เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอังคารที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๖

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 14 พฤศจิกายน 2023.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,932
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,579
    ค่าพลัง:
    +26,419
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอังคารที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๖


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,932
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,579
    ค่าพลัง:
    +26,419
    วันนี้ตรงกับวันอังคารที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ กระผม/อาตมภาพไม่อยู่ ๑๒ วัน ก็ต้องขอบคุณทุกท่านที่ช่วยกันบริหารดูแลวัดท่าขนุนให้เป็นไปได้ด้วยดี

    ความจริงยังมีงานเรื่องการอบรมนักธรรมชั้นโท - ชั้นเอก ต่อเนื่องอยู่ แต่ว่าพรุ่งนี้กระผม/อาตมภาพต้องไปโรงพักเพื่อคุยเรื่องคดีความ ซึ่งผู้รับเหมาสร้างหัวรถไฟโบราณรับเงินไปแล้วก็ทิ้งงาน ทางด้านตำรวจจึงออกหมายเรียกให้มาคุยกันว่าจะทำอย่างไร จึงมีเหตุผลพอที่จะแจ้งผู้บังคับบัญชาว่าติดงานสำคัญ

    พอกลับมาแล้ว ตรวจดูสมุดลา เห็นพวกท่านเกือบทั้งวัดไปฝังเข็มกันมา จากประสบการณ์ส่วนตัวของ
    กระผม/อาตมภาพที่ฝังเข็มมา จะดีเฉพาะครั้งแรกครั้งที่สองเท่านั้น เนื่องเพราะว่าส่วนใหญ่แล้วโรคภัยไข้เจ็บของเรานั้น เกิดจากการที่เลือดลมเดินไม่สะดวก การฝังเข็ม หลัก ๆ เลย ก็คือเปิดชีพจรให้เลือดลมเดินได้สะดวก เราก็จะรู้สึกดีขึ้นทันตาเห็น เหมือนอย่างกับว่าตัดถนนให้เดินทางได้คล่องขึ้น

    แต่พอครั้งที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ก็เหมือนอย่างกับไปตัดถนนที่มีอยู่แล้ว ประโยชน์ก็จะน้อยลงไปเรื่อย แปลว่าถ้าจะไปฝังเข็มไม่ควรที่จะไปบ่อย ยิ่งถ้าแบบที่กระผม/อาตมภาพไปฝังเข็มมา นั่นครั้งละ ๔,๐๐๐ บาท..! แล้วหมอเขายังต้องให้นัดลูกค้าให้ได้อย่างน้อย ๓ คน ถึงจะมาทำการฝังเข็มให้

    คราวนี้พอได้รับการฝังเข็มไปแล้ว ครั้งแรกอาการดีขึ้น ญาติโยมที่เป็นเจ้าภาพก็มีกำลังใจ จึงเชิญหมอมาบ่อย แต่กระผม/อาตมภาพเป็นคนช่างสังเกต เห็นอย่างชัดเจนเลยว่า พอครั้งที่ ๓ ไปแล้ว แทบจะไม่มีอะไรเกิดขึ้น เนื่องเพราะว่าฝังบ่อยเกินไป ตอนช่วงนั้นประมาณอาทิตย์ละครั้ง เนื่องจากว่ายังเรียนหนังสืออยู่

    แต่คราวนี้ต้องบอกว่าหมอเขามีความสามารถที่แท้จริง การฝังเข็มนั้น ถ้าทำได้ถูกต้องและมีฝีมือจริง จะไม่รู้สึกเจ็บอะไรเลย ทั้ง ๆ ที่เข็มปักเต็มตัวของเรา อย่างเก่งก็รู้สึกหนึบ ๆ หน่อยเดียวเท่านั้น ถ้าหากว่าเจ็บ แสดงว่าฝังผิดจุดแล้ว..!

