เรื่องเด่น อานิสงส์ของการปฏิบัติภาวนา

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 20 มิถุนายน 2020.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,245
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,604
    ค่าพลัง:
    +26,455
    BCCB263B-410F-4E7E-AF22-A9EA376EFCED.jpeg

    วันนี้จะขอกล่าวถึงอานิสงส์ของการปฏิบัติภาวนาของเรา การปฏิบัติภาวนานั้นจะว่าไปแล้วความจริงมีพื้นฐานมาจากศีล คือการที่เราตั้งสติระมัดระวังไม่ให้ล่วงสิกขาบทต่าง ๆ ก่อให้เกิดสมาธิขึ้นมาได้ คราวนี้สมาธิที่เราทำนั้น เป้าหมายก็คือความอยู่เย็นเป็นสุขในปัจจุบัน ความเป็นสุขในอนาคต และประโยชน์สุขสูงสุดคือพ้นจากกองทุกข์เข้าสู่พระนิพพาน

    ประโยชน์สุขในปัจจุบันของเราก็คือการที่จิตใจของเราสงบระงับจาก รัก โลภ โกรธ หลง ด้วยอำนาจของสมาธิ ประโยชน์สุขในอนาคต ก็คือ บุคคลที่สมาธิตั้งมั่นทรงตัวเป็นปกติ ย่อมไปเกิดในสุคติโดยเฉพาะเกิดเป็นพรหม ประโยชน์สูงสุดก็คืออาศัยกำลังสมาธิหนุนเสริมปัญญา ให้มีกำลังในการตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหานเข้าสู่พระนิพพานได้

    คราวนี้การที่เราบำเพ็ญภาวนาไปเรื่อยจนกำลังใจทรงตัวได้ ย่อมมีอานิสงส์ส่งไปเกิดในเขตแดนของตนตามลำดับดังนี้คือ ถ้าหากว่าได้ปฐมฌานขั้นหยาบจะไปเกิดเป็นพรหมชั้นที่ ๑ ที่เรียกว่า ปาริสัชชาพรหม ถ้าปฐมฌานขั้นกลางจะได้ไปเกิดเป็นพรหมชั้นที่ ๒ ที่เรียกว่า ปโรหิตาพรหม ถ้าได้ปฐมฌานขั้นละเอียดจะไปเกิดเป็นพรหมชั้นที่ ๓ ที่เรียกว่า มหาพรหม

    ถ้าได้ฌานที่สองอย่างหยาบจะไปเกิดเป็น ปริตตาภาพรหม ถ้าได้ฌานที่สองอย่างกลางจะไปเกิดเป็น อัปปมาณาภาพรหม ถ้าได้ฌานที่สองอย่างละเอียดจะไปเกิดเป็น อาภัสราพรหม

    ถ้าได้ฌานที่สามอย่างหยาบจะไปเกิดเป็น ปริตตสุภาพรหม ถ้าได้ฌานที่สามอย่างกลางจะไปเกิดเป็น อัปปมาณสุภาพรหม ถ้าได้ฌานที่สามอย่างละเอียดจะไปเกิดเป็น สุภกิณหาพรหม

    ถ้าหากว่าได้ฌานที่สี่อย่างหยาบจะไปเกิดเป็น เวหัปผลาพรหม ถ้าได้ฌานสี่อย่างละเอียดจะไปเกิดเป็น อสัญญีสัตตาพรหม ซึ่งพรหมชั้นนี้จะไม่รับรู้อาการภายนอก เพราะว่าสภาพจิตดิ่งลึกอยู่ภายใน บางคนก็เรียกว่า พรหมลูกฟัก ซึ่งในส่วนของฌานสี่นั้น ท่านแบ่งเป็นสองคือหยาบกับละเอียดเท่านั้น

    ลำดับที่สูงขึ้นไปกว่านั้น ถ้าหากว่าจะเกิดเป็นสุทธาวาสพรหม ท่านทั้งหลายต้องเข้าถึงความเป็นพระอนาคามี ก็คือสามารถตัดโลภ ตัดโกรธได้อย่างแน่นอน พระอนาคามีก็ประกอบไปด้วยสุทธาวาสพรหม ๕ ชั้นคือ อวิหาพรหม ๑ อตัปปาพรหม ๑ สุทัสสาพรหม ๑ สุทัสสีพรหม ๑ และ อกนิฏฐพรหม ๑ ซึ่งสุทธาวาสพรหมทั้ง ๕ ชั้นนั้น การเข้าถึงและการทรงอยู่มีความแตกต่างกันไป

