เรื่องเด่น พระอริยเจ้าผู้ไม่เกิด-ไม่ตายตลอดกาล

ในห้อง 'หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ' ตั้งกระทู้โดย เสขะ บุคคล, 21 กันยายน 2019.

  1. เสขะ บุคคล

    เสขะ บุคคล เป็นที่รู้จักกันดี สมาชิก Premium

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 กรกฎาคม 2008
    โพสต์:
    1,240
    กระทู้เรื่องเด่น:
    54
    ค่าพลัง:
    +4,023
    20645485_790509744444216_6023044002867336637_o.jpg

    รำลึกหลวงปู่บุดดา ถาวโร
    พระอริยเจ้าผู้ไม่เกิด-ไม่ตายตลอดกาล
    รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน



    .......................................


    ผมสังเกตว่า คนที่เกิดมาในโลกมนุษย์นี้ส่วนใหญ่มักจะลืมของดีๆ คนดีๆ เรื่องดีๆ กันง่าย แต่กลับจำแม่นในเรื่องเลวๆ คนเลวๆ และของเลวๆ ได้อย่างไม่ยอมลืม เจอใครก็มักจะเล่าให้ฟังอยู่เสมอ (เพราะกลัวจะลืม) เล่าแล้วเล่าอีก ทั้งๆ ที่ไม่มีประโยชน์และไร้สาระ


    ส่วนพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าและพระอริยสงฆ์ทั้งหลายที่ท่านสอนไว้ ในขณะที่ร่างกายยังมีชีวิตอยู่ สอนแล้วสอนอีก พูดซ้ำแล้วซ้ำอีก พวกเขาซึ่งมาฟังก็ยังจำไม่ได้ หรือจำได้ไม่กี่วันก็ลืม บางคนยังไม่พ้นครึ่งชั่วโมงก็ลืมแล้ว แต่ความชั่ว-ความเลว-ความไม่ดีทั้งหลาย เช่น ข่าวคนทำชั่ว-พูดชั่ว-คิดชั่ว กลับจำแม่นไม่ยอมลืม (มีจิตยินดีด้วยกับกรรมชั่วของผู้อื่น) ยิ่งถูกใครนินทา-ว่าร้าย-กลั่นแกล้ง-ยืมเงินแล้วยังไม่ได้ใช้ด้วยแล้ว จำแม่นเป็นพิเศษ บางคนเป็นสิบๆ ปีแล้วก็ยังจำได้ ผมขอเล่าเรื่องจริงให้ฟังสักเรื่องหนึ่ง ดังนี้


    ที่วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี หลวงพ่อฤๅษี (พระราชพรหมยานมหาเถระ) ท่านจะเทศน์สอนธรรมะ โดยใช้เสียงมาตามสายทุกวัน วันละ ๔ เวลา คือ ตีสี่ (๐๔.๐๐ น.), ๑๐.๐๐ น., ๑๖.๐๐ น. (พระวินัย) และ ๒๑.๐๐ น. (ธรรมะก่อนนอน) วันหนึ่งท่านถามลูกศิษย์ท่านซึ่งเป็นผู้หญิง และเคยเป็นลูกท่านในอดีตชาติ ว่าเมื่อตอนเช้ามืด (๐๔.๐๐ น.) เอ็งฟังข้าสอนหรือเปล่า เธอตอบว่าฟังค่ะ ไหนเล่าให้ข้าฟังหน่อยซิว่าข้าสอนอะไรบ้าง เธอตอบว่าลืมไปแล้วค่ะ หลวงพ่อท่านก็สอนว่า “แหมพระธรรมซึ่งมีคุณค่าสูงสุดในโลกนี้ เอ็งยังลืมได้ลืมดี หากใครมาด่าเอ็ง-นินทาเอ็ง-แกล้งเอ็ง แล้วเอ็งลืมได้เร็วอย่างนี้ก็จะดีไม่น้อย” (อ่านแล้วกรุณาเอาไปคิดพิจารณาด้วย จะเกิดประโยชน์กับตัวท่านเองมาก)


    ผมขอวกเข้าหาเรื่องของหลวงปู่บุดดาเสียที เพราะกลัวจะเผลอไปเขียนเอาเรื่องของหลวงพ่อฤๅษีแทนเข้า ผมจำได้ว่าผมเขียนเรื่อง “หลวงปู่บุดดา ถาวโร (พระสังโฆ อัปปมาโณ)” ไว้ในหนังสือ ๑ ศตวรรษหลวงปู่บุดดา ถาวโร (อนุสรณ์อายุ ๑๐๐ ปีของท่าน) ผมได้ข่าวว่าบทความนี้ทางวิทยุทหารอากาศเขาเอาไปออกอากาศบ่อยๆ (ในขณะนั้น) และมีผู้ที่รวบรวมธรรมะของพระสุปฏิปันโนหลายๆ ท่าน เพื่อพิมพ์จำหน่าย ก็เอาบทความที่ผมเขียนไปลงด้วย บางเล่มลงเกือบทั้งหมด บางเล่มก็ตัดตอนเอาบางส่วนลงก็มี


    มาครั้งนี้ คุณสมใจ บัวพึ่งน้ำ ผู้ที่ยังนึกถึงคุณความดีของหลวงปู่อยู่ไม่รู้ลืม ท่านได้รวบรวมพระธรรมของหลวงปู่ที่ท่านเคยฟังจากหลวงปู่ และมาชวนผมให้ช่วยเขียนเรื่องของหลวงปู่ด้วย ผมก็ตกลง เพราะยังนึกถึงท่านทุกวัน วันละประมาณ ๒-๓ ครั้ง บางครั้งก็ได้รับคำสอนของท่านโดยตรงบ้าง โดยผ่านเพื่อนผู้ที่ปฏิบัติร่วมกันบ้าง เพราะพระที่เข้าสู่นิพพานแล้ว หากท่านมีกรรมผูกพันกับใคร เช่น เคยเป็นลูกหลานท่าน และนึกถึงท่าน ท่านก็จะมาสงเคราะห์ผู้นั้นทันที (จิตถึงจิต เพราะจิตไม่มีเวลา เป็นอกาลิโก)


