เรื่องเด่น สัมมาสมาธิ

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย มาจากดิน, 5 มิถุนายน 2017.

  1. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,913
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,493
    สัมมาสมาธิ เป็นองค์มรรคข้อสุดท้ายและเป็นข้อที่มีเนื้อหาสำหรับศึกษามาก เพราะเป็นเรื่องของการฝึกอบรมพัฒนาจิตในขั้นเต็มกระบวน เป็นเรื่องละเอียดประณีต ทั้งในแง่ที่เป็นเรื่องของจิตอันเป็นของละเอียด และในแง่การปฏิบัติที่มีรายละเอียดกว้างขวางซับซ้อน หรือเป็นสนามรวมของการปฏิบัติ


    50.jpg

    หลักการหรือคำสอนใดก็ตามที่เป็นเพียงการคิดค้นหาเหตุผลในเรื่องความจริงเพื่อสนองความต้องการทางปัญญา โดยมิได้มุ่งหมายและมิได้แสดงแนวทางสำหรับประพฤติปฏิบัติในชีวิตจริง อันนั้น ให้ถือว่าไม่ใช่พระพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างที่ถือว่าเป็นคำสอนเดิมแท้ของพระพุทธเจ้า
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 15 มิถุนายน 2017
  2. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,913
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,493
    เมื่อโยนิโสมนสิการกำลังทำงานอยู่ สติก็จะยังอยู่ด้วย ไม่หลงลอยหลุดไป ดังนั้น สติ กับ โยนิโสมนสิการ จึงเกื้อกูลแก่กันและกันในวิปัสสนา

    565e1b3adf3714426237bf09a7955d45.jpg
     
  3. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,913
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,493
    ต่อ

    ความหมายของสมาธิ

    สมาธิ แปลกันว่า ความตั้งมั่นของจิต หรือ ภาวะที่จิตแน่วแน่ต่อสิ่งที่กำหนด คำจำกัดความของสมาธิ ที่พบเสมอ คือ "จิตตัสเสกัคคตา" หรือเรียกสั้นๆว่า "เอกัคคตา" ซึ่งแปลว่า ภาวะที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง คือ การที่จิตแน่วแน่แนบสนิทอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ส่าย ไม่วอกแวก

    คัมภีร์รุ่นอรรถกถาระบุว่า สมาธิ คือภาวะมีอารมณ์หนึ่งเดียว ของกุศลจิต และไขความว่า หมายถึงการดำรงจิตและเจตสิกไว้ในอารมณ์หนึ่งเดียว อย่างเรียบสม่ำเสมอ และด้วยดี หรือแม้แต่แค่จิตตั้งมั่น *

    พร้อมนั้น ท่านแสดงสาระสำคัญไว้ ซึ่งขอพูดให้ง่ายว่า สมาธิมีลักษณะไม่ส่ายหรือไม่ฟุ้งซ่าน มีหน้าที่ช่วยให้ประดาธรรมที่เกิดร่วมรวมตัวกันอยู่ได้ เหมือนน้ำผนึกผงแป้งไว้ไม่ฟุ้งกระจาย ปรากฏเป็นความสงบ โดยมีความสุขเป็นปทัฏฐาน (เหตุใกล้) อย่างพิเศษที่จะให้ถึงสมาธิ จิตที่เป็นสมาธินั้น นิ่งแน่ว เหมือนเปลวเทียนในที่ไม่มีลมกวน ไฟทำงานเผาไหม้ต่อเนื่องไปอย่างสม่ำเสมอ มิใช่หยุดนิ่ง แต่สงบนิ่งแน่ว
    ...........
    ที่อ้างอิง *
    * วิสุทธิ.๑/๑๐๕...ในอกุศลจิต เอกัคคตาหรือสมาธิ ก็เกิดได้ ดังที่ อภิ.สํ.๓๔/๒๗๕-๓๓๖/๑๐๑-๑๒๗ แสดงการที่เอกัคคตา สมาธินทรีย์ และมิจฉาสมาธิ ประกอบร่วมอยู่ในจิตที่เป็นอกุศล และอรรถกถาได้ยกตัวอย่าง เช่น คนที่มีจิตแน่วแน่ในขณะเอามีดฟาดฟันลงที่่ตัวของสัตว์ ไม่ให้ผิดพลาด ในเวลาตั้งใจลักของเขา และในเวลาประพฤติกาเมสุมิจฉาจาร เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เอกัคคตาในฝ่ายอกุศลนี้ มีกำลังน้อย อ่อนแอ ไม่เข้มแข็งทนทานเหมือนในฝ่ายกุศล เปรียบดังเอาน้ำราดในที่แห้งฝุ่นฟุ้ง ฝุ่นสงบลงชั่วเวลาสั้น ไม่นาน ก็จะแห้ง มีฝุ่นขึ้นตามเดิม...
     
