเปลือกไข่ออกมาได้ก็หาไม่” (สํ.ข.17/261/186)
     
  6. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,913
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,493
    มจด.ชอบความมีเหตุผลในคำสอนของพระพุทธเจ้า คือไม่เพ้อฝันเลื่อนลอย มีเหตุมีผล เป็นเหตุเป็นผล
     
  7. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,913
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,493
    การไม่ถือชาติชั้นวรรณะ ถือความประพฤติเป็นประมาณ เช่น

    “ดูกรวาเสฏฐะ ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า ในหมู่มนุษย์ ผู้ใดอาศัยโครักขกรรมเลี้ยงชีพ ผู้นั้นเป็นชาวนา มิใช่พราหมณ์
    ผู้ใดเลี้ยงชีพด้วยศิลปะต่างๆ ผู้นั้นเป็นศิลปิน มิใช่พราหมณ์
    ผู้ใดอาศัยการค้าขายเลี้ยงชีพ ผู้นั้นเป็นพ่อค้า มิใช่พราหมณ์
    ผู้ใดเลี้ยงชีพด้วยการรับใช้ผู้อื่น ผู้นั้นเป็นคนรับใช้ มิใช่พราหมณ์
    ผู้ใดอาศัยการลักทรัพย์เลี้ยงชีพ ผู้นั้นเป็นโจร มิใช่พราหมณ์ ฯลฯ ผู้ใดปกครองบ้านเมือง ผู้นั้นเป็นราชา มิใช่พราหมณ์”

    “เรามิได้เรียกคนเป็นพราหมณ์ ตามที่เกิดมาจากท้องมารดา ผู้นั้นยังมีกิเลส เป็นแต่สักว่าโภวาที (ธรรมเนียมพราหมณ์ เรียกทักทายคนอื่นว่า “โภ”) เท่านั้น เราเรียกคนที่ไม่มีกิเลส ไม่มีความยึดมั่นต่างหากว่าเป็นพราหมณ์”

    “อันนามและโคตรที่กำหนดตั้งกันไว้นี้ เป็นสักว่าโวหารในโลก เพราะเกิดมีขึ้นตามคำเรียกขานที่กำหนดตั้งกันไว้ในคราวนั้นๆ ตามทิฐิอันนอนเนื่องอยู่ในหทัยสิ้นกาลนานของสัตว์ทั้งหลายผู้ไม่รู้
    สัตว์ทั้งหลายผู้ไม่รู้ ก็พร่ำกล่าวว่าคนเป็นพราหมณ์เพราะชาติ (กำเนิด)
    แต่บุคคลจะเป็นพราหมณ์เพราะชาติก็หาไม่ จะมิใช่พราหมณ์เพราะชาติก็หาไม่ จะชื่อว่าเป็นพราหมณ์ก็เพราะกรรม ไม่ใช่พราหมณ์ก็เพราะกรรม (การงานอาชีพที่ทำ) *
    เป็นชาวนาก็เพราะกรรม
    เป็นศิลปินก็เพราะกรรม เป็นพ่อค้าก็เพราะกรรม
    เป็นคนรับใช้ก็เพราะกรรม
    เป็นโจรก็เพราะกรรม ฯลฯ เป็นราชาก็เพราะกรรม


    "บัณฑิตทั้งหลาย ผู้เห็นปฏิจจสมุปบาท ฉลาดในกรรมและวิบาก ย่อมเห็นกรรมนั้นแจ้งชัดตามความเป็นจริงว่า โลกเป็นไปด้วยกรรม หมู่สัตว์เป็นไปด้วยกรรม สัตว์ทั้งหลาย ถูกผูกยึดกันไว้ด้วยกรรม เหมือนลิ่มสลักของรถที่กำลังแล่นไป ฉะนั้น” ( ม.ม.13/707/644...)