    ดังนั้น การสนทนาธรรมกันกับกัลยาณมิตรกัลยาณธรรม จึงได้ประโยชน์อย่างยิ่ง ผมจึงได้บันทึกคำสั่งสอนของหลวงปู่ไว้ตลอดมา จนถึงปัจจุบันก็ยังบันทึกอยู่เพราะผมถือว่า “สิ่งที่มีค่าสูงสุดในโลกคือพระธรรม” และหลวงปู่ท่านไม่ตาย หมายความว่า “ความดีหรือพระธรรมไม่ตาย หรือจิตหรืออาทิสมานกายของท่านไม่ตาย” (กายของจิตเรียกว่า อาทิสมานกาย พระองค์ทรงเรียกว่ารูปในนาม) ความจริงแล้วจิตของทุกๆ คนเป็นอมตะไม่เคยตาย สิ่งที่ตายคือร่างกายหรือขันธ์ ๕ ที่เรามาขออาศัยเขาอยู่ชั่วคราวเท่านั้นที่ตาย แต่คนส่วนใหญ่เข้าใจผิด ไปคิดว่าร่างกายหรือขันธ์ ๕ เป็นเรา เป็นของเรา หากยังหลงคิดผิดอยู่อย่างนี้ การหลุดพ้นจากอำนาจของกิเลส-ตัณหา-อุปาทาน และอกุศลกรรม ก็ยังทำไม่ได้ ยังต้องเกิด-ตายๆ กันต่อไป


    ดังนั้น การเขียนของผมบางคนอ่านแล้วอาจจะสงสัย เพราะไม่เข้าใจธรรมะในจุดนี้ และหากสงสัยก็ควรจะได้อ่านเรื่องที่ผมเขียน “หลวงปู่บุดดา ถาวโร (พระสังโฆ อัปปมาโณ)” ก่อน จึงจะช่วยคลายความสงสัยลงได้ ผมเลือกเอาเฉพาะบางตอนที่ผมเห็นว่าสมควรจะเปิดเผยและมีประโยชน์กับผู้อ่านเท่านั้น

    .......................................


    b44.gif : เรื่องแรก b8.gif
    “เหม็นภายนอกกับเหม็นภายใน”



    ท่านสอนลูกสาวในอดีตชาติของท่าน เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๐ ม.ค. ๓๖ เวลาประมาณ ๑๗.๔๕ น. มีความสำคัญดังนี้


    ๑. “ทุกข์บางอย่างก็ละได้ ทุกข์บางอย่างก็ละไม่ได้ ทุกข์ของกายเกิดก็ละไม่ได้ ต้องหาทางระงับ หรือดับมันไปตามเรื่องตามราว ส่วนทุกข์ของจิตนั้นละได้นะ” (เหตุเพราะขณะนั้นลูกสาวท่านกำลังนั่งขับถ่ายอยู่ ซึ่งเป็นทุกข์ของกาย)


    ๒. ท่านถามว่า “ถุงเท้า-เสื้อ-ผ้าที่ใช้แล้วยังไม่ได้ซัก เหม็นไหม?”

    ตอบ เหม็นค่ะ

    ท่านถามว่า “แล้วขี้ เยี่ยว เหม็นไหม”

    ตอบ เหม็นค่ะ

    ท่านถามว่า “เสื้อผ้าที่ยังไม่ได้ซัก กับขี้เยี่ยวที่อยู่ข้างในอันไหนเหม็นกว่ากัน”

    ตอบ ข้างในเหม็นกว่าค่ะ

    ท่านถามว่า “แล้วไอ้ขี้ที่อยู่ข้างนอก ตั้งแต่หัวจดเท้าลงมาเหม็นไหม แล้วซักได้ไหม”

    ตอบ ซักได้ชั่วคราวค่ะ

    ท่านถามว่า “แล้วร่างกายมันมีดีตรงไหน”

    ตอบ ไม่มีดีเลยค่ะ

    ในเมื่อกายไม่ดีเหม็นขี้ทั้งตัว แก้ไขระงับได้ชั่วคราว โดยอาศัยความโง่ที่เราไปหลงเกาะติดกาย ทำให้เกิดมาเป็นตัวเป็นตน ทุกข์ของกายอย่างนี้แก้ไขให้หายเด็ดขาดไม่ได้ จนกว่ากายจะตายไป

    ๓. ท่านถามว่า “แล้วปาก-วาจาของเอ็งเหม็นไหม”

    ตอบ ยังเหม็นอยู่ค่ะ

    ท่านถามว่า “แล้วจิตของเอ็งเหม็นไหม”

    ตอบ ยังเหม็นอยู่ค่ะ

    “นั่นน่ะซิ ถ้าจิตเหม็นเสียอย่างเดียว วาจาก็เหม็นด้วย ถ้าเอ็งหมั่นชำระจิตให้หายเหม็น วาจาก็หายเหม็นได้ ส่วนกายนั้นแก้ไม่ได้ มีแต่ขี้ทั้งนั้น จิตนั้นแก้ได้ต้องแก้ที่จิต ทุกข์-สุข-เกิด-ดับ ต้องแก้ที่ตรงจิตนี้ สิ้นทุกข์-สุข รู้เกิดดับเมื่อไหร่จิตก็หายเหม็นเมื่อนั้น”


    ๔. “อย่ามัวแต่ท่องจำ ศีล-สมาธิ-ปัญญาๆ ๆ แบบนกแก้วนกขุนทองนั้นแก้ไม่ได้ หากจะแก้ให้ได้จริง จะต้องรู้ว่า ศีลคืออะไร สมาธิคืออะไร ปัญญาคืออะไร”


    ๕. “แล้วไอ้ประเภทที่รู้ว่าศีล-สมาธิ-ปัญญาคืออะไร แต่ดันเอามือหรือจิตไปซุกหีบ กูไม่ทำ กูไม่เพียร ตัวเหม็นก็หายไปจากจิต-จากวาจาไม่ได้ รู้แล้วต้องหมั่นทำ หมั่นเพียรด้วย ตัวเหม็นมันจึงจักหายไปจากจิตจากวาจาได้”

    .......................................


    b44.gif : เรื่องที่ ๒ b8.gif
    “การวางเฉย หรืออุเบกขา หรือการปล่อยวาง”
    (๒๘ ม.ค. ๓๖ ตอนใกล้ ๐๔.๐๐ น.)