  4. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,913
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,493
    "สัมมาสมาธิ" ตามคำจำกัดความในพระสูตรทั่วไป เจาะจงว่า ได้แก่ สมาธิตามแนวฌาน ๔ ดังนี้

    "ภิกษุทั้งหลาย สัมมาสมาธิเป็นไฉน ? คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
    ๑. สงัดจากกามทั้งหลาย สงัดจากอกุศลทั้งหลาย เข้าถึงปฐมฌาน อันมีวิตก มีวิจาร มีปีติ และสุขเกิดแต่วิเวก อยู่

    ๒. เข้าถึงทุติยฌาน อันมีความผ่องใสแห่งจิตภายใน มีภาวะใจเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารระงับไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิ อยู่

    ๓. เพราะปีติจางไป เธอมีอุเบกขาอยู่ มีสติสัมปชัญญะ และเสวยสุขด้วยนามกาย เข้าถึงตติยฌาน ที่พระอริยะทั้งหลายกล่าวว่า เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข

    ๔. เพราะละสุขและทุกข์ และเพราะโสมนัส โทมนัสดับหายไปก่อน เข้าถึงจตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์ เพราะอุเบกขา อยู่" ( ที.ม.10/299/349...)



    อย่างไรก็ตาม คำจำกัดความนี้ น่าจะถือเป็นการแสดงความหมายแบบเต็มกระบวน ดังจะเห็นว่า บางแห่ง ท่านกล่าวถึงจิตตัสเสกัคคตานั่นเอง ว่าเป็นสมาธินทรีย์ ดังบาลีว่า

    "ภิกษุทั้งหลาย อินทรีย์ คือสมาธิ เป็นไฉน? คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ กำหนดภาวะปล่อยวางเป็นอารมณ์แล้ว ได้สมาธิ ได้เอกัคคตาแห่งจิต (ภาวะที่จิตมีอารมณ์หนึ่งเดียว) นี้ เรียกว่าอินทรีย์ คือ สมาธิ" (สํ.ม.19874/264; 868/262- อรรถกถาว่า ภาวะปล่อยวางเป็นอารมณ์ หมายถึงเอานิพพานเป็นอารมณ์ - สํ.อ.3/337)
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 5 มิถุนายน 2017
  5. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,913
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,493
    ส่วนคำจำกัดความในพระอภิธรรมปิฎก ว่าดังนี้

    "สัมมาสมาธิ เป็นไฉน? ความตั้งอยู่แห่งจิต ความตั้งแน่ว ความมั่นลงไป ความไม่ส่ายไป ความไม่ฟุ้งซ่าน ภาวะที่มีใจไม่ซัดส่าย ความสงบ (สมถะ) สมาธินทรีย์ สมาธิพละ สัมมาสมาธิ สมาธิสัมโพชฌงค์ ที่เป็นองค์แห่งมรรค นับเนื่องในมรรค อันใด นี่เรียกว่า สัมมาสมาธิ" (อภิ.วิ.35/183/140; 589/322)



