เรื่องเด่น คำถามที่พระพุทธเจ้าไม่ตอบ, ความเห็นเป็นกลางๆ

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย มาจากดิน, 21 กรกฎาคม 2017.

  1. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,913
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,493
    พระพุทธเจ้า.jpg
    ตัวอย่างพุทธพจน์ที่แสดงเหตุผลในการไม่ตรัสตอบปัญหาเหล่านี้ เช่น

    ถาม: “ท่านพระโคดมผู้เจริญ อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พวกปริพาชกผู้ถือลัทธิอื่นทั้งหลาย เมื่อถูกถามอย่างนี้ว่า

    ๑. โลกเที่ยง (ยั่งยืนนิรันดร) หรือ?

    ๒. โลกไม่เที่ยงหรือ?

    ๓. โลกมีที่สุดหรือ ?

    ๔. โลกไม่มีที่สุดหรือ ?

    ๕. ชีวะอันนั้น สรีระก็อันนั้นหรือ?

    ๖. ชีวะก็อย่าง สรีระก็อย่างหรือ?

    ๗. สัตว์ * หลังจากตายแล้ว มีอยู่หรือ?

    ๘. สัตว์หลังจากตายแล้ว ไม่มีหรือ?

    ๙. สัตว์หลังจากตายแล้ว ทั้งมี ทั้งไม่มีหรือ?

    ๑๐. สัตว์หลังจากตายแล้ว จะว่ามีอยู่ ก็ไม่ใช่ ไม่มีอยู่ก็ไม่ใช่หรือ?

    จึงพยากรณ์
    (ตอบ) ว่า “โลกเที่ยง” บ้าง “โลกไม่เที่ยง” บ้าง ฯลฯ “สัตว์หลังจากตายแล้ว จะว่ามีอยู่ก็ไม่ใช่ ไม่มีก็ไม่ใช่” บ้าง แต่อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ท่านพระโคดมผู้เจริญ เมื่อถูกถามอย่างนั้น จึงไม่พยากรณ์ (ตอบ) ไปว่า “โลกเที่ยง” หรือ “โลกไม่เที่ยง” ฯลฯ “


    ตอบ: “แน่ะท่านวัจฉะ เหล่าปริพาชกผู้ถือลัทธิอื่น ย่อมเข้าใจว่า รูปเป็นอัตตา บ้าง ว่าอัตตามีรูป บ้าง ว่ารูปอยู่ในอัตตา บ้าง ว่าอัตตาอยู่ในรูป บ้าง เข้าใจว่า เวทนา ...สัญญา...สังขาร...เป็นอัตตา บ้าง ฯลฯ เข้าใจว่า วิญญาณเป็นอัตตา บ้าง ว่าอัตตามีวิญญาณ บ้าง ว่าวิญญาณอยู่ในอัตตา บ้าง ว่าอัตตาอยู่ในวิญญาณ บ้าง เพราะฉะนั้น เหล่าปริพาชกผู้ถือลัทธิอื่นเหล่านั้น เมื่อถูกถามอย่างนั้น จึงพยากรณ์ไปว่า “โลกเที่ยง” บ้าง “โลกไม่เที่ยง” บ้าง ฯลฯ “


    “ส่วนพระตถาคตอรหันตสัมพุทธเจ้า ย่อมไม่เข้าใจเอารูปเป็นอัตตา หรือว่าอัตตามีรูป หรือว่ารูปอยู่ในอัตตา หรือว่าอัตตาอยู่ในรูป ฯลฯ ว่าวิญญาณเป็นอัตตา หรือว่าอัตตามีวิญญาณ หรือว่าวิญญาณอยู่ในอัตตา หรือว่าอัตตาอยู่ในวิญญาณ เพราะฉะนั้น พระตถาคตอรหันตสัมพุทธเจ้า เมื่อถูกถามอย่างนี้ จึงไม่พยากรณ์ไปว่า “โลกเที่ยง” หรือว่า “โลกไม่เที่ยง” ฯลฯ “ * (สํ.สฬ.18/794/480 ฯลฯ)
    ..........