    ลูกสาวในอดีตของท่านกำลังคิดว่า ขณะนี้เรากำลังถูกคนทำคุณไสย แต่ก็ทำอะไรเราไม่ได้ หากเราพบบุคคลเหล่านั้นอีก เราจะไม่ปรุงแต่งจิตของเรา แม้เขาจะมุ่งประทุษร้าย เราก็จะปล่อยวางหรือวางเฉยจะดีไหม คิดเพียงแค่นี้ หลวงปู่บุดดาท่านก็มาแล้วสอน มีความว่า


    ๑. “เฉยอย่างนั้นก็โง่นะซิ บางอย่างต้องต่อสู้ แก้ได้ต้องแก้ไป ไม่ใช่เขาใช้ให้ไปตายก็ยอมไปตายแหงแก๋ สิ่งที่ให้วางเฉย ก็คือ กิเลสที่มากระทบอายตนะ ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตัวธรรมล้วนๆ คือ ไม่ปรุงแต่งในธรรมที่เข้ามากระทบสัมผัสนั้นๆ เช่น ใครคิดร้ายต่อเราก็ช่างเขา แต่ถ้าถึงขั้นเอาไม้หวดตีกายเรา ถ้าเรารู้จักเมตตาตัวเองก็ต้องหลบซิ เพราะถ้าให้เขาตีกายเรา จิตเราอาศัยมันอยู่ก็ต้องเจ็บไปด้วย แต่ถ้าเขาแค่คิดยังไม่ได้ทำ ก็กรรมของเขา เขาทำแล้วเราหลบ เราแก้ไข ไม่ได้ต่อกร ก็กรรมของเขาอีกนั่นแหละ มันคนละกรรมกัน อย่าไปยุ่งให้จิตวุ่นวาย”


    ๒. “กรรมใครกรรมมันนะอย่าลืม ใครเขาอยากจะตีให้เขาตีไป เราหลบได้เราหลบ หลบอยู่ในธรรม” ธรรมะของพระพุทธเจ้า ไม่มีตัวมีตน หลบพ้นนะลูก ถ้าหลบไม่พ้นก็ให้รับอย่างพระโมคคัลลานะ รับอย่างคนฉลาด อย่ารับอย่างโง่ๆ รับแล้วไปนิพพาน คือ รับด้วยจิตผ่องใสบริสุทธิ์ ไม่ใช่รับด้วยความขัดข้องหมองใจ จิตไม่บริสุทธิ์ การไปของจิตก็บริสุทธิ์ไม่ได้ อย่ารับอย่างคนโง่เพราะมีอบายภูมิ ๔ เป็นที่ไป


    ๓. “เรามันประกาศตัวเป็นลูกพระพุทธเจ้าแล้ว ต้องเชื่อท่านซิ” เชื่อพระพุทธ-พระธรรม-พระอริยสงฆ์ ท่านว่าอย่างไร เราก็ว่าอย่างนั้นจึงจะได้ดี จึงจะไปพระนิพพานได้ตามท่าน


    .......................................


    b44.gif : เรื่องที่ ๓ b8.gif
    “กายสังขารเคลื่อนได้ แต่จิตสังขารอย่าเคลื่อน”
    (๒๙ ม.ค. ๓๖ ตอนเช้ามืด)



    ลูกสาวในอดีตของท่านกำลังกวาดวัดตอนเช้ามืด แต่จิตก็พิจารณาธรรมะไปด้วย โดยยกเอาการปฏิบัติธรรมของตน (นั่งทำกรรมฐาน) ในคืนวันนั้นมาพิจารณา แล้วนึกชมตัวเองว่า วันนี้เราสามารถปฏิบัติธรรมได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่เคยทำได้มาก่อน กายนั่งอยู่กับที่แต่ต้องขยับหลายครั้ง คิดถึงจุดนี้หลวงปู่ท่านก็มาสอน มีความว่า


    ๑. “เมื่อยก็เมื่อยซี กายสังขารมันมีอยู่ จะไม่ขยับได้อย่างไร จิตสังขารซีอย่าเคลื่อน เพลิดเพลินในธรรมเข้าไว้ กายสังขารปวดเมื่อย-ขบก็ต้องเคลื่อนเป็นธรรมดา อย่าฝืนทุกข์ของกายสังขาร นั่งนานๆ ง่อยมันจะกินเอา ยืนนานๆ ตะคริวมันก็กินขา เดินนานๆ ก็เมื่อยหมดกำลัง นอนนานๆ อัมพาตจะกินเอา”


    ๒. “อย่าทำกรรมฐานแบบโง่ๆ พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้ฝืนกายสังขาร เพราะเป็นการเบียดเบียนตนเอง บรรลุมรรคผลได้ยาก สู้ครบอิริยาบถ ๔ ไม่ได้ แล้วมิใช่ครบอิริยาบถ ๔ อย่างโง่ๆ นะ ถ้าครบ ๔ แบบโง่ๆ มรรคผลนิพพานก็ไม่ได้เหมือนกัน มัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลางเท่านั้นที่จะบรรลุได้ บรรลุพอดีในทางสายกลาง บรรลุธรรมที่ปัจจุบัน จะบรรลุระดับไหน ก็ต้องใช้ทางสายกลางในธรรมปัจจุบันพอดีๆ เอาความดีเป็นที่ตั้ง”