    ว่าโดยสาระสำคัญ สมาธิที่ใช้ถูกทาง เพื่อจุดหมายในทางหลุดพ้น เป็นไปเพื่อปัญญาที่รู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง มิใช่เพื่อผลในทางสนองความอยากของตัวตน เช่น จะอวดฤทธิ์ อวดความสามารถ เป็นต้น นั่นเอง เป็นสัมมาสมาธิ * ดังหลักการที่ท่านแสดงไว้ว่า ผู้ปฏิบัติธรรมสามารถเจริญวิปัสสนาได้ โดยใช้สมาธิเพียงขั้นต้นๆ ที่เรียกว่า วิปัสสนาสมาธิ คือสมาธิที่ใช้ประกอบกับวิปัสสนา หรือเพื่อสร้างปัญญาที่รู้แจ้ง อันเป็นสมาธิในระดับระหว่างขณิกสมาธิ กับอุปจารสมาธิเท่านั้น
    ………

    ที่อ้างอิง *
    * อรรถกถาแสดงไว้อีกแห่งหนึ่งว่า สัมมาสมาธิ ได้แก่ ยาถาวสมาธิ (สมาธิที่แท้ หรือสมาธิที่ตรงตามสภาวะ) นิยยานิกสมาธิ (สมาธิที่นำออกจากวัฏฏะ คือนำไปสู่ความหลุดพ้นจากทุกข์หรือสู่ความเป็นอิสระ) กุศลสมาธิ (สมาธิที่เป็นกุศล) เช่น สงฺคณี. อ. ๒๒๔

     
  6. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,913
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,493
    นามกาย "กองแห่งนามธรรม" หมายถึงเจตสิกทั้งหลาย, เทียบ รูปกาย

    รูปกาย ประชุมแห่งรูปธรรม, กายที่เป็นส่วนรูป โดยใจความ ได้แก่ รูปขันธ์หรือร่างกาย
     
  7. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,913
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,493
    ระดับของสมาธิ

    ในชั้นอรรถกถา ท่านจัดแยกสมาธิออกเป็น ๓ ระดับ คือ (นิทฺ.อ. 1/158 ปฏิสํ.อ.221 สงฺคณี.อ.207 วิสุทฺธิ. 1/184)

    ๑. ขณิกสมาธิ สมาธิชั่วขณะ เป็นสมาธิขั้นต้น ซึ่งคนทั่วไปอาจใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่การงานในชีวิตประจำวันให้ได้ ผลดี และจะใช้เป็นจุดตั้งต้นในการเจริญวิปัสสนา ก็ได้

    ๒. อุปจารสมาธิ สมาธิเฉียดๆ หรือสมาธิจนจะแน่วแน่ เป็นสมาธิขั้นระงับนิวรณ์ได้ ก่อนที่จะเข้าสู่ภาวะแห่งฌาน หรือสมาธิในบุพภาคแห่งอัปปนาสมาธิ

    ๓. อัปปนาสมาธิ สมาธิแน่วแน่ หรือสมาธิที่แนบสนิท เป็นสมาธิระดับสูงสุด ซึ่งมีในฌานทั้งหลาย ถือว่าเป็นผลสำเร็จที่ต้องการของการเจริญสมาธิ



    สมาธิอย่างที่ ๒ และ ๓ มีกล่าวถึงบ่อยๆ ในคำอธิบายเกี่ยวกับการเจริญกรรมฐาน และมีกำหนดค่อนข้างชัดเจน คือ อุปจารสมาธิ เป็นสมาธิเมื่อจิตตั้งมั่นโดยละนิวรณ์ทั้ง ๕ ได้ ถ้ามองในแง่การกำหนดอารมณ์กรรมฐาน ก็เป็นช่วงที่เกิดปฏิภาคนิมิต (ภาพที่มองเห็นในใจของสิ่งที่ใช้เป็นอารมณ์กรรมฐาน ซึ่งประณีตลึกซึ้งเลยจากขั้นที่เป็นภาพติดตาไปอีกขั้นหนึ่ง เป็นของเกิดจากสัญญา บริสุทธิ์ ปราศจากสี ปราศจากมลทิน สามารถนึกขยายหรือย่อส่วนได้ตามปรารถนา *) *(วิสุทฺธิ.1/107; 160,175,187...) เป็นสมาธิจวนเจียนจะแน่วแน่โดยสมบูรณ์ ใกล้จะถึงฌาน