    ที่อ้างอิง *
    * คำว่า สัตว์ ในที่นี้ บาลีเป็นตถาคโต แปลตามไขความของอรรถกถาแห่งมัชฌิมนิกาย (ม.อ.3/135) แต่ตามคำอธิบายใน สํ.อ.3/192 บ่งความหมายถึงพระพุทธเจ้า ใน อุ.อ.431 ว่าหมายถึง อัตตา หรืออาตมัน
    * การที่พระพุทธเจ้าไม่ตอบปัญหา ที่เรียกว่า อภิปรัชญา (สมัยก่อนเรียกอัธยาตมวิทยา) เหล่านี้ มีเหตุผลหลายประการ ที่สำคัญก็คือ ปัญหาเหล่านี้ตั้งขึ้นโดยเอาความเข้าใจผิดเป็นมูลฐาน ผู้ตั้งปัญหา คิดปัญหาขึ้นจากความเห็นผิดของตนเอง เช่น เข้าใจว่ามีอัตตา เป็นต้น ปัญหาที่ถามจึงไม่มีภาวะที่ตรงกับความจริง เป็นอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า ตั้งปัญหาไม่ถูก อย่างพุทธพจน์ข้างต้นนี้ประการหนึ่ง *


    ความจริงที่ปัญหานี้เล็งไปถึง มิใช่สิ่งที่จะเข้าถึงได้ด้วยเหตุผล การอธิบายด้วยเหตุผล ย่อมไม่มีทางให้ผู้ฟังมองเห็นความจริงได้ เป็นอย่างที่เรียกว่า สิ่งที่ต้องดูด้วยตา จะเอามามองให้เห็นด้วยหู ย่อมเป็นการสิ้นเปลืองเวลาเปล่า นี้อย่างหนึ่ง และที่สืบเนื่องจากเหตุผลข้อที่แล้วมา ก็คือ ในเมื่อไม่อาจเข้าถึงได้ด้วยเหตุผล การยังมามัวตีวาทะแสดงเหตุผลกันอยู่ ย่อมไม่ช่วยให้เกิดผลทางปฏิบัติในชีวิตจริง พระพุทธเจ้าทรงสนพระทัยสิ่งที่เป็นปัญหาเกี่ยวข้องกับชีวิตจริงในทางปฏิบัติ นำมาใช้เป็นประโยชน์ได้ จึงทรงปัดปัญหาเหล่านี้เสีย
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 21 กรกฎาคม 2017
  2. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,913
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,493
    ดูความหมายโลกายัตก่อน คคห.ต่อๆไปก็แลเห็นความเป็นกลาง กับ การเอียงสุดข้างใดข้างหนึ่ง

    โลกายัต ชื่อหนึ่งของลัทธิปรัชญาฝ่ายวัตถุนิยมของอินเดีย ถือว่าโลกนี้เกิดจากการรวมตัวกันเองของวัตถุธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม ชีพหรือชีวิตเป็นเพียงผลิตผลของวัตถุธาตุที่รวมตัวกันนั้น คนเราเกิดครั้งเดียว ตายแล้วขาดสูญ ไม่มีโลกหน้า จึงควรแสวงหากามสุขเสียแต่วันนี้ พรุ่งนี้เราอาจตาย; จารวาก ก็เรียก (ป.ส.)
     
  3. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,913
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,493
    (สังเกต ความคิดความเห็นยังไง เรียกว่าเป็นกลางๆ ยังไงเรียกว่า เอียงสุดโต่งไปทางใดทางหนึ่ง)

    ปฏิจจสมุปบาทในฐานะมัชเฌนธรรมเทศนา

    ความเข้าใจในปฏิจจสมุปบาท เรียกว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ หรือเห็นถูกต้อง และความเห็นที่ถูกต้องนี้เป็นความเห็นชนิดที่เรียกว่าเป็นกลางๆ ไม่เอียงสุดไปทางใดทางหนึ่ง ปฏิจจสมุปบาทจึงเป็นหลักหรือกฎที่แสดงความจริงเป็นกลางๆ ไม่เอียงสุด อย่างที่เรียกว่า “มัชเฌนธรรมเทศนา” *(นี้เรียกตามพุทธพจน์ว่า “มชฺเฌน ธมฺมํ เทเสติ” (แสดงธรรมโดยท่ามกลาง)