    ๓. “การปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน ขณะปัจจุบันได้เท่านี้ก็พอดีเท่านี้ ปฏิบัติแล้วปฏิบัติอีกก็ได้ในธรรมปัจจุบันนั้นแหละ บริโภคธรรมอย่างพอดี บริโภคแล้วบริโภคอีกในธรรมปัจจุบันไปจนกว่าจะอิ่ม คือ เต็มขั้น กายสังขารแตกดับ จิตก็เข้า แดนอมตะนฤพาน เอ็งเข้าใจนะ อย่าทำกรรมฐานโง่ๆ พระพุทธเจ้าท่านไม่ชอบให้ลูกๆ ท่านเดินทางผิด ทำกรรมฐานอย่างไร้ปัญญา เข้าใจไหม”


    ๔. เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใด ขอให้จิตอยู่ในความสงบ อยู่ในอารมณ์พระกรรมฐานก็แล้วกัน แยกกายสังขารให้เป็น แยกจิตสังขารให้เป็น วางเฉยให้อยู่ในอารมณ์สังขารุเบกขาญาณ คือ ทุกข์กายต้องระงับ แต่จิตไม่เกาะติดอยู่กับมัน ยอมรับสภาวะทุกข์ของกายโดยดุษฏี บอกมันไว้เสมอๆ ว่า “มึงตายเมื่อไหร่ กูสบายเมื่อนั้น”


    ๕ “สำหรับจิตสังขาร เรามีเอาไว้ปฏิบัติธรรมคนฉลาดที่เจริญพระกรรมฐานเป็น เจริญแบบพระพุทธเจ้า แบบพระธรรม แบบพระอริยสงฆ์ คือ จิตสังขารจะกระทบเข้ากับอะไรตลอด ๒๔ ชั่วโมง หรือทุกๆ ขณะจิตที่กระทบ จะเป็นสัตว์ คน วัตถุธาตุใดๆ หรือ พรหม เทวดา นิพพาน โลกธรรม ๘ อบายภูมิ ๔ เขาจะนำมาพิจารณา หรือเอาสิ่งสัมผัสนั้นๆ มาเป็นพระกรรมฐานหมด แล้วใช้ปัญญาแยกออกได้ว่า สาระที่กระทบนี้เป็นธรรมใด เช่น มนุษยธรรม เทวธรรม พรหมธรรม โลกียธรรม หรือโลกุตรธรรมตลอดเวลา คนฉลาดเจริญกรรมฐานเป็น เขาเห็นทุกสิ่งทุกอย่างที่กระทบจิตทั้งหมดนั้นเป็นธรรม นี่แหละเอ็งจงจำไว้ นักเจริญกรรมฐานจะต้องอยู่ในธรรมอย่างนี้ตลอดเวลา และต้องทำให้ชินจนแยกแยะออกได้ว่า สาระธรรมใดควรเก็บ สาระธรรมใดควรละ อันนี้ทำแล้วจิตติดสมมุติ อันนี้ทำแล้วจิตพ้นสมมุติ เขาทำกรรมฐานกันอย่างไม่หลงลืมสติว่าทำเพื่อจุดประสงค์อะไร”


    ๖. “พระพุทธเจ้าท่านต้องการสอนนักเจริญกรรมฐาน เพื่อวิมุติ คือ หลุดพ้นจากกิเลส เพื่อเข้าถึงแดนอมตะนฤพานจุดเดียวนะจำไว้”


    .......................................


    b44.gif : เรื่องที่ ๔ b8.gif
    “อย่าเอาอดีตมาเป็นปัจจุบัน ให้อยู่ในธรรมปัจจุบัน”
    (๒๙ ม.ค. ๓๖ ตอนเย็น)



    ขณะที่ลูกสาวในอดีตของท่านกำลังหั่นผัก เพื่อจะใส่ในปลา เห็นผักเหี่ยวๆ ตอนปลายๆ ใบ จะหั่นทิ้งก็เสียดาย จึงคิดว่าสมัยก่อนเราเคยเป็นเป็ด ก็กินผักเน่าๆ ที่เขาทิ้งไว้ คิดเท่านี้ หลวงปู่ท่านก็มาสอน มีความว่า


    ๑. “อย่าคิดโง่ๆ ต้องอยู่ในตัวธรรมปัจจุบันชาติก่อนน่ะ เป็นเป็ดก็กินอย่างเป็ดซิ ชาตินี้เป็นคนก็ต้องกินแบบคน เบียดเบียนตนเองได้อย่างไร อีกหน่อยมิคิดว่าชาติก่อนเป็นควาย มิกินหญ้าได้เรอะ หรืออดเข้ามากๆ เห็นขี้กองอยู่ จะคิดว่าตัวเองเคยเกิดเป็นหมากินขี้ แล้วมันกินได้หรือเปล่าล่ะ มันต้องอยู่ในธรรมปัจจุบัน ทำอะไร คิดอะไร ต้องอยู่ในตัวธรรมปัจจุบันหมด ต้องใช้ปัญญาด้วย กินก็ต้องกินอย่างคนอยู่อย่างคน จะไปกินอย่างสัตว์ได้อย่างไร อย่าไปติดอดีตซิ สภาวะธรรมนั้นมันผ่านมาแล้ว มันเป็นอดีต ก็ต้องให้มันเลยไป จะไปยึดมันไว้ทำไม ดูปัจจุบันเข้าไว้จะได้อยู่เป็นสุข กินก็เป็นสุข แล้วอย่าไปคิดตำหนิพระรัฐปาละเถระท่านเข้าล่ะ”


