เรื่องเด่น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ กับการตีพิมพ์พระไตรปิฎกเป็นเล่มครั้งแรก ในสยามประเทศ

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 23 ตุลาคม 2021.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,319
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,274
    ค่าพลัง:
    +9,590
    %E0%B8%9B%E0%B8%81-%E0%B8%A3.5.jpg

    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับการตีพิมพ์ "พระไตรปิฎกเป็นเล่มครั้งแรก" ในสยามประเทศ

    เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือวันปิยมหาราช ซีเคร็ตขอนำเสนอพระราชกรณียกิจด้านศาสนาของรัชกาลที่ 5 อีกพระราชกรณียกิจหนึ่งที่มีคุณูปการต่อพระพุทธศาสนาในประเทศและต่างประเทศเป็นอย่างมาก คือการพิมพ์พระไตรปิฎกอักษรไทยเป็นเล่มครั้งแรกของโลก เพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่มีต่อพสกนิกรชาวไทย

    %E0%B8%A3.5-1-768x288.jpg
    ภาพจาก www.trueplookpanya.com

    พระราชกรณียกิจของรัชกาลที่ 5 นอกจากการสร้างพระอาราม รักษาพระธรรมวินัยโดยการก่อตั้งวิทยาลัยสงฆ์ (มหาธาตุวิทยาลัย ซึ่งต่อมาคือ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย) ขึ้นในประเทศแล้ว พระองค์ทรงสนพระทัยเรื่องการรักษาพระพุทธศาสนาด้วยการสร้างพระไตรปิฎกด้วย คือ พระไตรปิฎกฉบับหอหลวง หรือ “ฉบับทองทึง“และด้วยว่าในสมัยรัชกาลที่ 5 การตีพิมพ์เป็นที่แพร่หลาย พระองค์จึงโปรดให้มีการตีพิมพ์พระไตรปิฎกอักษรไทยขึ้นเป็นครั้งแรกหนึ่งชุดแล้วประดิษฐาน ณ หอพระมณเฑียรธรรม ภายในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (หรือวัดพระแก้วมรกต)

    รัชกาลที่ 5 ทรงเห็นว่าการสร้างพระไตรปิฎกขึ้นเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปยังสำนักสงฆ์ต่าง ๆ เป็นสิ่งสำคัญที่จะรักษาพระธรรมวินัยของพระผู้มีพระภาคเจ้าสืบไปต่อ จึงเกิดการตีพิมพ์พระไตรปิฎกบาลีอักษรไทย 39 เล่ม จำนวนทั้งหมด 1,000 ฉบับ ซึ่งใช้เวลานานหลายปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2431-พ.ศ.2436 และพระราชทานไปในสำนักสงฆ์ใหญ่ ๆ และในต่างประเทศด้วย รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำรัสแก่พระสงฆ์ผู้ตรวจสอบพระไตรปิฎกว่า

    %E0%B8%A3.5-3.jpg
    ภาพจาก www.alittlebuddha.com


    “การซึ่งมีความประสงค์จะให้ตรวจสอบพระไตรปิฎกลงพิมพ์ในครั้งนี้นั้น ด้วยเห็นว่าแต่ก่อนมาประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนายังมีอำนาจปกครองบ้านเมืองโดยลำพัง ด้วยพระเจ้าแผ่นดินเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนาได้ทะนุบำรุงอุดหนุนการศาสนาอยู่หลายประเทศด้วยกัน คือเมืองลังกา เมืองพม่า เมืองลาว เมืองเขมร และกรุงสยาม เมื่อเกิดวิบัติอันตราย พระไตรปิฎกขาดสูญบกพร่องไปในเมืองใด ก็ได้อาศัยหยิบยืมกันมาลอกคัดคงฉบับบริบูรณ์ถ่ายกันไปกันมาได้

    แต่ในการทุกวันนี้ประเทศลังกาแลพม่าอยู่ใต้อำนาจอังกฤษ ผู้ปกครองบ้านเมืองไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนา ก็ทะนุบำรุงแต่อาณาประชาราษฎรไพร่บ้าน พลเมือง หาได้อุดหนุนพระพุทธศาสนาอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ พระสงฆ์ซึ่งปฏิบัติตามพระพุทธศาสนาก็ต่างคนต่างประพฤติตามลำพังตน คนที่ชั่วมากกว่าดีอยู่เป็นธรรมดา ก็ชักพาให้พระปริยัติธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าวิปริตผิดเพี้ยนไปตามอัธยาศัย

    ส่วนเมืองเขมรนั้นเล่าก็ตกอยู่ในอำนาจของฝรั่งเศส ไม่มีกำลังที่จะอุดหนุนพระพุทธศาสนาให้เป็นการมั่นคงถาวรไปได้ ส่วนเมืองลาวอยู่ในพระราชอาณาเขต เจ้านายแลไพร่บ้านพลเมืองก็นับถือพระพุทธศาสนาวิปริตแปรปรวนไปด้วยเชื่อเป็นผีสางเทวดา จะเอาเป็นหลักฐานมั่นคงก็ไม่ได้ ถ้าพระไตรปิฎกคลาดเคลื่อนไปในเวลานี้ จะหาพระพุทธศาสนายังเจริญมั่นคงถาวรอยู่แต่ในประเทศสยามนี้ประเทศเดียว จึงเป็นเวลาสมควรที่จะสอบสวนพระไตรปิฎกให้ถูกต้องบริบูรณ์ แล้วสร้างขึ้นไว้ให้มากฉบับแพร่หลาย จะได้เป็นหลักฐานเชื้อสายของศาสนาธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าสืบไปภายหน้า