    “ดูกรพราหมณ์ เราจะเรียกคนว่าประเสริฐ เพราะความเป็นผู้เกิดในตระกูลสูงก็หาไม่
    เราจะเรียกคนว่าต่ำทราม เพราะความเป็นผู้เกิดในตระกูลสูงก็หาไม่
    เราจะเรียกคนว่าประเสริฐ เพราะความเป็นผู้มีวรรณะใหญ่โตก็หาไม่
    เราจะเรียกคนว่าต่ำทราม เพราะความเป็นผู้มีวรรณะใหญ่โตก็หาไม่
    เราจะเรียกคนว่าประเสริฐ เพราะความเป็นผู้มีโภคะมากมายก็หาไม่
    เราจะเรียกคนว่าต่ำทราม เพราะความเป็นผู้มีโภคะมากก็หาไม่

    "แท้จริงบุคคลบางคน แม้เกิดในตระกูลสูง ก็ยังเป็นผู้ชอบฆ่าฟัน ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดคำเพ้อเจ้อ เป็นคนละโมบ คิดเบียดเบียน เป็นมิจฉาทิฏฐิ” (ม.ม.13/664/612)

    “บุคคลไม่เป็นคนถ่อยเพราะ ชาติ ไม่เป็นพราหมณ์เพราะชาติ แต่เป็นถ่อยเพราะกรรม เป็นพราหมณ์เพราะกรรม (การกระทำ ความประพฤติ)” (ขุ.สุ.25/306/352)

    “วรรณะ ๔ เหล่านี้ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพทย์ ศูทร ออกบวชในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว ย่อมละนามและโคตรเดิมเสีย นับว่าเป็นสมณศากยบุตรทั้งสิ้น” (องฺ.อฏฺฐก.23/109205)

    “บรรดาวรรณะทั้งสี่นี้ ผู้ใดเป็นภิกษุ สิ้นกิเลสาสวะแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ตนจะต้องทำสำเร็จแล้ว ปลงภาระลงได้แล้ว ลุถึงประโยชน์ตนแล้ว หมดเครื่องผูกมัดไว้ในภพ แล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้ชอบ ผู้นั้นแล เรียกได้ว่า เป็นผู้เลิศกว่าวรรณะทั้งหมดนั้น” (ที.ปา.11/71/107)
    ....
    ที่อ้างอิง *
    * กรรม แปลว่า การกระทำ แต่บางแห่ง อย่างในที่นี้ มีความหมายแบบประมวล หมายถึง การงานที่อาศัยเลี้ยงชีพ

     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 17 มิถุนายน 2017
  8. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,913
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,493
    การพึ่งตนเอง เช่น

    “การเพียรพยายาม เป็นหน้าที่ที่ท่านทั้งหลายต้องทำเอง ตถาคตเป็นแต่ผู้บอกทาง” (ขุ.ธ.25/30/51)

    “ตนนั่นแหละเป็นที่พึงแห่งตน คนอื่นใครเล่าจะเป็นที่พึ่งได้ ด้วยตนที่ฝึกไว้ดีแล้วนั่นแหละ บุคคลชื่อว่า ได้ที่พึ่งที่หาได้ยาก” (ขุ.ธ.25/22/36)

    “ความบริสุทธิ์ ไม่บริสุทธิ์เป็นของเฉพาะตน คนอื่นทำคนอื่นให้บริสุทธิ์ไม่ได้” (ขุ.ธ.25/22/37)

    “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงมีตนเป็นที่พึ่งเถิด อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งเลย จงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งเลย” (ที.ม.10/94/119 ...)
     
  9. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,913
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,493
    คำว่า "กรรม" มีหลายนัย พึงศึกษาให้ชัด
     
  10. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,913
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,493
    ข้อเตือนใจเพื่ออนาคต

    “หญิง ชาย คฤหัสถ์ บรรพชิต ควรพิจารณาเนืองๆว่า เรามีกรรมเป็นของตน เป็นผู้รับผลของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่อาศัย เรา ทำกรรมอันไว้ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เราจักได้รับผลของกรรมนั้น” (องฺ.ปญูจก.22/57/82)

    “ถ้าท่านกลัวทุกข์ ก็อย่าทำ กรรมชั่วทั้งในที่ลับที่แจ้ง ถ้าท่านจักทำ หรือทำอยู่ ซึ่งกรรมชั่ว ถึงแม้จะเหาะหนีไป ก็ย่อมไม่พ้นจากความทุกข์ได้เลย” (ขุ.อุ.25/115/150)

    “ธัญชาติ ทรัพย์สิน เงิน ทอง หรือสิ่งของที่หวงแหนอย่างใดอย่างหนึ่งที่มีอยู่ ทาส กรรมกร คน งาน คนอาศัย พึ่งพาเอาไปไม่ได้ทั้งสิ้น จะต้องถูกละทิ้งไว้ทั้งหมด”

