ความกลัวตายเป็นธรรมดาของสัตว์ทุกรูปทุกนาม

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 15 กุมภาพันธ์ 2023.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,975
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,583
    ค่าพลัง:
    +26,423
    6E151717-A0AC-40B4-A1CA-55C944EF2B16.jpeg

    ความกลัวตายเป็นธรรมดาของสัตว์ทุกรูปทุกนาม บาลีบอกว่า อาหาระนิททัง ภะยะเมถุนัญจะ สามัญญะเปตัปปะสุภีนะรานัง

    อาหาระ คืออาหาร , นิททัง คือการนอน , ภะยะ คือความกลัว , เมถุนะ คือการเสพกาม ท่านบอกว่า ๔ อย่างนี้เป็นปกติของสัตว์ทุกรูปทุกนาม สามัญญะเปตัปปะสุภีนะรานัง สามัญญะ ก็คือ ปกติธรรมดา ธัมโมหิ เตสัง อะธิโก วิเสโส ธรรมเท่านั้นที่ให้เกิดความต่างขึ้นได้ ธัมเมนะ วีณา ปะสุภิสสะมานา มีแต่ธรรมเท่านั้นที่ทำให้คนต่างออกไปจากสัตว์

    เพราะฉะนั้น..เรื่องความกลัวถือเป็นเรื่องปกติ แต่ทำอย่างไรที่จะไม่ให้กลัวจนขาดสติ ถ้ามานึกอีกที น่าขายหน้ามากเลย เป็นลูกศิษย์หลวงพ่อวัดท่าซุงมา ๓๐-๔๐ ปี ถึงเวลามัจจุราชยื่นหน้ามาหน่อยเดียว กลัวจนหัวหด ต้องประเภทยื่นหน้ามาก็กระโดดขี่คอ ไปไหนไปเลย อยากไปนานแล้ว ทำไมมาช้าจัง..!

    คือเรายังไม่เห็นธรรมดา ถ้าเห็นธรรมดาว่าทุกรูปทุกนาม ต้องป่วย ต้องตายเป็นปกติ แล้วทำใจยอมรับได้ว่าปกติของสัตว์ ของมนุษย์เป็นอย่างนี้เอง ถ้าทำอย่างนั้นได้ ความตายไม่ใช่ของน่ากลัว ความเจ็บป่วย ความเจ็บปวดก็ไม่ใช่ของน่ากลัว ถึงเวลาก็ดูแลรักษาไปตามมารยาท ร่างกายนี้เป็นธาตุ ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม เรายืมโลกมาใช้ชั่วคราว แต่โดยมารยาทการยืมของก็ต้องดูแลให้ดีที่สุดเท่าที่จะดูแลรักษาได้ เพื่อถึงเวลาจะได้ส่งคืนเจ้าของไปในสภาพที่ดีที่สุด คราวนี้ถ้าเราดูแลรักษาไปตามสภาพ ถ้าหายก็ดี ถ้าไม่หายก็จบแค่นั้น..หมดเวรหมดกรรมกันเสียที

    กลัวแล้วตายไหม ? กลัวก็ตาย ไม่กลัวก็ตาย เพราะฉะนั้น..ถ้ากลัวก็เสียหน้ามากเลย เวลาโผล่ไป พวก (ข้างบน) นั่งหัวเราะคิกคัก นี่หรือลูกศิษย์ท่าน อับอายขายหน้าครูบาอาจารย์เขาหมด

    ไม่ได้กลัวตาย แต่พร้อมที่จะตาย ดำรงชีวิตอยู่โดยไม่ประมาท โดยเฉพาะไม่ประมาทในการสร้างความดี ทาน ศีล ภาวนาใดที่เป็นไปเพื่อการหลุดพ้น เราจำเป็นต้องทำให้มากเข้าไว้ เพราะไม่แน่ว่าความตายจะมาถึงเมื่อใด ถ้าหากเปรียบความตายในวัฏสงสารเป็นการเดินทางไกล บุคคลที่พร้อมด้วยพาหนะ เสบียง และเครื่องอำนวยความสะดวก ย่อมไม่มีความหนักใจในการเดินทาง ทำอย่างไรเราจะสั่งสมให้พร้อมสมบูรณ์ที่สุด ถ้าหากว่าถึงจุดหมายแล้วไม่ต้องเดินทางอีกยิ่งดี ของที่สะสมไว้ก็ไม่ต้องเสียดาย กองไว้ตรงนั้นแหละ ไม่ได้ใช้ก็ช่างหัวมัน

    ไปเริ่มต้นใหม่ คิดใหม่ สมมติว่าตายบ่อย ๆ ถ้าปวดหัวขึ้นมาตอนนี้ ถ้าเราตายลงไปตอนนี้ใจเราจะเกาะอะไร ไม่ใช่ไปคร่ำครวญอยู่กับความเจ็บปวด สติจะต้องระลึกอยู่เสมอว่า ความตายจะต้องมาหาเราวิธีใดวิธีหนึ่ง ในเมื่อระลึกอยู่เสมอก็ต้องหาทางเกาะให้มั่นคง ให้เหนียวแน่นเข้าไว้ แรก ๆ ก็เกาะทุกอย่าง โดยเฉพาะต้องหาทางเกาะในด้านดี แต่ถ้านานไป ๆ ความรู้ความเข้าใจ คือ ปัญญาเริ่มสมบูรณ์แล้ว ก็จะรู้ว่าการเกาะไม่สามารถทำให้เราเป็นอะไรได้ ไม่สามารถทำให้เราหลุดพ้นได้ ก็จะวางการเกาะนี้ไปด้วย

    ความเคยชินของนักปฏิบัติ พอเกิดอะไรขึ้นก็จะวิ่งเข้าไปหากำลังใจตัวเอง อิ๊กคิวไปบอกอาจารย์ อาจารย์ใกล้มรณภาพ กำลังเกาะฌาน ไปไหนไม่ได้ ติดอยู่แค่นั้น อิ๊กคิวก็สะกิดให้อาจารย์ปล่อย ปล่อยปุ๊บไปเลย ยึดฌานอยู่แค่นั้น ถ้าตายก็ไปแค่พรหม อาจารย์สอนศิษย์มาทั้งชีวิต ลูกศิษย์สอนกลับประโยคเดียวเท่านั้นเอง..!
    ...................................
    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. วัดท่าขนุน
    www.watthakhanun.com
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...