    โดยเฉพาะ "หมอหยาง" ฝังเข็มที่ท้ายทอยกระผม/อาตมภาพ พอถึงเข็มที่ ๔
    กระผม/อาตมภาพก็บอกกับหมอว่า "ขอนอนลงได้ไหม ? เพราะรู้สึกว่าจะเป็นลม" หมอแกพยายามพูดทั้งภาษาจีน ภาษาไทย กระท่อนกระแท่น จับความได้ว่า "หลวงพ่อเก่งมาก" แกฝังให้หลวงจีนเส้าหลิน เข็มแรกก็ร่วงสลบทั้งยืนเลย..! เนื่องเพราะว่าถ้าเลือดลมอั้นมาก ๆ แล้วอยู่ ๆ เราไปเปิดให้พุ่งพรวดพราด บางทีร่างกายก็รับไม่ไหว
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,932
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,579
    ค่าพลัง:
    +26,419
    แต่ด้วยความที่กระผม/อาตมภาพฝึกกรรมฐานเรื่องสติมานาน สามารถที่จะรับรู้ได้ว่าตอนนี้สภาพร่างกายตอนนี้เป็นอย่างไร ไหวหรือไม่ไหว ก็เลยฝังไปถึงเล่มที่ ๔ แล้วถึงได้บอกกับหมอว่าขอนอนลงได้ไหม ? เพราะว่าถ้านั่งอยู่ เดี๋ยวอาจจะเป็นลมล้มลงไป แต่พอนอนลงแล้วหมอเขาฝังจนเต็มตัวสองสามร้อยเล่ม ก็ไม่เห็นเป็นอะไร ก็แสดงว่าเรื่องพวกนี้ ถ้าหากว่าสติของเราสมบูรณ์พอ จะสามารถรับรู้ได้แม้กระทั่งการเคลื่อนไหวของเลือดลมภายในร่างกายของเรา

    ดังนั้น..กระผม/อาตมภาพยืนยันว่าการฝังเข็ม ถ้าจะให้ได้ผลจริง ๆ ก็สักเดือนละครั้ง ถ้าถี่เกินไป ขนาดอาทิตย์ละครั้ง อย่างที่กระผม/อาตมภาพเจอมา พออาทิตย์ที่สามก็ไม่รู้สึกรู้สาอะไรแล้ว เปลืองสตางค์เปล่า ๆ ท้ายสุดก็เลยเสียดายเงินแทนญาติโยม บอกยกเลิกไป ไม่ใช่หมอไม่เก่ง หมอเก่งมาก แต่ถ้าหากว่าร่างกายเราดี ๆ ไปฝังเข็มก็ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ แล้วถ้าหากว่าฝังแบบต้องเสียเงิน ก็กลายเป็นเสียเงินเปล่า ๆ

    ส่วนอีกเรื่องหนึ่งที่อยากพูดในวันนี้ก็คือ ทุกท่านจะเห็นว่ามหากว้าง (พระมหากว้าง ญาโณ ป.ธ.๓) กลับมาจากการจำพรรษาที่บ้านหนองบัว ประเทศพม่า ไปมีปัญหาคับอกคับใจ ต้องมาถามกระผม/อาตมภาพ เนื่องเพราะว่าปีนี้มหากว้างไปจำพรรษาอยู่บริเวณป่าช้า ก็คือสถานที่ซึ่งคนบ้านหนองบัวเอาไว้เผาศพ เขาก็จะเผาตรงโน้นบ้าง ตรงนี้บ้าง ตรงนั้นบ้าง ด้วยกองฟอนแบบโบราณ ก็คือเอาฟืนเรียง ๆ กันขึ้นไป เอาศพไว้ข้างบนแล้วก็จุดไฟเผา พอถึงเวลาก็ทำการเก็บกระดูกใส่หม้อ พื้นที่ตรงนั้นก็เหลือรอยเผาอยู่วงหนึ่ง วนไปวนมาเดี๋ยวก็กลับมาเผาซ้ำที่เดิมอีก