    ความเป็นกลางของหลักความจริงนี้ มีโดยการเทียบกับลัทธิหรือทฤษฎีเอียงสุดต่างๆ และความเข้าใจปฏิจจสมุปบาทโดยถูกต้อง จะต้องแยกออกจากทฤษฎีเอียงสุดเหล่านี้ด้วย ดังนั้น ในที่นี้ จึงควรนำทฤษฎีเหล่านี้มาแสดงไว้เปรียบเทียบเป็นคู่ๆ โดยการใช้วิธีอ้างพุทธพจน์เป็นหลัก และอธิบายให้น้อยที่สุด

    คู่ที่ ๑:

    ๑. อัตถิกวาทะ * ลัทธิว่าสิ่งทั้งหลายมีอยู่จริง (Extreme realism)

    ๒. นัตถิกวาทะ ลัทธิว่าสิ่งทั้งหลายไม่มีจริง (Nihilism)

    “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า “สัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐิ” ดังนี้ แค่ไหน จึงจะชื่อว่า สัมมาทิฏฐิ”

    “แน่ะ ท่านกัจจานะ โลกนี้โดยมากอิง (ทฤษฎีของตน) ไว้กับภาวะ ๒ อย่าง คือ อัตถิตา (ความมี) และนัตถิตา (ความไม่มี)

    เมื่อเห็นโลกสมุทัยตามที่มันเป็นด้วยสัมมาปัญญา นัตถิตาในโลกก็ไม่มี

    เมื่อเห็นโลกนิโรธตามที่มันเป็นด้วยสัมมาปัญญา อัตถิตาในโลกนี้ก็ไม่มี

    โลกนี้โดยมากยึดมั่นถือมั่นในอุบาย (systems) และถูกคล้องขังไว้ด้วยอภินิเวส (dogmas) ส่วนอริยสาวก ย่อมไม่เข้าไปหา ไม่ยึด ไม่ติดอยู่กับความยึดมั่นถือมั่นในอุบาย ความปักใจ อภินิเวสและอนุสัยว่า “อัตตาของเรา” ย่อมไม่เคลือบแคลงสงสัยว่า “ทุกข์นั่นแหละ เมื่อเกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้น ทุกข์ เมื่อดับ ก็ย่อมดับ อริยสาวก ย่อมมีญาณในเรื่องนี้ โดยไม่ต้องอาศัยผู้อื่นเลย เพียงเท่านี้แล ชื่อว่าสัมมาทิฏฐิ

    “ดูก่อนกัจจานะ ข้อว่า “สิ่งทั้งปวงมีอยู่” นี้เป็นที่สุดข้างหนึ่ง ข้อว่า “สิ่งทั้งปวงไม่มี” นี้เป็นที่สุดข้างหนึ่ง ตถาคตย่อมแสดงธรรมเป็นกลางๆ ไม่เข้าไปติดที่สุดทั้งสองข้างนั้นว่า “เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี ฯลฯ เพราะอวิชชานั่นแหละสำรอกดับไปไม่เหลือ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับไป วิญญาณจึงดับ ฯลฯ” (สํ.นิ.16/42-44/20-21; 173/91)


    พราหมณ์โลกายัตคนหนึ่ง มาเฝ้าทูลถามปัญหาว่า “ท่านพระโคตมะผู้เจริญ สิ่งทั้งปวงมีอยู่หรือ

    พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า “ข้อว่า สิ่งทั้งปวงมี เป็นโลกายัตหลักใหญ่ที่สุด