    “แต่บุคคลทำกรรมใด ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ กรรมนั้นแหละเป็นของของเขา และเขาย่อมพาเอากรรมนั้นไป อนึ่ง กรรมนั้นย่อมติดตามเขาไปเหมือนเงาติดตามตนฉะนั้น”

    “ฉะนั้น บุคคลควรทำความดี สั่งสมสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ภายหน้า ความดีทั้งหลายย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ในปรโลก” (สํ.ส.15/392/134)

    (พุทธธรรมหน้า 316)
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 17 มิถุนายน 2017
  11. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,913
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,493
    "บุคคลทำกรรมใด ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ กรรมนั้นแหละเป็นของของเขา และเขาย่อมพาเอากรรมนั้นไป อนึ่ง กรรมนั้น ย่อมติดตามเขาไปเหมือนเงาติดตามตน ฉะนั้น”

    กรรมดีเป็นกุศลก็ตาม กรรมชั่วเป็นอกุศลก็ตาม ซึ่งทำผ่านมานานแสนนานไม่หายไปไหน ผลของการกระทำนั้นตกตะกอนนอนอยู่ก้นจิตก้นใจนี่เอง มีตย.ประกอบ

    นั่งสมาธิแล้วมีภาพเจ้ากรรมนายเวรลอยมาให้เห็นครับ
    เวลาผมนั่งสมาธิ พอภาวนาไปซักพัก เริ่มตัดภาวนาไปแล้ว ทีนี้ก็จะเกิดอาการขนลุกเย็นทั้งตัว แล้ว หลังจากนั้น ก็จะมีภาพ คน สัตว์ แมลง ที่เราเคยทำร้ายเคยทำให้เค้าตาย หรือเจ็บลอยมาให้เห็น คือ แปลกใจว่า บางเรื่องเป็นเรื่องที่นานมาก บางเรื่องเป็นเรื่องสมัยเด็กๆอยู่ด้วยซ้ำ ซึ่งบางที นึกถึงยังนึกไม่ออกเลย เพราะนานมาก แต่พอมานั่งสมาธิ ก็ลอยมาให้เห็นเฉยเลย

    อย่างในคัมภีร์ ก็มีตัวอย่าง เช่น องคุลิมาล ฆ่าคนมาตั้งเกือบพัน หลังจากบวชแล้วภาพนิมิตผู้คนที่ตนประหารตามหลอนขณะทำสมาธิ พระสารีบุตรจึงหาทางออกให้
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 17 มิถุนายน 2017
  12. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,913
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,493
    เพื่อให้มุมมองกว้างขึ้น ขอนำกรรม ๑๒ ตามแนวอรรถกถา และฎีกาต่อเลย


    กรรม ๑๒ หรือกรรมสี่ ๓ หมวด ตามที่ท่านแสดงไว้ในอรรถกถาและฎีกาทั้งหลาย มีหัวข้อและความหมายโดยย่อ ดังนี้

    หมวดที่ ๑ ว่าโดยปากกาล คือ จำแนกตามเวลาที่ให้ผล

    ๑. ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม กรรมให้ผลในปัจจุบันคือภพนี้ ได้แก่ กรรมดีก็ตาม ชั่วก็ตาม ที่กระทำในขณะแห่งชวนจิตดวงแรก ในบรรดาชวนจิตทั้ง ๗ แห่งชวนวิถีหนึ่งๆ พูดเป็นภาษาวิชาการว่า ได้แก่ชวนเจตนาที่หนึ่ง กรรมนี้ให้ผลเฉพาะในชาตินี้เท่านั้น ถ้าไม่มีโอกาสให้ผลในชาตินี้ ก็กลายเป็นอโหสิกรรม ไม่มีผลต่อไป เหตุที่ให้ผลในชาตินี้ เพราะไม่ได้การเสพคุ้น จึงมีผลเล็กน้อย ท่านเปรียบว่า เหมือนพรานเห็นเนื้อ หยิบลูกศรยิงไปทันที ถ้าถูก เนื้อก็ล้มที่นั่น แต่ถ้าพลาด เนื้อก็รอดไปเลย