    แต่คราวนี้ปรากฏว่าเมื่อจำพรรษาอยู่ตรงนั้น ก็เลยมีญาติโยมปวารณาจะถวายกฐิน พอข่าวดังออกไปก็มีผู้หวังดีแต่ประสงค์ร้าย ไปฟ้องทางด้านเจ้าคณะปกครองคณะสงฆ์ ทางด้านโน้นก็เลยเรียกมหากว้างไป บอกว่าห้ามไม่ให้รับกฐิน เพราะว่าจำพรรษาอยู่ในป่าช้า รับกฐินไม่ได้ กระผม/อาตมภาพฟังมาถึงตอนนี้แล้ว ก็คิดว่า "มันบ้า..!"

    พระพุทธเจ้าอนุญาตให้ภิกษุจำพรรษาอยู่ในป่าช้า อยู่ในป่าชัฏ อยู่ในเรือนว่าง อยู่ในถ้ำ แม้กระทั่งอยู่กองเกวียน ถ้าอนุญาตให้จำพรรษาอยู่ที่ไหนได้ ก็แปลว่ารับกฐินที่นั่นได้ โดยเฉพาะกฐินเป็นญัตติทุติยกรรม ก็คือสวดประกาศแล้วก็สวดอนุสาวนาเลย ก็แปลว่าตั้งญัตติว่าคณะสงฆ์จะให้ผ้ากฐินนี้แก่ผู้ใด แล้วก็สวดประกาศตามนั้นเลย
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,932
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,579
    ค่าพลัง:
    +26,419
    ดังนั้น..ในเรื่องของการสวดกฐินจึงไม่จำเป็นต้องอยู่ในสีมาก็ได้ เพราะว่าสีมานั้นเอาไว้สำหรับญัตติญัตติจตุตถกรรม ก็คือการตั้งญัตติ และสวดอนุสาวนา ประกาศท่ามกลางสงฆ์ ๓ ครั้ง เมื่อรวมการตั้งญัตติเป็น ๔ ครั้ง เขาถึงเรียก "จตุตถกรรม" ก็คือ "กระทำ ๔ รอบ" ถ้าเป็นญัตติจตุตถกรรมต้องทำในเขตสีมาเท่านั้น

    ในเมื่อกฐินเป็นแค่ญัตติทุติยกรรม หลายท่านอาจจะเห็นว่า มีบางวัดสวดกันบนอาสน์สงฆ์นั่นเลย ก็คือพอผู้สวดสมมติประกาศว่าเป็นของผู้ใดรับกฐิน เขาก็ให้คู่สวดสวดกันตรงนั้น โมทนาตรงนั้น ไม่ใช่เขาทำผิด เขาทำถูก แต่ที่พวกเราเข้าไปสวดกันในโบสถ์ ก็เพื่อป้องกันไม่ให้พวกไม่รู้จริง หรือรู้ไม่จริง จะมาสร้างเวรสร้างกรรมทางวาจาอีก..!

    ในเมื่อเป็นอย่างนั้น มหากว้างของเราก็ถือว่าศึกษามามาก ถามคณะสงฆ์กลับไปว่า "ไอ้ที่ว่าห้ามรับกฐิน พระพุทธเจ้าห้ามหรือทางคณะสงฆ์ห้าม ?" ถ้าเป็น
    กระผม/อาตมภาพก็น่าจะ "โบก" ให้สักทีก่อน..! ก็คือถามแรงไป