    ถาม: สิ่งทั้งปวงไม่มีหรือ

    ตอบ: ข้อว่า สิ่งทั้งปวงไม่มี เป็นโลกายัตที่สอง

    ถาม: สิ่งทั้งปวง เป็นภาวะหนึ่งเดียว (เอกัตตะ- unity) หรือ

    ตอบ: ข้อว่า สิ่งทั้งปวงเป็นภาวะหนึ่งเดียว เป็นโลกายัตที่สาม

    ถาม: สิ่งทั้งปวง เป็นภาวะหลากหลาย (ปุถุตตะ – plurality) หรือ

    ตอบ: ข้อว่า สิ่งทั้งปวง เป็นภาวะหลากหลาย เป็นโลกายัตที่สี่

    “ดูก่อนพราหมณ์ ตถาคตไม่เข้าไปติดที่สุดทั้งสองข้างเหล่านี้ ย่อมแสดงธรรมเป็นกลางๆ ว่า เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี ฯลฯ เพราะอวิชชาสำรอกดับไปไม่เหลือ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ” (สํ.นิ.16/176/92)
    ….
    ที่อ้างอิง *
    * คำว่า “วาทะ” เปลี่ยนเรียกว่า “ทิฏฐิ” ได้ทุกแห่ง ดังนั้นว่า วาทะ ทั้งสองนี้ และต่อจากนี้ไป จึงเรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า อัตถิกทิฏฐิ นัตถิกทิฏฐิ สัสสตทิฏฐิ อุจเฉททิฏฐิ ฯลฯ เฉพาะอัตถิกทิฏฐิ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สัพพัตถิกวาทะ


    คู่ที่ ๒:

    ๑. สัสสตวาทะ ลัทธิถือว่าเที่ยง (ตัดภาษาอังกฤษในวงเล็บออกทุกแห่ง)

    ๒. อุจเฉทวาทะ ลัทธิถือว่าขาดสูญ (…)
     
  4. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,913
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,493
    คู่ที่ ๓:

    ๑. อัตตการวาทะ หรือสยังการวาทะ ลัทธิถือว่าสุขทุกข์ เป็นต้น ตนทำเอง (...)

    ๒. ปรการวาทะ ลัทธิถือว่าสุขทุกข์ เป็นต้น เกิดจากตัวการภายนอก (…)


    คู่ที่ ๓ และ ๔ มีความสำคัญมากในแง่ของหลักกรรม เมื่อศึกษาเข้าใจดีแล้ว จะช่วยป้องกันความเข้าใจผิดในเรื่องกรรมได้เป็นอย่างมาก จึงควรสังเกตตามแนวพุทธพจน์ ดังนี้

    ถาม: ทุกข์ ตนทำเองหรือ

    ตอบ: อย่ากล่าวอย่างนั้น

    ถาม: ทุกข์ ตัวการอื่นทำให้หรือ

    ตอบ: อย่ากล่าวอย่างนั้น

    ถาม: ทุกข์ ตนเองทำด้วย ตัวการอื่นทำให้ด้วยหรือ

    ตอบ: อย่ากล่าวอย่างนั้น

    ถาม: ทุกข์ มิใช่ตนทำเอง มิใช่ตัวการอื่นทำให้ แต่เกิดขึ้นเองลอยๆ (เป็นอธิจจสมุปบัน) หรือ

    ตอบ: อย่ากล่าวอย่างนั้น

    ถาม: ถ้าอย่างนั้น ทุกข์ ไม่มีหรือ

    ตอบ: ทุกข์มิใช่ไม่มี ทุกข์มีอยู่

    ถาม: ถ้าอย่างนั้น ท่านพระโคตมะ ไม่รู้ ไม่เห็นทุกข์หรือ

    ตอบ: เรามิใช่ไม่รู้ไม่เห็นทุกข์ เรารู้ เราเห็นทุกข์แท้ทีเดียว

    ถาม: “...ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้โปรดบอก โปรดแสดงทุกข์ แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด

    ตอบ: เมื่อว่า ทุกข์ตนเองทำ อย่างที่ว่าทีแรก ก็เท่ากับบอกว่า ผู้นั้นทำ ผู้นั้นเสวย (ทุกข์) กลายเป็นสัสสตทิฏฐิไป เมื่อว่า ทุกข์ตัวการอื่นทำให้ อย่างที่ผู้ถูกเวทนาทิ่มแทงรู้สึก ก็เท่ากับบอกว่า คนหนึ่งทำ คนหนึ่งเสวย (ทุกข์) กลายเป็นอุจเฉททิฏฐิไป