    ๒. “พระรัฐปาละท่านเป็นพระอรหันต์ การไปบ้านที่ชนบท เป็นพระแล้วใช่ว่าหิวแล้วจะหยิบจะซื้อของเขากินได้ตามใจได้ที่ไหน ร้านค้าอาหารก็ไม่มี ได้เวลาแล้วกายสังขารท่านเกิดเวทนา ไม่ให้กินก็เบียดเบียนตนเองซิ จะไปบิณฑบาตที่ไหนก็ไม่ทันกาล จะไปขอเขาหรือ ก็เขาไม่ใช่โยมอุปัฎฐาก สุดท้ายก็เห็นคนใช้ในบ้านโยมบิดา-มารดาของตน ถือเศษอาหารจะมาเททิ้ง นี่บ้านโยมพ่อ-โยมแม่ขอได้ ขอเศษอาหารนั้นมาบริโภค เรื่องติดรูปติดรสท่านไม่มี การฉันอาหารของท่านเพื่อบริหารกายสังขารไม่ให้ทุกข์เท่านั้น นี่คือปัญญาพระอรหันต์นะ ท่านพิจารณาแล้วไม่เบียดเบียนตนเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น และไม่เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น เอากับท่านซิ”


    ๓. “เพราะฉะนั้นเอ็งต้องเข้าใจ อยู่กับธรรมปัจจุบันให้มากๆ จึงจะอยู่ในทางสายกลางหรือทางพอดีๆ ของพระพุทธเจ้าท่าน เมตตาตัวเองให้มากๆ นะลูก”


    b44.gif : เรื่องที่ ๕ b8.gif
    “กายป่วย แต่จิตไม่ป่วย และเรื่องการกินอาหาร”
    (๙ ก.พ. ๓๖ เวลาประมาณ ๑๔.๐๐ น.)



    .......................................


    ลูกสาวในอดีตของท่าน ทราบข่าวว่าหลวงปู่ท่านป่วย จิตก็วิตกและกังวลเป็นห่วงร่างกายของท่าน และท่านก็มีอายุมากแล้ว คิดเท่านี้หลวงปู่ท่านก็มาสอนมีความว่า


    ๑. “ใครบอกเอ็งว่าข้าป่วย เปลือกข้ามันป่วยต่างหากล่ะ มันเป็นธรรมดาของคนที่มีเปลือก ต้องเกิด ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายเป็นธรรมดา เรื่องเปลือกของข้า เอ็งจงอย่าสนใจ จะคิดถึงอย่างไรก็ขึ้นกราบพระ (บนพระนิพพาน) มากราบตัวจริงของข้าดีกว่า พูดคุยกันได้ด้วย ดีกว่าคิดที่จะไปกราบเปลือก แล้วเปลือกมันเวลานี้ ข้าจะบังคับมันให้อ้าปากสักทีมันก็ยังไม่อยากจะตามใจข้าเลย ในที่สุดข้าเลยตามใจมัน มันจะเอาอย่างไรก็ตามใจมัน มันจะอยู่ มันจะพัง ก็เรื่องของมัน นานโขแล้วที่เปลือกมันจองจำข้าไว้ เอ็งอย่าคิดว่า แค่เพียงชาตินี้ชาติเดียว ไม่รู้ตั้งกี่แสนอสงไขยกัปที่เปลือกเหล่านี้มันจองจำข้าไว้ มาชาตินี้แหละ ที่ข้าได้ปฏิบัติธรรมขององค์สมเด็จพระพุทธชินสีห์ให้กระจ่าง จนหลุดพ้นออกจากเปลือกนี้ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าหากมันจะพังหรือจะอยู่ก็เรื่องของมัน พวกเอ็งอย่าไปสนใจ สนใจแต่วิธีที่พระท่านชี้ให ้เห็นทางหลุดพ้นจากเปลือกวัฏจักรที่หมุนวนนี้ดีกว่า”


    ๒. “เอ็งอย่าไปตำหนิกรรมเรื่องการกินอาหารของผู้อื่น ว่าเขาต้องกินข้าวร้อนๆ อาหารกินซ้ำๆ เขาก็ไม่อยากจะกิน เรื่องอาหารเป็นอุปาทานของใครของมัน เอ็งไปว่าเขาติดอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วตัวเอ็งมันติดหรือเปล่า ให้เลิกสร้างกรรมนี้เสีย ต่อไปอย่าไปสนใจ ตัวใครตัวมัน กรรมใครกรรมมัน เวลาเอ็งกินอาหาร เคยคิดหรือเปล่าว่ามันอร่อย แล้วมันอร่อยที่ไหน (ตอบว่าที่ลิ้น) นั่นซิ อ้ายจิตระยำมันไม่ยอมปล่อยให้ลิ้นทำงานอย่างเดียว เลือกเอารสอร่อยนั้นมาปรุงแต่งเสียอีก จริงๆ แล้ว พระพุทธเจ้าท่านต้องการให้กำหนดรู้เวทนาของกาย รู้แค่ว่าคุณหรือโทษของอาหารที่บริโภคเข้าไปเท่านั้น เพราะหลักความเป็นจริงแล้ว อาหารมันเป็นของสกปรกทั้งสิ้น อีกทั้งหาความทรงตัวไม่ได้ ขอให้ใช้ปัญญาพิจารณาดู”


    ๓. “การหิวอาหารมันเป็นเวทนาของกาย การกินอาหารรสใด ก็ต้องพิจารณาดูว่าเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ร่างกายก่อน กินแล้วเบียดเบียนกายของตนหรือเปล่า กายเหมือนบ้าน กระเพาะเหมือนยุ้งฉางที่เก็บอาหาร ถ้าเอาไฟร้อนๆ เช่น อาหารเผ็ดจัดๆ เข้าไป ยุ้งมันจะทะลุหรือเปล่า นี่เป็นคุณ-โทษของอาหาร ที่พระพุทธเจ้าท่านต้องการให้พิจารณา”