    ในเมื่ออ้ำอึ้งกันหมด ในที่สุดทางพระเถระเจ้าคณะปกครองก็มีผู้ได้สติ บอกว่า "ถ้าทำอย่างนั้นแล้วจะทำให้เกิดการแตกแยก เนื่องเพราะว่าผู้ที่เลื่อมใสมหากว้างก็จะไปทอดกฐินในป่าช้า อีกส่วนหนึ่งก็จะมาทอดกฐินในวัด จะเป็นต้นเหตุให้เกิดการแตกความสามัคคีกัน" กระผม/อาตมภาพบอกว่า "คำอธิบายนี้กระผม/อาตมภาพยอมรับและควรจะเป็นไปตามนั้น เพราะว่าเรื่องใหญ่ทุกเรื่องเกิดจากเหตุเล็ก ๆ น้อย ๆ ทั้งนั้น"

    อย่างเรื่องที่ภิกษุโกสัมพีทะเลาะกัน แม้แต่พระพุทธเจ้าไปห้ามก็ไม่ฟัง จนพระองค์ท่านต้องหลีกไปอยู่ที่ป่าปาลิไลยกะ ก็เกิดจากเรื่องเล็กนิดเดียว ก็คือพระธรรมธรเข้าห้องน้ำ เมื่อทำธุระเสร็จสรรพเรียบร้อยแล้วไม่ได้คว่ำภาชนะ เหลือน้ำติดก้นภาชนะไว้หน่อยหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นอาบัติ เนื่องเพราะว่าถ้าเหลือน้ำติดก้นภาชนะไว้ ยุงอาจจะลงไปวางไข่ แล้วถ้าเราเอาน้ำนั้นไปใช้ ก็อาจจะโดนศีลข้อที่ว่า "ในน้ำมีตัวสัตว์ ถ้าเอาไปรดดินหรือหญ้า ทำให้สัตว์นั้นตาย" ต้องอาบัติปาจิตตีย์

    พระธรรมธรท่านได้ยินเช่นนั้นท่านก็บอกว่า ท่านยังไม่ทราบว่าข้อนี้เป็นความผิด ในเมื่อเป็นความผิดก็ขอแสดงคืนอาบัติท่ามกลางสงฆ์ พระวินัยธรบอกว่า "เรื่องเล็กน้อยแค่นี้ เมื่อรู้ผิดแล้วก็แล้วกันไปเถอะ" ถ้าแค่นี้ก็น่าจะจบ แต่ไม่จบตรงที่ว่าพระวินัยธรไปตำหนิพระธรรมธร อย่าลืมว่าพระวินัยธรส่วนใหญ่ก็คือฝ่ายเรียนตำรา ไปตำหนิพระธรรมธรฝ่ายปฏิบัติให้ลูกศิษย์ของตนเองฟังว่า "เป็นอาจารย์ใหญ่เสียเปล่า ศีลแค่นี้ก็ไม่รู้..!" ถ้าแค่นั้นก็น่าจะไม่มีปัญหา
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,932
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,579
    ค่าพลัง:
    +26,419
    แต่คราวนี้ลูกศิษย์เอาไปพูดต่อ ก็คือเอาไปพูดกับลูกศิษย์ของทางฝ่ายพระธรรมธรว่า "อาจารย์ของคุณใช้ไม่ได้ เรื่องแค่นี้ก็ไม่รู้ แล้วจะอบรมพวกคุณให้ดีอย่างไร ?" ก็บรรลัยสิครับ..! กลายเป็นต่างฝ่ายต่างทะเลาะกันใหญ่โต เพราะว่าพระธรรมธรก็ "ของขึ้น" ไหนตอนแรกบอกว่าไม่เป็นไร จะแสดงอาบัติก็บอกว่าไม่ต้อง แล้วทำไมตอนนี้ไปตำหนิกันทีหลัง..!?