    ตถาคตไม่เข้าไปติดที่สุดทั้งสองข้างนั้น ย่อมแสดงธรรมเป็นกลางๆ ว่า เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี ฯลฯ เพราะอวิชชาสำรอกดับไปไม่เหลือ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ* (สํ.นิ.16/49-50/23-25)


    ถาม: สุขทุกข์ ตนทำเอง หรือ

    ตอบ: อย่ากล่าวอย่างนั้น

    ถาม: สุขทุกข์ ตัวการอื่นทำให้หรือ

    ตอบ: อย่ากล่าวอย่างนั้น

    ถาม: สุขทุกข์ ตนเองทำด้วย ตัวการอื่นทำให้ด้วยหรือ

    ตอบ: อย่ากล่าวอย่างนั้น

    ถาม: สุขทุกข์ มิใช่ตนทำเอง มิใช่ตัวการอื่นทำให้ แต่เกิดขึ้นเองลอยๆ (เป็นอธิจจสมุปบัน) หรือ

    ตอบ: อย่ากล่าวอย่างนั้น

    ถาม: ถ้าอย่างนั้น สุขทุกข์ ไม่มีหรือ

    ตอบ: สุขทุกข์มิใช่ไม่มี สุขทุกข์มีอยู่

    ถาม: ถ้าอย่างนั้น ท่านพระโคตมะ ไม่รู้ ไม่เห็นสุขทุกข์หรือ

    ตอบ: เรามิใช่ไม่รู้ไม่เห็นสุขทุกข์ เรารู้ เราเห็นสุขทุกข์แท้ทีเดียว

    ถาม: “...ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า โปรดบอก โปรดแสดงสุขทุกข์ แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด”


    ตอบ: เพราะเข้าใจเอาแต่แรกว่า เวทนาก็นั่น ผู้เสวยเวทนาก็นั่น จึงเกิดยึดถือขึ้นว่า สุขทุกข์ตนทำเอง เราหากล่าวว่าเป็นอย่างนั้นไม่ เพราะเข้าใจว่า เวทนาก็อย่าง ผู้เสวยเวทนาก็อย่าง จึงเกิดความยึดถืออย่างที่ผู้ถูกเวทนาทิ่มแทงรู้สึกว่า สุขทุกข์ ตัวการอื่นทำให้ เราหากล่าวว่าเป็นอย่างนั้นไม่

    ตถาคตไม่เข้าไปติดที่สุดทั้งสองข้างนั้น ย่อมแสดงธรรมเป็นกลางๆ ว่า เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี ฯลฯ เพราะอวิชชาสำรอกดับไปไม่เหลือ สังขารจึงดับ * (สํ.นิ.16/54-55/26-28)

    “ดูก่อนอานนท์ เรากล่าวว่า สุขทุกข์เป็นปฏิจจสมุปบันธรรม (สิ่งที่อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น) อาศัยอะไร? อาศัยผัสสะ”

    “เมื่อกายมีอยู่ อาศัยความจงใจทางกายเป็นเหตุ สุขทุกข์ภายในจึงเกิดขึ้นได้ เมื่อวาจามีอยู่ อาศัยความจงใจทางวาจาเป็นเหตุ สุขทุกข์ภายในจึงเกิดขึ้นได้ เมื่อมโนมีอยู่ อาศัยมโนสัญเจตนาเป็นเหตุ สุขทุกข์ภายในจึงเกิดขึ้นได้”