    ประกอบไปด้วยอันตราปรินิพพายี ท่านทั้งหลายเหล่านี้จะก้าวล่วงกองทุกข์เข้าสู่พระนิพพานในระหว่างอายุ อย่างเช่น ถ้าหากว่าต้องเกิดอยู่ ๑๐,๐๐๐ มหากัป ในช่วงระหว่างนี้ก็อาจจะไปตั้งแต่ หนึ่งพัน สองพัน สามพัน สี่พัน ห้าพัน ก็ได้ แล้วแต่ว่ากำลังใจของตนเข้าถึงมรรคผลตอนระดับอายุช่วงไหน

    อีกประเภทหนึ่งเรียกว่า อุปหัจจปรินิพพายี เป็นสุทธาวาสพรหมที่จะเข้าสู่พระนิพพานในกึ่งหนึ่งของอายุ สมมติว่ามีอายุ ๒๐,๐๐๐ มหากัป ก็ต้องอยู่อย่างน้อย ๑๐,๐๐๐ มหากัป ปฏิบัติไปจนกระทั่งสภาพจิตหลุดพ้นเข้าสู่พระนิพพานได้ ประเภทที่สามเรียกว่า สสังขาราปรินิพพายี ประเภทนี้ท่านบอกว่าต้องใช้ความเพียรพยายามอย่างมากในการก้าวล่วงกองทุกข์เข้าสู่พระนิพพาน บางท่านบอกว่ามากด้วยวิริยินทรีย์ คือมีความเพียรเป็นใหญ่

    ประเภทที่สี่เรียกว่า อสังขาราปรินิพพายี ก็คือไม่ต้องใช้ความเพียรมากเหมือนประเภทที่สามที่ผ่านมา ส่วนประเภทสุดท้ายท่านเรียก อุทธังโสโตอกนิฏฐคามี ท่านทั้งหลายเหล่านี้ต้องไปตามลำดับจิตของตนทีละขั้น ๆ จนกระทั่งล่วงพ้นจากกองทุกข์เข้าสู่พระนิพพาน ซึ่งท่านอื่น ๆ อาจจะกระโดดข้ามได้ แต่อุทธังโสโตอกนิฏฐคามีจะไม่มีการรวบรัดตัดตอนแบบคนอื่นเขา

    ดังนั้นเราจะเห็นว่าในส่วนของสมาธิภาวนานั้น แม้ได้เพียงปฐมฌานขั้นหยาบ ถ้าอารมณ์ใจทรงตัวจริง ๆ เราก็เกิดเป็นพรหมได้แล้ว คำว่าพรหมก็ต้องประพฤติพรหมจรรย์ คำว่า พรหมจรรย์ หรือ พรหมจริยา ก็คือ แบบอย่างของพรหม คือ การอยู่คนเดียว ปราศจากคู่ เพราะว่าถ้าอารมณ์สมาธิทรงตัว รัก โลภ โกรธ หลง โดนกดดับลงชั่วคราว ความต้องการมีคู่ก็ไม่เกิดขึ้น ดังนั้น...จึงใช้คำว่าพรหมจรรย์คือประพฤติอย่างพรหม อยู่องค์เดียว วิมานหนึ่งมีพรหมองค์เดียว ไม่มีบริวารเหมือนเทวดาต่าง ๆ

    แล้วถ้าหากว่ากำลังสมาธิของเราทรงตัวตั้งมั่นได้มากกว่านั้น สามารถนำไปเสริมปัญญาในการตัดกิเลสเป็นสมุทเฉทปหานเพื่อเข้าสู่พระนิพพาน เพราะว่าส่วนของสมาธิภาวนาเป็นการเพาะสร้างกำลัง เมื่อจิตมีกำลังก็ช่วยปัญญาที่แหลมคมตัดฟันกิเลสให้เด็ดขาดลงไปได้ เพราะว่าสมาธิเป็นกำลัง ปัญญาเป็นอาวุธ กำลังไม่พอ ยกอาวุธไม่ขึ้น ก็ตัดฟันอะไรไม่ได้ มีแต่อาวุธ ไม่มีกำลัง ก็ไม่สามารถจะใช้งานได้เช่นกัน

    ดังนั้น...สมาธิจึงทำให้เราเกิดประโยชน์สุขในปัจจุบันคือจิตใจสงบระงับจาก รัก โลภ โกรธ หลง เกิดประโยชน์สุขในอนาคต คือถ้าอารมณ์ใจทรงตัวปักมั่น สามารถไปเกิดเป็นพรหมชั้นต่าง ๆ ได้ และประโยชน์สูงสุด คือ สามารถตัดกิเลสเป็นสมุทเฉทปหานเข้าสู่พระนิพพานได้ การทำสมาธิของเราถึงเรียกว่าไม่เป็นหมัน แม้ว่าเบื้องต้นเพียงเล็กน้อยก็ยังหนุนเสริมให้เกิดอานิสงส์ดังที่กล่าวมาแล้วในข้างต้น

    ลำดับต่อไปให้ทุกท่านตั้งใจภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี
    วันเสาร์ที่ ๓๐ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๕๙

    ที่มา : www.watthakhanun.com
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...