    ๒. อุปปัชชเวทนียกรรม กรรมให้ผลในภพที่จะไปเกิด คือในภพหน้า ได้แก่ กรรมดีก็ตาม ชั่วก็ตาม ที่กระทำในขณะแห่งชวนจิตดวงสุดท้าย ในบรรดาชวนจิตทั้ง ๗ แห่งชวนวิถีหนึ่งๆ พูดเป็นภาษาวิชาการว่า ได้แก่ ชวนเจตนาที่ ๗ กรรมนี้ให้ผลเฉพาะในชาติถัดจากนี้ไปเท่านั้น ถ้าไม่มีโอกาสให้ผลในชาติหน้า ก็กลายเป็นอโหสิกรรม ที่เป็นเช่นนี้ เพราะเป็นเจตนาท้ายสุดของชวนวิถี เป็นตัวให้สำเร็จความประสงค์ และได้ความเสพคุ้นจากชวนเจตนาก่อนๆ มาแล้ว แต่ในเวลาเดียวกัน ก็มีกำลังจำกัด เพราะเป็นขณะจิตที่กำลังสิ้นสุดชวนวิถี

    ๓. อปราปริยเวทนียกรรม กรรมให้ผลในภพต่อๆไป ได้แก่ กรรมดีก็ตาม ชั่วก็ตาม ที่ทำในขณะแห่งชวนจิตทั้ง ๕ ในระหว่าง คือ ในชวนจิตที่ ๒-๖ แห่งชวนวิถีหนึ่งๆ พูดเป็นภาษาวิชาการว่า ได้แก่ ชวนเจตนาที่ ๒ ถึง ๖ กรรมนี้ให้ผลได้เรื่อยไปในอนาคต เมื่อเลยจากภพหน้าไปแล้ว คือ ได้โอกาสเมื่อใด ก็ให้ผลเมื่อนั้น ไม่เป็นอโหสิกรรม ตราบเท่าที่ยังอยู่ในสังสารวัฏ ท่านเปรียบเหมือนสุนัขไล่เนื้อ ตามทันเมื่อใด ก็กัดเมื่อนั้น

    ๔. อโหสิกรรม กรรมเลิกให้ผล ได้แก่ กรรมดีก็ตาม ชั่วก็ตาม ซึ่งไม่ได้โอกาสที่จะให้ผลภายในเวลาที่จะออกผลได้ เมื่อผ่านล่วงเวลานั้นไปแล้ว ก็ไม่ให้ผลอีกต่อไป (อโหสิกรรมนี้ ความจริงเป็นคำสามัญ แปลว่า "กรรมได้มีแล้ว" แต่ท่านนำมาใช้เป็นคำศัพท์เฉพาะในความหมายว่า "มีแต่กรรมเท่านั้น วิบากไม่มี" ดู วิสุทธิ. 3/223 ย่อจาก ขุ.ปฏิ. 31/523/414 มิใช่แปลว่า เลิกให้ผล หรือให้ผลเสร็จแล้ว อย่างที่แปลแบบให้เข้าใจกันง่ายๆ ตามสำนวนที่เคยชิน)
     
  13. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,913
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,493
    หมวดที่ ๒ ว่าโดยกิจ คือ จำแนกการให้ผลตามหน้าที่

    ๕. ชนกกรรม กรรมแต่งให้เกิด หรือกรรมที่เป็นตัวนำไปเกิด ได้แก่ กรรมคือเจตนา ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม ที่เป็นตัวทำให้เกิดขันธ์ที่เป็นวิบาก ทั้งในขณะที่ปฏิสนธิ และในเวลาที่ชีวิตเป็นไป (ปวัตติกาล)

    ๖. อุปัตถัมภกกรรม กรรมสนับสนุน ได้แก่ กรรมพวกเดียวกับชนกกรรม ซึ่งไม่สามารถให้ให้เกิดวิบากเอง แต่เข้าช่วยสนับสนุน หรือซ้ำเติม ต่อจากชนกกรรม ทำให้สุข หรือทุกข์ที่เกิดขึ้นในขันธ์ ซึ่งเป็นวิบากนั้น เป็นไปนาน

    ๗. อุปปีฬกกรรม กรรมบีบคั้น ได้แก่ กรรมฝ่ายตรงข้ามกับชนกกรรม ซึ่งให้ผลบีบคั้นผลแห่งชนกกรรม และอุปัตถัมภกกรรม ทำให้สุขหรือทุกข์ที่เกิดขึ้นในขันธ์ ซึ่งเป็นวิบากนั้น ไม่เป็นไปนาน