    “เพราะอวิชชานั่นแหละเป็นปัจจัย บุคคลจึงปรุงแต่งกายสังขารขึ้นเอง เป็นปัจจัยให้เกิดสุขทุกข์ภายใน เนื่องจากผู้อื่น (ถูกคนอื่นหรือตัวการอื่นๆ กระตุ้นหรือชักจูง) จึงปรุงแต่งกายสังขาร เป็นปัจจัยให้เกิดสุขทุกข์ภายในบ้าง รู้ตัวอยู่ จึงปรุงแต่งกายสังขาร เป็นปัจจัยให้เกิดสุขทุกข์ภายใน บ้าง ไม่รู้ตัวอยู่ ย่อมปรุงแต่งกายสังขาร เป็นปัจจัยให้เกิดสุขทุกข์ภายใน บ้าง
    จึงปรุงแต่งวจีสังขาร...มโนสังขารขึ้นเอง บ้าง ...เนื่องจากผู้อื่นบ้าง .... โดยรู้ตัวบ้าง... โดยไม่รู้ตัวบ้าง เป็นปัจจัยให้เกิดสุขทุกข์ภายใน ในกรณีเหล่านี้ อวิชชาเข้าแทรกอยู่แล้วทั้งนั้น” * (สํ.นิ.16/82-83/46-48)
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 22 กรกฎาคม 2017
  5. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,913
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,493
    คู่ที่ ๔:

    ๑. การกเวทกาทิเอกัตตวาท การถือว่าผู้ทำและผู้เสวยผล เป็นต้น เป็นตัวการเดียวกัน (...)

    ๒. การกเวทกาทินานัตตวาท การถือว่าผู้ทำและผู้เสวยผล เป็นต้น เป็นคนละอย่างขาดจากกัน


    ถาม: ตัวที่ทำก็อันนั้น ตัวที่เสวย (ผล) ก็อันนั้นหรือ

    ตอบ: ข้อว่า ตัวที่ทำก็อันนั้น ตัวที่เสวย (ผล) ก็อันนั้น เป็นที่สุดข้างหนึ่ง

    ถาม: ตัวที่ทำก็อย่าง ตัวที่เสวย (ผล) ก็อย่างหรือ

    ตอบ: ข้อว่า ตัวที่ทำก็อย่าง ตัวที่เสวย (ผล) ก็อย่าง เป็นที่สุดข้างที่สอง ตถาคตไม่เข้าไปติดที่สุดทั้งสองข้างนั้น ย่อมแสดงธรรมเป็นกลางๆ ว่า เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี ฯลฯ เพราะอวิชชาสำรอกดับไปไม่เหลือ สังขารจึงดับ ฯลฯ * (สํ.นิ.16/170/90)

    ถาม: ชรามรณะคืออะไร ? ชรามรณะนี้ของใคร ?

    ตอบ: ตั้งปัญหายังไม่ถูก ผู้ใดกล่าวว่า ชรามรณะคืออะไร ? ชรามรณะนี้ของใคร ? หรือผู้ใดกล่าวว่า ชรามรณะก็อย่าง เจ้าของชรามรณะก็อย่าง คำพูดทั้งสองแบบนี้มีความหมายอย่างเดียวกัน ต่างกันแต่พยัญชนะเท่านั้น เมื่อมีความเห็นว่า ชีวะก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น การครองชีวิตอันประเสริฐ (พรหมจรรย์) ก็มีไม่ได้ เมื่อมีความเห็นว่า ชีวะก็อย่าง สรีระก็อย่าง การครองชีวิตอันประเสริฐ (พรหมจรรย์) ก็มีไม่ได้ ตถาคตไม่เข้าไปติดที่สุดทั้งสองนั้น ย่อมแสดงธรรมเป็นกลางๆว่า เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมี

    ถาม: พระองค์ผู้เจริญ ชาติ ... ภพ...อุปาทาน...ตัณหา....เวทนา...ผัสสะ...สฬายตนะ...นามรูป...วิญญาณ...สังขาร... คืออะไร ? ของใคร ?