    ๔. “เวทนาของกายต้องหมั่นเรียนรู้ แล้วแยกมันให้ได้จากเวทนาของจิต ระหว่างที่กินอาหารถามจิตดูว่า อร่อยตามลิ้นหรือเปล่า ถ้าอร่อยก็รับรู้ว่าอร่อยแล้วเฉย ไม่มีปรุงแต่ให้เกิดอุปาทานกันต่อไปอีกว่าต้องการบริโภคมากๆ ก็ใช้ได้ แค่ใช้ได้ไม่ใช่ว่าดี ดีนั้นต้องถามจิตต่อไปว่า บริโภคตามความอร่อยแล้ว ความเหมาะสมแห่งเวทนาของกายนั้นอยู่ตรงไหน กินมากไป ยุ้งฉางมันจะแตกหรือเปล่า อึดอัดไหม มีอารมณ์เสียดายเกิดขึ้นกับจิตไหม ที่บริโภคอาหารอร่อยๆ นั้น ไม่หมด ถามมันต่อไปเรื่อยๆ จิตมันก็จะหาคำตอบในธรรมปฏิบัติเกี่ยวกับการบริโภคอาหารได้ในที่สุด”


    ๕. “จงอย่ากลัวความสกปรก เพราะทุกสิ่งทุกอย่างในขันธ์ ๕ เกิดมาจากความสกปรกทั้งหมด อาหาเรปฏิกูลสัญญา คือ หาความสกปรกของอาหารให้พบ ยอมรับความสกปรกอันเป็นพื้นฐานแห่งชีวิตของมนุษย์โลกนี้ แห่งธาตุขันธ์ในโลกนี้ เราล้วนอยู่ในความสกปรกเหล่านี้ทั้งสิ้น มันเป็นธรรมดาของโลก พวกเอ็งต้องหาความธรรมดาแห่งความสกปรกนี้ให้พบ เมื่อนั้นจิตของพวกเอ็งจักคลายจากราคะและปฏิฆะลงได้อย่างสิ้นเชิง”


    .......................................


    b44.gif : เรื่องที่ ๖ b8.gif
    “ธรรมพอดีของหลวงปู่บุดดา”
    (๒๘ มี.ค. ๓๖)



    เมื่อนึกถึงธรรมพอดีของหลวงปู่ หลวงปู่ท่านก็มาสอน มีความว่า


    ๑. “อะไรที่ทำให้เราต้องกระทบ ไม่ว่าทางโลกหรือทางธรรม มันล้วนแต่กฎของกรรมทั้งนั้น ไปพบชาวโลก เขาด่า เขานินทา เขาสรรเสริญ เขาใช้เราทำโน่นทำนี่ ก็ต้องถือว่าพบพอดี เราทำเขาไว้ก่อน ถ้าไม่ทำไม่เจอหรอก พอดีอย่างนั้น ”


    ๒. “บารมีธรรมก็เหมือนกัน ถ้าไม่สั่งสมกันมา มันก็ไม่เจอพอดีเหมือนกัน ค้นให้ตายก็ไม่พอดีสักที ทีนี้ถ้าสั่งสมกันมาก็เจอพอดี อยู่ที่พวกเอ็งไปค้นกันให้ดีๆ ถ้าพบพอดีเมื่อไหร่สบายเมื่อนั้น”


    ๓. “ที่สำคัญคือดูให้มันพอดีกับอารมณ์ความต้องการของจิตเรา ที่แสวงหาวิโมกขธรรม (ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น) และพอดีกับความไม่เบียดเบียนร่างกาย คือ ไม่ตึง-ไม่หย่อนจนเกินไป หาให้เจอนะในจิตกับในกายของตนเองนี่ อย่าไปเที่ยวส่งจิตออกไปหาที่อื่น มันจะยุ่ง เพียรให้ตายแล้วตายอีกก็ไม่ได้ผล ”


    ๔. หลวงพ่อฤๅษีกับหลวงปู่บุดดาท่านสำทับว่า “พระท่าน หลวงปู่ หลวงพ่อหลายๆ องค์ เมตตาพวกเอ็งถึงปานนี้ ต้องรีบขยันหมั่นเพียรโจทย์จิตตนเองเข้าไว้ ให้ละความชั่วให้ได้เร็วไว โกรธ โลภ หลง พยายามเขี่ยมันออกไปให้ได้มากที่สุด ผลของการปฏิบัติของพวกเอ็งนี่แหละ คือการตอบแทนความเมตตาของพระท่าน หลวงปู่ หลวงพ่อทั้งหลาย”


    .......................................


    b44.gif : เรื่องที่ ๗ b8.gif
    “หลวงปู่แสดงธรรมเงียบๆ ให้หมอดู”
    (วันเวลามีอยู่เพราะบันทึกไว้ แต่ยังหาไม่พบ)



    ที่วัดท่าซุง เดือนเมษายน ๓๖ ผมได้เล่าเรื่องนี้ให้ลูกสาวในอดีตของหลวงปู่ฟัง มีความโดยย่อว่า วันหนึ่งคุณปาน (ดร.ชาลินี เนียมสกุล) โทรศัพท์มาหาผมให้ไปที่บ้านท่าน เพราะท่านนิมนต์หลวงปู่บุดดามา ผมก็รีบไป พบผู้ที่เคารพในองค์หลวงปู่อยู่กันมาก แต่มีกลุ่มหนึ่งกำลังถามปัญหาธรรมกับหลวงปู่อยู่ ผมก็เข้าไปกราบท่าน แล้วร่วมวงสนทนาธรรมด้วย ขณะที่ท่านกำลังสอนธรรมที่นำไปสู่ความพ้นทุกข์ขั้นแรกอยู่ (อารมณ์พระโสดาบัน) แต่ยังอธิบายไม่จบก็มีบุคคลท่านหนึ่ง ซึ่งนั่งอยู่ใกล้ท่านที่สุด สอดถามปัญหาขึ้นมากลางวง ผมได้ยินชัดเจนว่า ปัญหาที่เขาถามนั้นก็คือ ปัญหาที่หลวงปู่ท่านกำลังอธิบายอยู่นั่นเอง แสดงว่าที่หลวงปู่ท่านพูดมาตั้งนานนั้น เขามิได้สนใจรับฟังเลย พอท่านอธิบายไปจวนจะจบอยู่แล้ว (เรื่องการตัดสังโยชน์ข้อ ๑-๒ และ ๓) ทุกคนสะดุ้งและหันไปมองผู้ถามกันเป็นจุดเดียว ผมสังเกตดูหลวงปู่ว่าท่านจะทำอย่างไรกับผู้นั้น ท่านเงียบ ไม่พูดไปนานพอสมควร และหันหน้าไปทางอื่นเสีย ผมก็นึกในใจว่า หลวงปู่ท่านเมตตาสูงมาก ที่เห็นแล้วทำเป็นเหมือนไม่เห็น ได้ยินก็ทำเป็นเหมือนไม่ได้ยิน เพื่อไม่ให้ผู้ถามมีบาปอกุศลสูง (ปรามาสพระรัตนตรัย) ท่านจึงแสดงธรรมเงียบๆ เรื่องบอดเสียบ้าง-หนวกเสียบ้าง-ใบ้เสียบ้าง แล้วจิตจะเป็นสุข ลูกสาวท่านก็นึกถึงท่าน (หลวงปู่บุดดา) ท่านก็มาสอนมีความว่า