    ๘. อุปฆาตกกรรม กรรมตัดรอน ได้แก่ กรรมฝ่ายตรงข้ามที่มีกำลังแรง เข้าตัดรอนความสามารถของกรรมอื่นที่มีกำลังน้อยกว่าเสีย ห้ามวิบากของกรรมนั้นขาดไปเสียทีเดียว แล้วเปิดช่องแก่วิบากของตน เช่น ปิตุฆาตกรรมของพระเจ้าอชาตศัตรู ที่ตัดรอนกุศลกรรมของพระองค์เสีย เป็นต้น
     
  14. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,913
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,493
    หมวดที่ ๓ ว่าโดยปากทานปริยาย คือ จำแนกตามแง่ที่ยักเยื้องกัน คือ ลำดับความแรงในการให้ผล

    ๙. ครุกรรม กรรมหนัก ได้แก่ กรรมที่มีผลแรงมาก ในฝ่ายดี ได้แก่ สมาบัติ ๘ ในฝ่ายชั่ว ได้แก่ อนันตริยกรรม มีมาตุฆาต เป็นต้น ย่อมให้ผลก่อน และครอบงำกรรมอื่นๆ เสีย เปรียบเหมือนห้วงน้ำใหญ่ไหลบ่ามาท่วมทับน้ำน้อยไป

    ๑๐. พหุลกรรมหรืออาจิณณกรรม กรรมทำมาก หรือกรรมชิน ได้แก่ กรรมดีหรือกรรมชั่วที่ประพฤติมาก หรือทำบ่อยๆ สั่งสมเคยชินเป็นนิสัย เช่น เป็นคนมีศีลดี หรือเป็นคนทุศีล เป็นต้น กรรมไหนทำบ่อย ทำมาก เคยชิน มีกำลังมาก ก็ให้ผลได้ก่อน เหมือนนักมวยปล้ำ ลงสู้กัน คนไหนแข็งแรง เก่งกว่า ก็ชนะไป กรรมนี้ ต่อเมื่อไม่มีครุกรรม จึงจะให้ผล

    ๑๑. อาสันนกรรม กรรมจวนเจียน หรือกรรมใกล้ตาย ได้แก่ กรรมที่กระทำหรือระลึกขึ้นมาในเวลาใกล้จะตาย จับใจอยู่ใหม่ๆ เปรียบเหมือนโคแออัดอยู่ในคอก พอนายโคบาลเปิดประตูออก โคใดอยู่ริมประตูคอก แม้เป็นโคแก่อ่อนแอ ก็ออกไปได้ก่อน

    ๑๒. กตัตตากรรมหรือกตัตตาวาปนกรรม กรรมสักว่าทำ ได้แก่ กรรมที่ทำด้วยเจตนาอันอ่อน หรือมิใช่เจตนาอย่างนั้นๆ โดยตรง เป็นกรรมที่เบา เปรียบเหมือนลูกศรที่คนบ้ายิงไป ต่อเมื่อไม่มีกรรมสามข้อก่อน กรรมนี้จึงจะให้ผล
     
  15. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,913
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,493
    คัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ แสดงกรรมสี่ไว้อีกหมวดหนึ่ง รวมเป็นกรรม ๑๖ คือ

    หมวดที่ ๔ ว่าโดยปากัฏฐาน จำแนกตามสถานที่คือภพเป็นที่ให้ผล

    ๑๓. อกุศลกรรม กรรมที่เป็นอกุศล ยกเว้นอุทธัจจะ หรือจำแนกโดยนัยหนึ่งได้แก่อกุศลกรรมบถ ๑๐ ย่อมให้กำเนิดในอบายภูมิ

    ๑๔. กามาวจรกุศลกรรม กรรมที่เป็นกุศล ระดับกามาวจร เช่นที่จำแนกเป็นบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ย่อมให้กำเนิดในกามสุคติภพ ๗ (คือมนุษย์และสวรรค์ ๖)

    ๑๕. รูปาวจรกุศลกรรม กรรมที่เป็นกุศล ระดับรูปาวจร คือ รูปฌาน ๔ หรือ ๕ ของผู้ยังไม่บรรลุอรหัตผล ย่อมให้กำเนิดในรูปภพ