    ตอบ: ตั้งปัญหายังไม่ถูก (เนื้อความต่อไปแนวเดียวกับข้อชรามรณะ) เพราะอวิชชาสำรอกดับไปไม่เหลือ ความเห็นที่บิดเบือน ส่ายพร่า ขัดกัน อย่างใดๆ ก็ตามว่า ชรามรณะคืออะไร ชรามรณะนี้ของใคร ก็ดี ชรามรณะก็อย่าง เจ้าของชรามรณะก็อย่าง ก็ดี ชีวะก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น ก็ดี ชีวะก็อย่าง สรีระก็อย่าง ก็ดี ความเห็นเหล่านั้นทั้งหมด เป็นอันถูกกำจัด ถอนรากทิ้ง ทำให้สิ้นซาก ถึงความไม่มี หมดทางเกิดขึ้นได้ต่อไป (สํ.นิ.16/129-133/72-74)

    ถาม: ใครหนอย่อมผัสสะ (ใครเป็นผู้รับผัสสะ)

    ตอบ: ตั้งปัญหายังไม่ถูก เรามิได้กล่าวว่า ย่อมผัสสะ ถ้าเรากล่าวว่า ย่อมผัสสะ ในกรณีนั้น จึงควรตั้งปัญหาได้ถูกต้องว่า ใครหนอย่อมผัสสะ แต่เรามิได้กล่าวอย่างนั้น เมื่อเราไม่กล่าวอย่างนั้น ผู้ใดถามอย่างนี้ว่า เพราะอะไรเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี ? นี้ชื่อว่า ตั้งปัญหาถูกต้อง ในกรณีนั้น ก็มีคำเฉลยที่ถูกต้องว่า เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี

    ถาม: ใครหนอเสวยเวทนา ใครหนอทะยานอยาก (มีตัณหา) ใครหนอย่อมยึดมั่น (มีอุปาทาน) ?

    ตอบ: ตั้งปัญหายังไม่ถูก... ผู้ใดถามว่า เพราะอะไรเป็นปัจจัยหนอ เวทนาจึงมี เพราะอะไรเป็นปัจจัยหนอ ตัณหาจึงมี เพราะอะไรเป็นปัจจัยหนอ อุปาทานจึงมี นี้ชื่อว่าตั้งปัญหาถูกต้อง ในกรณีนั้นๆ ก็มีคำเฉลยที่ถูกต้องว่า เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี” (สํ.นิ.16/33-36/16-17)

    “ภิกษุทั้งหลาย กายนี้ มิใช่ของพวกเธอ แล้วก็มิใช่ของใครอื่น พึงเห็นว่า กรรมเก่านี้เป็นสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งขึ้น ถูกจงใจจำนงขึ้นมา (เกิดจากเจตนา หรือมีเจตนาเป็นมูล) เป็นที่ตั้งของเวทนา”


    “ภิกษุทั้งหลาย ในเรื่องนั้น อริยสาวกผู้ได้เรียนรู้แล้ว ย่อมพิจารณาสืบสาว (โยนิโสมนสิการ) เป็นอย่างดี ถึงการที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกันและกันจึงเกิดขึ้น (ปฏิจจสมุปบาท) ว่าเมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้ย่อมดับ กล่าวคือ เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี ฯลฯ เพราะอวิชชาสำรอกดับไปไม่เหลือ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ ฯลฯ” (สํ.นิ.16/143/77-78)



    หลักปฏิจจสมุปบาท แสดงความจริงของธรรมชาติให้เห็นว่า สิ่งทั้งหลายมีลักษณะเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ที่เรียกว่า ไตรลักษณ์ เป็นไปตามกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย ไม่มีปัญหาในเรื่องที่ว่า สิ่งทั้งหลายมีหรือไม่มีจริง ยั่งยืนหรือขาดสูญ เป็นต้น แต่ผู้ไม่รู้ความหมายของหลักปฏิจจสมุปบาท มักเข้าใจไตรลักษณ์ผิดพลาด โดยเฉพาะหลักอนัตตานั้น มักได้ยินได้ฟังกันอย่างผิวเผินแล้ว ตีความเอาว่า อนัตตาหมายถึงไม่มีอะไร กลายเป็นนัตถิกวาท อันเป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างร้ายแรงไปเสีย