    ในเมื่อพระทะเลาะกัน ญาติโยมที่นับถือฝ่ายพระธรรมธรก็แยกไปฝ่ายโน้น ที่นับถือพระวินัยธรก็แยกมาฝ่ายนี้ กลายเป็นว่ากรุงโกสัมพีแตกเป็นสองฝ่าย แค่นั้นก็ยังถือว่าเบา ไปหนักตรงที่ว่าเทวดาที่รักษาแต่ละฝ่ายพลอยแตกกันไปด้วย ก็บรรลัยไปถึงภพอื่นด้วย..! พระพุทธเจ้าจึงเสด็จไปห้าม แต่ปรากฏว่าทั้งสองฝ่ายกำลังหน้ามืดตามัว ไม่มีใครฟัง พระองค์ท่านก็เลยหลีกไปอยู่ที่ป่าปาลิไลยกะ อยู่กับช้างสบายใจดี อยู่กับพระกับเณร กับญาติโยมแล้วยุ่งยากมากนัก

    ท้ายสุดญาติโยมเริ่มรู้ตัวก่อน พระพุทธเจ้าไม่อยู่นาน ๆ แล้วคิดถึง ท่านไม่ใช่ว่าไม่อยู่ ๑๒ วันแบบ
    กระผม/อาตมภาพนะ ท่านไม่อยู่ทีเป็นพรรษาเลย ก็พากันไปขอร้องให้กลับ พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ถ้ายังไม่สามัคคีกันก็ไม่กลับ" ญาติโยมไปขอร้อง พระท่านก็ยังถือทิฏฐิอยู่ จำไว้เลยนะ..ตราบใดที่ยังไม่เข้าถึงมรรคไม่เข้าถึงผลนี่ เรื่อง "ทิฏฐิพระ มานะกษัตริย์" เป็นเรื่องปกติ เขาถึงได้บอกว่า เวลาอบรมนี่ วิทยากรกลัวที่สุดอยู่สองประเภท ประเภทแรกคือพระ ประเภทที่สองคือครู เพราะว่าส่วนใหญ่แล้วจะรู้ไปทุกเรื่อง แล้วถ้ายิ่ง "พระครู" แบบกระผม/อาตมภาพ ก็ยิ่งหนักเข้าไปอีก..!

    ในเมื่อชาวบ้านเห็นว่าพระถือทิฏฐิหนักนัก ก็เลยรวมหัวกันเลิกใส่บาตร พออดเข้า ไม่มีแรงจะทะเลาะกัน ต้องส่งคณะทูตไปแจ้งกับพระพุทธเจ้าว่ายอมสามัคคีกันแล้ว พระพุทธเจ้าถึงได้เสด็จออกมา แล้วท่านทั้งหลายจะเห็นว่า มีการแสดงปาฏิโมกข์ในวันสามัคคีด้วย

    บรรดาพระวินัยธรทรงปาฏิโมกข์ให้รู้ไว้ด้วยว่า ไอ้วันสามัคคีที่ว่าก็คือวันนี้แหละ ก็คือมาทวนศีลด้วยกันอีกรอบหนึ่ง ให้รู้ ๆ กันไปเลยว่ามีอะไรบ้าง เราจะเห็นว่าสาเหตุต่าง ๆ ล้วนแต่เกิดจากเรื่องเล็กน้อยทั้งนั้น

    ทีนี้พอมหากว้างเข้าใจเหตุผล ก็รับปากว่าจะไม่รับกฐิน ซึ่ง
    กระผม/อาตมภาพก็เห็นด้วยเหมือนกัน เพราะว่าถ้าเริ่มต้นเริ่มแตกแล้ว ต่อไปก็จะแตกหนักขึ้นเรื่อย เจ้าคณะปกครองจึงควรที่จะใช้เหตุผลชี้แจงทั้งทางโลกทางธรรมให้ชัดเจน แล้วค่อยแจ้งกับมหากว้างว่าทำไมถึงห้าม ? ไม่ใช่ไปพูดชุ่ย ๆ ว่าห้ามรับกฐิน เพราะไปจำพรรษาอยู่ในป่าช้า..!