    ๑๖. อรูปาวจรกุศลกรรม กรรมที่เป็นกุศล ระดับอรูปาวจร คือ อรูปฌาน ๔ ของผู้ยังไม่บรรลุอรหัตผล ย่อมให้กำเนิดในอรูปภพ
     
  16. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,913
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,493
    คัมภีร์มโนรถปูรณี อธิบายเรื่องกรรม ๑๒ นี้ไว้โดยพิสดารกว่าที่อื่นๆ แต่ท่านเรียกการจำแนกกรรมแบบนี้ว่าเป็นสุตตันติกปริยาย คือ เป็นแนวทางนักพระสูตร และนับจำนวนว่าเป็นกรรม ๑๑ โดยถือว่าอโหสิกรรมเป็นเพียงอาการที่กรรมต่างๆ ไม่ให้ผล เป็นเพียงคำที่ใช้อธิบายกรรมอื่นๆ แทรกอยู่ในที่ต่างๆ จึงไม่นับเป็นกรรมอย่างหนึ่งต่างหาก

    นอกจากนั้น ท่านกล่าวว่า กรรมโดยอภิธรรมปริยาย คือแบบอภิธรรม มีจำนวน ๑๖ ได้แก่ กรรมที่จำแนกด้วยสมบัติ ๔ และวิบัติ ๔ ที่กล่าวไว้แล้วในเรื่องการให้ผลของกรรม
     
  17. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,913
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,493
    กรรม ๑๒ นี้ เรียกได้ว่าเป็นมติของอรรถกถาจารย์โดยแท้ แม้ว่าจะมีบางข้อที่ได้เค้าความเดิมจากพระบาลีคือพระไตรปิฎก กรรมบางข้อที่ว่านั้น ได้แก่ กรรมในหมวดแรก ซึ่งจำแนกตามเวลาที่ให้ผล โดยเฉพาะ ๓ ข้อแรก ซึ่งมีต้นเค้ามาจากพระบาลี ดังนี้

    "ภิกษุทั้งหลาย วิบากแห่งกรรมทั้งหลายเป็นไฉน ? เรากล่าวว่า วิบากแห่งกรรมทั้งหลาย มี ๓ อย่างคือ ในปัจจุบัน (ทิฏฺเฐว ธมฺเม) ในที่ที่เกิด (อุปปชฺเช วา) หรือในลำดับต่อๆไป (อปเร วา ปริยาเย)" (องฺ.ฉกฺก.22/334/465)

    "ภิกษุทั้งหลาย เหตุเพื่อความเกิดขึ้นแห่งกรรมทั้งหลาย มี ๓ ประการดังนี้ สามประการ อะไรบ้าง ? ได้แก่ โลภะ...โทสะ...โมหะ เป็นเหตุเพื่อความเกิดขึ้นแห่งกรรมทั้งหลาย

    "กรรมที่กระทำด้วยโลภะ เกิดจากโลภะ มีโลภะเป็นเหตุ มีโลภะเป็นสมุทัย....กรรมที่กระทำด้วยโทสะ...กรรมที่กระทำด้วยโมหะ เกิดจากโมหะ มีโมหะเป็นเหตุ มีโมหะเป็นสมุทัย ย่อมให้ผลในที่ที่อัตภาพของเขาบังเกิด กรรมให้ผล ณ ที่ใด เขาย่อมเสวยวิบากของกรรมนั้น ณ ที่นั้น ในปัจจุบัน (ทิฏฺเฐว ธมฺเม) หรือในที่ที่เกิด (อุปปชฺเช วา) หรือในลำดับต่อๆไป (อปเร วา ปริยาเย)" (องฺ. ติก.20/473/171)

    อรรถกถาอธิบายบาลีแห่งนี้แหละ คือ แหล่งที่อธิบายเรื่องกรรม ๑๒ อย่างพิสดารกว่าที่ใดอื่น
    (องฺ.อ.2/131)
     
  18. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,913
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,493
    ในมหากรรมวิภังคสูตร (ม.อ.14/612-5/397-8) พระพุทธเจ้าทรงจำแนกบุคคลเป็น ๔ ประเภท โดยสัมพันธ์กับการให้ผลของกรรม จับความได้ ดังนี้