    ผู้เข้าใจหลักปฏิจจสมุปบาทดีแล้ว ย่อมพ้นจากความเห็นผิดแบบต่างๆ ที่แตกแขนงออกมาจากทฤษฎีทั้งหลายข้างต้นนั้น เช่น ความเชื่อว่าสิ่งทั้งหลายมีมูลการณ์หรือเหตุต้นเค้าเดิมสุด (First Cause) และความเข้าใจว่ามีสิ่งวิเศษนอกเหนือธรรมชาติ (the Supernatural) เป็นต้น ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ตัวอย่างพุทธพจน์เกี่ยวกับเรื่องนี้ เช่น

    “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อใด อริยสาวกเห็นปฏิจจสมุปบาทนี้ และปฏิจจสมุปบันธรรม (สิ่งที่อาศัยกันเกิดขึ้นตามหลักปฏิจจสมุปบาท) เหล่านี้ ชัดเจนตามที่มันเป็น ด้วยสัมมาปัญญาแล้ว เมื่อนั้น การที่อริยสาวกนั้น จะแล่นเข้าหาที่สุดข้างต้นว่า ในอดีต เราได้เคยมีหรือไม่หนอ ? ในอดีต เราได้เป็นอะไรหนอ ? ในอดีต เราได้เป็นอย่างไรหนอ ? ในอดีต เราได้เป็นอะไรแล้วจึงได้มาเป็นอะไรหนอ ?

    หรือจะแล่นเข้าหาที่สุดข้างปลายว่า ในอนาคต เราจักมีหรือไม่หนอ ? ในอนาคต เราจักเป็นอะไรหนอ? ในอนาคต เราจักเป็นอย่างไรหนอ? ในอนาคต เราเป็นอะไรแล้วจักได้เป็นอะไรหนอ?

    หรือแม้แต่จะเป็นผู้มีความสงสัยกาลปัจจุบันเป็นภายในบัดนี้ว่า เรามีอยู่หรือไม่หนอ ? เราคืออะไรหนอ? เราเป็นอย่างไรหนอ? สัตว์นี้มาจากที่ไหน แล้วจักไป ณ ที่ไหนอีก ? ดังนี้ ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะอะไร ? ก็เพราะว่า อริยสาวกเห็นปฏิจจสมุปบาทนี้ และปฏิจจสมุปบันธรรมนี้ ชัดเจนแล้วตามที่มันเป็น ด้วยสัมมาปัญญา” (สํ.นิ.16/63/31)


    โดยนัยนี้ ผู้เห็นปฏิจจสมุปบาท จึงไม่สงสัยในปัญหาอภิปรัชญาต่างๆ ที่เรียกว่า อันตคาหิ กทิฏฐิ และจึงเป็นเหตุผลที่พระพุทธเจ้าทรงนิ่งเสีย ไม่ตรัสตอบปัญหาเหล่านี้ ในเมื่อใครก็ตามมาทูลถาม โดยตรัสว่า เป็นอัพยากตปัญหา หรือปัญหาที่ไม่ทรงพยากรณ์ เพราะเมื่อเห็นปฏิจจสมุปบาท เข้าใจการที่สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยแล้ว ปัญหาเหล่านี้ ย่อมกลายเป็นเรื่องเหลวไหลไป
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 22 กรกฎาคม 2017
  6. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,913
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,493
    ปฏิจจสมุปบาทเป็นหลักธรรมใหญ่ที่แสดงความเป็นไปของชีวิตไว้ทั้งหมด มีขอบเขตกว้างขวางครอบคลุมหลักธรรมปลีกย่อยในระดับต่างๆอย่างทั่วถึง เรียกได้ว่าเป็นกระบวนการแห่งชีวิต หรือกระบวนธรรมเบ็ดเสร็จ ถ้าเข้าใจปฏิจจสมุปบาทแล้วก็ชื่อว่าเข้าใจชีวิตหรือเข้าใจพระพุทธศาสนาทั้งหมด ดังพุทธพจน์ที่ว่า “ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรม(ม.มู. ๑๒/๓๔๖/๓๕๙)
     

แชร์หน้านี้

Loading...