    ๑. “นั่นแหละต้องทำอย่างนั้น ตาเราเห็นรูป รู้ หูได้ยินเสียง รู้ แต่แกล้งทำเป็นไม่เห็น ไม่รู้ หูได้ยินเสียง แต่แกล้งเป็นไม่ได้ยิน จิตมันไวมันรู้ แต่ก็เห็นสิ่งที่ไม่เป็นสาระอยู่ในตัวของมันเสร็จ”


    ๒. “จิตของผู้ฝึกดีแล้ว จะรายงานบอกตัวเองเสร็จสรรพ ว่าสิ่งไหนควรรู้ สิ่งไหนไม่ควรรู้ อาการเก็บสิ่งสัมผัสส่งเดช ไม่มีในจิตของท่านผู้รู้ อย่าไปคิดนะว่า จิตของท่านไม่มีความรู้สึก ยิ่งฝึกจิตดีเท่าไหร่ อะไรมากระทบสัมผัส ยิ่งรู้สึกได้ดีและแม่นยำปานนั้น หากแต่จิตของท่านละเอียด สามารถแยกธรรมที่เป็นสาระ ออกจากธรรมที่ไม่เป็นสาระ ออกจากกันได้”


    ๓. “เอ็งจงดูและศึกษาปฏิปทาของท่านผู้รู้ว่าเป็นอย่างไร จิตจึงจักเป็นผู้รู้ได้ การสำรวมอายตนะ ๖ จุดสำคัญ คือ สำรวมที่จิต ทำจิตให้สงบด้วยอานาปานัสสติ ระงับนิวรณ์ ๕ ประการ ก็คือระงับความปรุงแต่งของจิต ไม่ให้ไหวไปตามอายตนะสัมผัสทั้งปวง”


    ๔. “การเกิดของนิวรณ์ ๕ บางกรณีก็เกิดจากกิเลสมาร บางกรณีก็เกิดจากขันธมาร นิวรณ์ ๕ เข้ามาได้เพราะอายตนะสัมผัสทั้ง ๖ ประตูนั่นแหละ ท่านผู้รู้ท่านสำรวมอายตนะอย่างนี้ เจ้าก็จงหมั่นสำรวมอายตนะตาม จึงจะเอาดีได้ ต้องตั้งใจจริงๆ พูดจริง ทำจริง เอาบารมี ๑๐ ยันเข้าไว้ เอาอิทธิบาท ๔ ใคร่ครวญเข้าไว้”


    ๕. “อยากจะพ้นจากร่างกาย ที่เต็มไปด้วยความทุกข์แห่งอายตนะสัมผัสนี้ ก็ต้องมีความละอาย คือ มีหิริโอตตัปปะที่จะไม่เที่ยวปล่อยจิตให้ยึดมั่นในอายตนะสัมผัสอย่างไม่มีเหตุผล และสาระของชาวโลกอย่างปกติโลกียวิสัย และจิตต้องกอปรไปด้วยพรหมวิหาร ๔ รักเมตตา กรุณาสงสารตนเอง มุทิตา มีจิตอ่อนโยน ถ้ากระด้างกระเดื่องถือดีในร่างกาย หรือติดในอายตนะสัมผัส ทำอารมณ์ให้เกิดพอใจ-ไม่พอใจ ก็ต้องกลับมาเกิดวนอยู่ในวัฏฏสงสารอีก มีอุเบกขา คือ วางเฉยในอายตนะสัมผัสนั้นๆ”


    ๖. “จิตไหวนั้นต้องไหวแน่ เพราะวิญญาณหรือความรู้สึกของประสาทจะรายงานให้ทราบ แต่เมื่ออารมณ์รู้สึกมันทราบ แล้วก็ต้องลงตัวธรรมดา จิตที่ยังไม่ได้ฝึกมักจะลงตัวธรรมด่า หรือไหวลิงโลดยินดีไปในโลกียสัมผัสนั้นๆ ต่างกับจิตของผู้ฝึกดีแล้ว อะไรมันกระทบก็พอดีธรรมดาหมด ก็เลยหมดเรื่องกัน”


    ๗. ลูกสาวท่านนึกว่า ฟังหลวงปู่อธิบายแล้วสบายใจ คำสอนของท่านง่ายจริงๆ ท่านก็ตอบว่า “ง่ายเฉพาะผู้ให้แล้ว ผู้รู้ ฝึกจิตดีแล้ว อย่างเอ็งอย่าเพิ่งนึกว่าง่าย แต่ก็อย่าเพิ่งนึกว่ายาก ให้ลองๆ ทำความเพียรไปก่อน อย่าท้อถอย พยายามเข้า ประเดี๋ยวก็เพลิดเพลินสนุกไปเอง ทำการฝึกจิต อย่าทำแบบคนหงอยเหงา ผลมันจะไม่เกิด ต้องทำแบบกระฉับกระเฉง กิเลสมันจะได้กลัว เอ็งเคยเห็นหมาที่มันจะถูกฝูงอื่นรุมไหม ถ้ามัวแต่หงอก็จะถูกรุมกัดตาย แต่ถ้ามันไม่หงอ เอาจริงเอาจัง แยกเขี้ยวขู่คำรามแฮ่ๆ ตัวอื่นก็ชักแหย ไม่กล้าเข้ารุมกัด กิเลสก็เหมือนกัน มันรุมกัดเราอยู่ทุกทิศทุกทางของอายตนะสัมผัสนั้นๆ ถ้าจิตเรามัวแต่หงอ เหงาหงอย กิเลสมันก็รุมกัดตาย แต่ถ้าจิตเรารู้ ไม่หงอ เอาจริงเอาจัง คอยดูกิเลสเข้าทางไหน คอยฟัดดักกิเลสทางนั้น กิเลสมันก็ไม่กล้าเข้ามายุ่งกับจิตเราเหมือนกัน”


