หลายคนถามว่า... เหตุที่ไม่สะสมทรัพย์นั้น มีความเป็นมาอย่างไร ได้ตอบให้ทราบว่า มีมาตั้งแต่วันที่อุปสมบท (บวช) วันแรก เมื่อออกจากโบสถ์แล้วพักเหนื่อยประมาณ ๑ ชั่วโมงเศษๆ หลวงพ่อปานท่านเรียกเข้าไปหาท่าน ท่านแนะนำว่า เรื่องการเงินเป็นเรื่องที่ต้องระวังมาก อย่าเผลอปล่อยให้ความโลภเข้าครอบงำจิต ขออธิบายโดยย่อว่า... ท่านแนะนำว่า... "อย่าสะสมเงินไว้ให้มาก"...เมื่อมีคนถวายมา ให้แบ่งส่วนดังนี้ ๑.ส่วนที่หนึ่ง...ร่วมสังฆทาน คือเอาเข้าโรงครัว ๒.ส่วนที่สอง...เอาไปเข้าร่วมวิหารทาน คือร่วมการก่อสร้าง ๓.ส่วนที่สาม...เอาไว้ใช้ส่วนตัว เมื่อมีความจำเป็น ๔.ในจำนวนเงินที่เอาไว้ใช้ส่วนตัวนั้น จงอย่าให้มีเกินพันบาท ถ้าเกินพันให้ทำบุญเสีย ๕.เงินในปีนี้ จงอย่าให้เหลือถึงปีหน้า ถ้าเหลือให้คิดว่า ปีหน้าเราจะทำอะไรที่มีการใช้จ่ายเกินจำนวนเงินที่เหลือ และเมื่อถึงปีหน้าจริงๆ ให้ทำตามที่ตั้งใจไว้ เมื่อรับเงินท่านแนะนำว่า... "ให้คิดว่าถ้าเราไม่เป็นพระ ไม่มีใครให้เงินใช้ฟรีๆ อย่างนี้ เพราะเราบวชเป็นพระ จึงมีคนถวายเงิน จงอย่าเมาเงินที่ญาติโยมถวายมา จงใช้อย่างพระ, มีอย่างพระ..อย่ามีมากกว่าที่กำหนดให้" คำแนะนำของท่านมากกว่านี้... แต่เห็นว่าจะเฟ้อมากเกินไป จึงนำมากล่าวเพียงย่อๆ เมื่อฟังแล้วก็รับปฏิบัติ ความจริงทำแบบที่หลวงพ่อปานสอนมาเป็นปกติ ชินต่อการปฏิบัติเช่นนี้ จึงบอกว่า..ไม่จำเป็นต้องเป็นพระอริยะก็ "ละ" การสะสมได้ (ลูกศิษย์บันทึกพิเศษ หน้า ๑๕๗) จาก...หนังสือ "พ่อรักลูก ๓" หน้า ๑๐๔ โดย...หลวงพ่อพระราชพรหมยาน (วัดท่าซุง)