    ถ้าตอน
    กระผม/อาตมภาพอายุเท่ามหากว้าง กระผม/อาตมภาพก็คง "สวน" เหมือนกันแหละ แต่ก็จะประเภทว่า ต่อไปมหากว้างก็คงจะอยู่ยากขึ้น เจ้าคณะปกครอง "เอาปูนหมายหัว" ไว้เรียบร้อยแล้ว แต่ว่าตรงนั้นเป็นเรื่องภายภาคหน้า กระผม/อาตมภาพไม่ได้ใส่ใจ วัดท่าขนุนของเราก็มีวัดสาขาอีกเป็นสิบ กลับจากพม่ามา จะอยู่วัดไหนก็ได้
     
  6. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,932
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,579
    ค่าพลัง:
    +26,419
    แต่ว่าส่วนที่ใส่ใจก็คือว่า ถ้าเป็นพระเถระแล้วไม่แม่นในเรื่องของพระธรรมวินัยนี่อันตรายมาก ถึงขนาดพระพุทธศาสนาพังได้เลย เพราะว่าจะกลายเป็นอัตโนมติ ก็คือเอาความคิดของกูเป็นใหญ่ ไม่ใช่เอาหลักธรรมเป็นใหญ่

    ท่านทั้งหลายจะได้เห็นว่าที่พระพุทธเจ้าอนุญาตให้บุคคลเป็นพระอุปัชฌาย์นั้น
    "ต้องรู้พระธรรมวินัยครบถ้วน และอาจสอนสัทธิวิหาริกให้รู้ตามได้" ตรงนี้สำคัญที่สุดเลย เพราะฉะนั้น..พระอุปัชฌาย์จึงไม่ใช่แค่ครบ ๑๐ พรรษาตามที่พระพุทธเจ้าตามพุทธานุญาตเท่านั้น ส่วนสำคัญก็คือต้องรู้ธรรมวินัยครบถ้วน

    แต่คราวนี้ทางด้านคณะสงฆ์ไทยนั้น โดยเฉพาะในส่วนของการปกครองหนกลาง พระเดชพระคุณหลวงพ่อสมเด็จพระมหาธีราจารย์ (ฐานิสฺสรมหาเถร) อดีตเจ้าคณะใหญ่หนกลาง วัดชนะสงคราม ท่านมีมติว่า ในหนอื่นเขาจะใช้กี่พรรษาก็ช่าง แต่ในเขตปกครองคณะสงฆ์หนกลาง ขอให้ผู้เข้าสอบพระอุปัชฌาย์ได้ ๒๐ พรรษาก่อน

    มีบุคคลสงสัยว่าทำไมต้องพรรษามากขนาดนั้นถึงเป็นพระอุปัชฌาย์ได้ ? เพราะว่าพระพุทธเจ้าบัญญัติไว้แค่ ๑๐ พรรษา ท่านบอกว่าพระอุปัชฌาย์เปรียบเหมือนพ่อ อายุห่างลูกสัก ๒๐ ปี พอที่จะกราบไหว้บูชากัน
    ได้โดยไม่ตะขิดตะขวงใจ แต่ถ้าหากว่าอายุน้อยกว่านั้น ไปเจอพวกลูกศิษย์หัวแข็ง หรืออายุมากแล้วเข้ามาบวช บางทีก็ไม่ฟังพระอุปัชฌาย์เหมือนกัน เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องเฉพาะของคณะสงฆ์หนกลางเท่านั้น

    แต่ถ้าที่กันดารอย่างของพวกเรา อำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอทองผาภูมิ อำเภอสังขละบุรี ก็มีการผ่อนผันเหมือนกัน เคยมีผู้ที่มีพรรษา ๑๒ ได้รับอนุญาตให้เข้าสอบพระอุปัชฌาย์ได้ เพราะว่าเขตนั้นหาพระอุปัชฌาย์ไม่ได้จริง ๆ ส่วนใหญ่สึกเสียก่อนที่จะครบ ๒๐ พรรษา

    สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายแก่พระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันอังคารที่ ๑๔ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๖
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...