    บุคคลที่ ๑ เป็นผู้ประกอบอกุศลกรรมบถ ๑๐ เมื่อแตกกาย ภายหลังมรณะ เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ทั้งนี้เพราะเขาได้กระทำกรรมชั่วอันจะพึงเสวยผลเป็นทุกข์ไว้ ในกาลก่อน หรือในกาลภายหลังต่อมา หรือไม่ก็ในเวลาจะตายเขายึดถือมิจฉาทิฏฐิเข้าไว้เต็มที่
    การที่เขาประกอบอกุศลกรรมบถ ๑๐ นั้น เขาย่อมได้เสวยผลของมัน ในปัจจุบัน (ทิฏฺเฐว ธมฺเม) หรือในที่ที่เกิด (อุปปชฺเช วา) หรือในลำดับต่อๆไป (อปเร วา ปริยาเย)

    บุคคลที่ ๒ เป็นผู้ประกอบอกุศลกรรมบถ ๑๐ เมื่อแตกกาย ภายหลังมรณะ เข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ ทั้งนี้ เพราะเขาได้กระทำกรรมดีอันจะพึงเสวยผลเป็นสุขไว้ ในกาลก่อน หรือในกาลภายหลังต่อมา หรือไม่ก็ในเวลาจะตายเขายึดถือสัมมาทิฏฐิเข้าไว้เต็มที่
    ส่วนการที่เขาประกอบอกุศลกรรมบถ ๑๐ ไว้นั้น เขาก็ย่อมได้เสวยผลของมัน ในปัจจุบัน หรือในที่ที่เกิด หรือในลำดับต่อๆไป

    บุคคลที่ ๓ เป็นผู้ประกอบกุศลกรรมบถ ๑๐ เมื่อแตกกาย ภายหลังมรณะ เข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ ทั้งนี้ เพราะเขาได้กระทำกรรมดีอันจะพึง เสวยผลเป็นสุขไว้ ในกาลก่อน หรือในกาลภายหลังต่อมา หรือไม่ก็ในเวลาจะตายเขายึดถือสัมมาทิฏฐิเข้าไว้เต็มที่
    ส่วนการที่เขาประกอบกุศลกรรมบถ ๑๐ ไว้นั้น เขาก็ย่อมได้เสวยผลของมัน ในปัจจุบัน หรือในที่ที่เกิด หรือในลำดับต่อๆไป

    บุคคลที่ ๔ เป็นผู้ประกอบกุศลกรรมบถ ๑๐ เมื่อแตกกาย ภายหลังมรณะ เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ทั้งนี้ เพราะเขาได้กระทำกรรมชั่วอันจะพึงเสวยผลเป็นทุกข์ไว้ ใน กาลก่อน หรือในกาลภายหลังต่อมา หรือไม่ก็ในเวลาจะตายเขายึดถือมิจฉาทิฏฐิเข้าไว้เต็มที่
    ส่วนการที่เขาประกอบกุศลกรรมบถ ๑๐ ไว้นั้น เขาก็ย่อมได้เสวยผลของมัน ในปัจจุบัน หรือในที่ที่เกิด หรือในลำดับต่อๆไป


    อรรถกถาอธิบายบาลีแห่งนี้ (ม.อ.3/660) ไขความโดยใช้คำว่า ทิฏฐธรรมเวทนียะ อุปปัชชเวทนียะ และอปราปริยเวทนียะ อย่างชัดเจน นอกจากนั้น จะเห็นเค้าของอาสันนกรรม (กรรมที่ทำหรือระลึกในเวลาใกล้ตาย) อีกด้วย
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 18 มิถุนายน 2017
  19. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,913
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,493
    ต่อ (จบ)


    คัมภีร์อปทาน ซึ่งเล่าประวัติในอดีตของพระสาวกทั้งหลาย ได้กล่าวถึงอาสันนกรรมกระจายอยู่หลายแห่ง (ขุ.อป.32/350/436 ....) เช่น ประวัติอดีตชาติของพระเถระท่านหนึ่งว่า เคยเป็นพรานเนื้อ

    วันหนึ่งเห็นพระติสสพุทธเจ้า เกิดความเลื่อมใส ได้ถวายหญ้ากำหนึ่งเป็นที่รองนั่ง แล้วมีจิตผ่องใส ครั้นออกจากที่นั้นไปไม่นาน ก็ถูกราชสีห์กัดตาย เพราะกรรมที่ทำไว้ใกล้ตาย (อาสนฺเน เม กตํ กมฺมํ) คือการที่ได้พบ ได้ถวายหญ้า และมีจิตเลื่อมใส ในพระพุทธเจ้านั้น จึงเกิดในสวรรค์