    อุปจารสมาธินั่นแหละ เป็นเมื่อชำนิชำนาญ คุ้นดีแล้ว ก็จะแน่วแน่ กลายเป็น อัปปนาสมาธิ* เป็นองค์แห่งฌานต่อไป

    แต่สมาธิอย่างแรก คือ ขณิกสมาธิ ดูเหมือนจะไม่มีเครื่องกำหนดหมายที่ชัดเจน จึงน่าจะพิจารณาพอให้เห็นเค้ารูปว่า แค่ไหนเพียงไร

    ………….
    ที่อ้างอิง *
    * ในอุปจารสมาธิ นิวรณ์ก็ถูกละได้ องค์ฌานก็เริ่มเกิด คล้ายกับอัปปนาสมาธิ มีข้อแตกต่างเพียงว่า องค์ฌานยังไม่มีกำลังดีพอ ได้นิมิตพักหนึ่ง ก็ตกภวังค์พักหนึ่ง ขึ้นๆ ตกๆ เหมือนเด็กตั้งไข่ เขาพยุงลุก ก็คอยล้ม
    ส่วนในอัปปนาสมาธิ องค์ฌานทั้งหลายมีกำลังดีแล้ว จิตตัดภวังค์แล้วคราวเดียว ก็ตั้งอยู่ได้ทั้งคืนทั้งวัน เหมือนผู้ใหญ่ที่แข็งแรง ลุกจากที่นั่งแล้ว ก็ยืนเดินทำงานได้ทั้งวัน (วิสุทธิ.๑/๑๖๐; ๑๘๗)
     
  8. pinit417

    pinit417 Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    5 มีนาคม 2016
    โพสต์:
    189
    ค่าพลัง:
    +165
    เห็นคุณมาจากดินกล่าวถึงการทำวิปัสสนาสมาธิว่าเราใช้สมาธิระดับระหว่างขณิกสมาธิกับอุปจารสมาธิ ก็เลยมีความสงสัยขึ้นมาอยากจะถามคุณมาจากดิน...

    ส่วนตัวเวลาทำสมาธินั้น จะไม่มานั่งสนใจว่าตอนนี้อยู่ในสมาธิระดับใด ผมจึงไม่ค่อยมีความรู้ในเรื่องของระดับสมาธิมากนัก แต่จากที่ศึกษามา จากคำสอนของหลวงตาบัว ท่านว่า ที่สุดของลมคือดับ ที่สุดของใจคือรวมเป็นสมาธิ ... พอมาเทียบเคียงกับสิ่งที่คุณมาจากดินกล่าว ก็อาจจะพอสรุปได้ว่า ถ้าทำได้อย่างที่หลวงตาบัวกล่าว สมาธิน่าจะอยู่ในระดับฌาณ 4(ถ้าผิดก็ขอโทษด้วย)... ทีนี้ถัดจากคำสอนนี้ ก็มีการสอนต่อในขั้นวิปัสสนาสมาธิ ประมาณว่า เมื่อทำสมาธิได้ในระดับที่หลวงตาบัวกล่าว ก็ปล่อยให้จิตอยู่อย่างนั้น จนกระทั่งจิตถึงจุดอิ่มตัว แล้วจิตก็จะถอนออกมาเอง เมื่อจิตถอนออกมา เวลานั้นแหล่ะเป็นเวลาที่เหมาะแก่การทำวิปัสสนาสมาธิมากที่สุด เพราะนั่นคือช่วงเวลาที่จิตมีพละกำลังเต็มที่... เล่ามาซะยาว จะถามคุณมาจากดินสั้นๆนิดเดียวว่า เมื่อจิตถึงจุดอิ่มตัวและได้ถอยออกมาจากฌาณ 4 นั้น คุณมาจากดินคิดว่า สมาธิตอนนั้นน่าจะอยู่ในระดับใด... (ขณิก หรือ อุปจาร หรือ อยู่ระหว่าง หรือ อื่นๆ)
     