    ๘. “จิตสดใสร่าเริ่งในธรรม คือ จิตที่มีกำลัง คือ จิตที่ผ่องใส ตามคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า เอ็งต้องลงตัวธรรมดาให้ได้ และทำจิตให้เป็นธรรมดาของโลกุตระวิสัยให้ได้ จิตเอ็งถึงจะร่าเริงสดใสในธรรมนั้นๆ ได้ อย่าลืมเอาจิตอยู่กับกาย เอากายอยู่กับจิตให้มากๆ”


    ผมขอจบพระธรรมคำสอนของหลวงปู่บุดดาไว้เพียงแค่นี้ก่อน เพราะกลัวว่ามันจะเกินพอดี หากชีวิตยังอยู่และโอกาสมี ก็อาจจะได้เขียนต่ออีก เพราะอนาคตเป็นสิ่งไม่แน่นอน หากใครไม่นึกถึงความตายหรือมรณานุสสติ บุคคลผู้นั้นเป็นผู้ประมาทอย่างยิ่ง เพราะพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ ซึ่งมีอยู่มากถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ทรงย่อสั้นๆ ให้เหลือเพียงประโยคเดียว คือ จงอย่าประมาท (ในความตายซึ่งเป็นขั้นต้น) ส่วนขั้นสูงทรงหมายถึง จงอย่าประมาทในทุกๆ กรณี หมายถึงกรรมทั้ง ๓ คือ กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม


    ส่วนคำสอนของหลวงปู่บุดดา ที่ผมยกมา ๗ เรื่องนี้ ในความรู้สึกของผมว่าท่านสอนลูก-หลานท่าน ในหลักสูตรพระอริยเจ้าเบื้องสูงเลย เพราะหากเราสามารถปฏิบัติได้ตามนั้น ขั้นแรกก็เป็นพระอนาคามีเลย ขั้นสองก็จบกิจเป็นพระอรหันต์ ผ่านพระโสดาบันและพระสกิทาคามี ซึ่งยังเป็นพระอริยเจ้าเบื้องต่ำ อยู่มาเลยเป็นอัตโนมัติ


    ดังนั้น ผู้ใดที่ยังไม่มีพื้นฐานของพระธรรมเบื้องต่ำอยู่ อาจจะต้องใช้วิริยะ-ขันติ-สัจจะบารมี โดยมีปัญญาบารมีคุมหนักหน่อย จึงจะเข้าใจได้ดี บุคคลใดที่มีพื้นฐานของธรรมเบื้องต้นอ่านแล้ว หากคิดว่าง่ายก็เป็นคนประมาท เพราะตัวเองยังทำไม่ได้ ปฏิบัติยังไม่ถึง จะพูด-จะคิดว่าง่ายได้อย่างไร ส่วนบุคคลใดอ่านแล้วยังไม่เข้าใจดี ก็จงอย่าคิดว่ายาก เพราะจะทำให้กำลังใจ (บารมี) ตก แล้วจะมีผลเหมือนกับที่หลวงปู่เปรียบเทียบเหมือนหมาหลงเข้าไปอยู่ในฝูงอื่น ก็จะถูกมัน รุมกัดตาย หากมัวแต่หงอไม่เอาจริงเอาจัง กรุณาย้อนกลับไปอ่านข้อ ๗ ในเรื่องที่ ๗ แล้วจะเข้าใจดีในการปฏิบัติธรรมนั้น ทรงย้ำเรื่องกำลังใจ (บารมี) มาก หากไม่เอาจริงตั้งใจจริง โดยใช้บารมี ๑๐ เป็นหลักในการเสริมกำลังใจ (บารมี) แล้วก็ยากที่จะพ้นทุกข์ได้


    ขอท่านผู้อ่านทุกท่านจงโชคดีในธรรมปฏิบัติที่ท่านปรารถนา หากท่านไม่ยอมละความเพียรเสียอย่างเดียว พระพุทธองค์ทรงรับรองว่า สามารถจบกิจได้ในชาติปัจจุบันนี้ (รับรองเฉพาะผู้เอาจริงเท่านั้น)


    .......................................


    ที่มาของข้อมูล
    หนังสือธรรมนำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๗ มิถุนายน ตอน ๓

    หนังสือ “ธรรมนำไปสู่ความหลุดพ้น” ทุกเล่ม หาข้อมูลศึกษาได้จาก
    http://www.tangnipparn.com/page_book_all.html
    ต้องขอโมทนาทุกท่านที่ช่วยเผยแผ่ผลงานของพระพุทธเจ้าหรือหลวงพ่อ
    ในทุกรูปแบบทั้งทางหนังสือและอินเตอร์เน็ต ขอความเจริญในธรรมจงมีแด่ทุกๆ ท่านครับ


    .......................................
     
  2. เสขะ บุคคล

    เสขะ บุคคล เป็นที่รู้จักกันดี สมาชิก Premium

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 กรกฎาคม 2008
    โพสต์:
    1,240
    กระทู้เรื่องเด่น:
    54
    ค่าพลัง:
    +4,023
    แนะนำให้รับชมนะครับ วีดีโอหลวงปู่บุดดา ถาวโร แสดงธรรม ณ วัดเบญจมบพิธ กทม 12 05 2528

     

แชร์หน้านี้

Loading...