    จะเห็นได้ว่า ความคิดใส่ใจเกี่ยวกับกรรมใกล้ตาย และการใช้คำว่าอาสันนะในแง่ของกรรมนี้ ได้มีอยู่แล้วในยุคของคัมภีร์อปทาน

    ทิฏฐธรรมเวทนีย (กรรม) มีกล่าวถึงในบาลีอีกบางแห่ง โดยเฉพาะใน ม.อุ.14/10/10 ...แต่มาคู่กับ

    สัมปรายเวทนีย (ซึ่งพึงเสวยผลในเบื้องหน้า) ในชุดซึ่งมี ๑๐ คำ อีก ๘ คำ คือ

    สุขเวทนีย (ซึ่งพึงเสวยผลเป็นสุข หรือให้ผลเป็นสุข)

    ทุกขเวทนีย (ซึ่งพึงเสวยผลเป็นทุกข์)

    ปริปักกเวทนีย (ซึ่งพึงเสวยผลในอัตภาพที่พร้อมอยู่ หรือถึงคราวแล้ว)

    อปริปักกเวทนีย (ซึ่งพึงเสวยผลในอัตภาพที่ยังไม่ถึงคราว)

    พหุเวทนีย (ซึ่งพึงเสวยผลมาก)

    อัปปเวทนีย (ซึ่งพึงเสวยผลน้อย)

    เวทนีย (ซึ่งจะต้องเสวยผล)

    อเวทนีย (ซึ่งจะไม่ต้องเสวยผล)

    คำว่า ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม อุปปัชชเวทนียกรรม และอปราปริยเวทนียกรรม มีกล่าวไว้ชัดเจน คือเป็นรูปร่างบริบูรณ์ในคัมภีร์กถาวัตถุ (อภิ.ก.37/1854/644) ที่พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระรจนาขึ้น ในสมัยสังคายนาครั้งที่ ๓ ราว พ.ศ.๒๑๘ ส่วนอโหสิกรรม มีอยู่ชัดเจนก่อนแล้ว ในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามัคค์ (ขุ.ปฏิ.31/523/414) และอรรถกถานับว่าเป็นกรรม ๑๒ อีกชุดหนึ่ง
    คือ
    ๑. กรรมได้มีแล้ว - วิบากได้มีแล้ว
    ๒. กรรมได้มีแล้ว - วิบากไม่ได้มี
    ๓. กรรมได้มีแล้ว - วิบากกำลังมีอยู่
    ๔. กรรมได้มีแล้ว - วิบากไม่มีอยู่
    ๕. กรรมได้มีแล้ว - วิบากจักมี
    ๖. กรรมได้มีแล้ว - วิบากจักไม่มี

    ๗. กรรมมีอยู่ - วิบากมีอยู่
    ๘. กรรมมีอยู่ - วิบากไม่มี
    ๙. กรรมมีอยู่ - วิบากจักมี
    ๑๐. กรรมมีอยู่ - วิบากจักไม่มี
    ๑๑. กรรมก็จักมี - วิบากก็จักมี
    ๑๒. กรรมจักมี - วิบากจักไม่มี

    อรรถกถาอธิบายกรรม ๑๒ ชุดนี้ ตามแนวกรรม ๑๒ ชุดก่อนนั่นเอง (องฺ.อ.2/144-5) สาระสำคัญของกรรมชุดนี้ คือ แสดงกรรมที่มีผล และกรรมที่ไม่มีผล ซึ่งมีฝ่ายละ ๖ เท่ากัน พึงสังเกตว่า อโหสิกรรมก็คือคำแปลท่อนแรกในหลายข้อว่า "กรรมได้มีแล้ว"


    ส่วนกรรมอื่นนอกจากนี้ เช่น ครุกะ และ อาจิณณะ เป็นต้น เดิมเป็นเพียงถ้อยคำที่ใช้ในความหมายสามัญ ยังไม่มีชื่อเรียกเป็นกรรม และยังไม่จัดเป็นประเภท มาปรากฏในสมัยอรรถกถา ดังกล่าวแล้วข้างต้น
     

แชร์หน้านี้

Loading...