    เพราะฉะนั้นจึงขออาราธนาพระเถรานุเถระและพระสงฆ์ทั้งปวง ให้ปลงใจเห็นแก่การพระพุทธศาสนาแลมีความเมตตากรุณาแก่ชนทั้งปวง ช่วยชำระ สอบสวนพระไตรปิฎกให้ถูกต้องบริบูรณ์ เป็นเครื่องเกื้อกูลแก่ความตั้งมั่นของคำสอนพระพุทธเจ้าสืบไปภายหน้า”


    %E0%B8%A3.5-4.jpg
    ภาพจาก นิตยสาร แพรว ฉบับที่ 748


    ในขณะนั้นพระพุทธศาสนากำลังเผยแผ่เข้าไปในประเทศอังกฤษ นักปราชญ์ผู้สนใจได้ทำการปริวรรตภาษาบาลีด้วยอักษรโรมัน เพื่อให้ชาวตะวันตกศึกษาพระธรรมได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น รัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานพระไตรปิฎกฉบับพิมพ์นี้แก่ประเทศอังกฤษด้วย ดังที่ปรากฏในพระราชดำรัสของพระองค์ครั้งเสด็จนิวัติพระนครจากประพาสยุโรป เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2440 ว่า

    “ในเวลาที่ข้าพเจ้าได้ไปในประเทศทั้งหลาย ก็ได้มีเหตุอันสมควรซึ่งจะนำมาแสดงให้พระเถรานุเถระทั้งปวง ผู้ประกอบด้วยความอุตสาหะช่วยชำระพระไตรปิฎกลงพิมพ์เป็นเล่มสมุดไปแล้วนั้นเป็นที่ยินดีว่า เมื่อข้าพเจ้าไปถึงประเทศใดซึ่งได้รับพระไตรปิฎกฉบับพิมพ์นั้นรักษาไว้ในหอสมุดใหญ่ต่าง ๆ ย่อมมากล่าวสรรเสริญการซึ่งเราได้ทำแลได้ตั้งสมุดไว้ในที่อันงดงามมั่นคงทั่วทุกแห่ง

    มีนักปราชญ์ทั้งหลายได้อุตสาหะเรียนรู้พระพุทธวัจนะมาก กิตติศัพท์ความสรรเสริญธรรมของพระพุทธเจ้าย่อมปรากฏฟุ้งไปในประเทศที่ไกลทั้งหลายมากขึ้นโดยลำดับ ข้าพเจ้าไม่ยืนยันว่า ชนทั้งหลายที่นับถือศาสนาอื่นจะละศาสนาตนกลับมานับถือพระพุทธศาสนาดังชนบางพวกได้ กล่าวเหมือนจะให้เห็นว่าน่าที่จะเป็นเช่นนั้นได้บ้าง แต่ข้าพเจ้าสามารถที่จะกล่าวได้ว่าเมื่อพระพุทธวัจนะแพร่หลาย มีผู้รู้ธรรมะที่แท้จริงย่อมสรรเสริญยกย่องว่า พระพุทธศาสนาเป็นคำสั่งสอนอันดี มีธรรมะที่แท้จริง มิใช่ศาสนาที่เลวทราม…”

    %E0%B8%A3.5-2.jpg

    ภาพจาก www.77kaoded.com

    การที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้ชำระพระไตรปิฎกจากอักษรขอมเป็นอักษรไทย และตีพิมพ์เป็นหนังสือแทนการจารลงใบลาน ทำให้เห็นว่ารัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชประสงค์รักษาพระสัทธรรมให้ดำรงอยู่ และต้องมีความทันสมัยที่สุดในยุคนั้น พระองค์พระราชทานพระไตรปิฎกอักษรไทยฉบับพิมพ์นี้ไปยังพระอารามในประเทศร่วม 500 แห่ง และสถาบันการศึกษาที่สำคัญในต่างประเทศหลายแห่งด้วยกัน นับว่าเป็นการเผยแผ่พระสัทธรรมของพระบรมศาสดาไปยังต่างแดน ประหนึ่งพระธรรมราชที่ทรงกระทำกันมาแต่กาลก่อน ดังเช่น พระเจ้าอโศกมหาราชที่ทรงเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปยังนอกอาณาจักร ด้วยการส่งพระธรรมทูตไปยังบ้านเมืองต่าง ๆ เป็นต้น


    ที่มา : แผ่นดินพระจุลจอมเกล้าฯ โดย ทองต่อ กล้วยไม้ ณ อยุธยา
    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับการศาสนา โดย กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม
    http://kanchanapisek.or.th , http://kanchanapisek.or.th , www.arts.chula.ac.th
    ภาพ : นิตยสาร แพรว ฉบับที่ 748 , www.trueplookpanya.com ,www.77kaoded.com , www.alittlebuddha.com
    ขอบคุณ : https://goodlifeupdate.com/healthy-mind/179964.html
    By nintara1991 , 22 October 2019
    ขอบคุณที่มา http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=27325.0

     

แชร์หน้านี้

Loading...