  9. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,913
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,493
    คัมภีร์ปรมัตถมัญชุสา (วิสุทฺธิ.ฎีกา) กล่าวว่า (มูลสมาธิ สมาธิเบื้องต้น หรือสมาธิต้นเค้า) และบริกรรมสมาธิ (สมาธิ ขั้นตระเตรียมหรือเริ่มลงมือ) ที่กล่าวถึงในคัมภีร์วิสุทธิมัคค์ (วิสุทฺธิ.2/127,245) เป็นขณิกสมาธิ

    มูลสมาธิ ที่ว่าเป็นขณิกสมาธินั้น ท่านยกตัวอย่างจากบาลีมาแสดง ดังนี้

    ๑. "เพราะฉะนั้นแล ภิกษุ เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จิตของเราจักเป็นจิตที่ตั้งมั่น ดำรงแน่วเป็นอย่างดี ในภายใน และธรรมทั้งหลายที่ชั่วร้าย เป็นอกุศล จักไม่เกาะกุมจิตตั้งอยู่ได้ ภิกษุ เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล

    ๒. "เมื่อใดแล จิตของเธอ เป็นจิตที่ตั้งมั่น ดำรงแน่วเป็นอย่างดีแล้ว ในภายใน และธรรมทั้งหลายที่ชั่วร้าย เป็นอกุศล ไม่เกาะกุมจิตตั้งอยู่ได้ เมื่อนั้น เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักเจริญ จักทำให้มาก ซึ่งเมตตาเจโตวิมุตติ ทำให้เป็นดุจยาน ทำให้เป็นที่ตั้ง ให้มั่นคง สั่งสมจัดเจน ทำให้สำเร็จได้เป็นอย่างดี ภิกษุ เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล

    ๓. "เมื่อใดแล สมาธินี้ เป็นธรรมอันเธอได้เจริญ ได้กระทำให้มากอย่างนี้แล้ว เมื่อนั้น เธอพึงเจริญสมาธินี้ อันมีทั้งวิตกและวิจารบ้าง อันไม่มีวิตกไม่มีวิจารบ้าง อันไม่มีวิตกมีแต่วิจารบ้าง อันมีปีติบ้าง อันไม่มีปีติบ้าง อันประกอบด้วยความฉ่ำชื่นบ้าง อันประกอบด้วยอุเบกขาบ้าง ฯลฯ" (องฺ.อฏฺฐก.253/160/309- สันนิษฐานว่า พระสูตรนี้ เป็นที่มาแห่งหนึ่งของฌาน ๕ แบบอภิธรรม)


    ท่านอธิบายว่า อาการที่จิตพอแค่มีอารมณ์หนึ่งเดียวลงได้ โดยภาวะที่เป็นตัวของตัวเองอยู่ภายใน ตามความในข้อที่ ๑ ที่ว่า จิตตั้งมั่น ดำรงอยู่แน่วเป็นอย่างดีในภายใน บาปอกุศลธรรมไม่อาจครอบงำได้ ภาวะจิตขั้นนี้แหละเป็น "มูลสมาธิ"

    ความต่อไปในข้อที่ ๒ เป็นขั้นเจริญ คือ พัฒนามูลสมาธินั้นให้มั่นคงอยู่ตัวยิ่งขึ้น ด้วยวิธีเจริญเมตตา ท่านเปรียบมูลสมาธิ เหมือนกับไฟที่เกิดขึ้นจากการสีไม้สีไฟ หรือตีเหล็กไฟ ส่วนการพัฒนามูลสมาธินั้น ด้วยการวิธีเจริญเมตตา เป็นต้น ก็เหมือนกับเอาเชื้อไฟมาต่อ ให้ไฟนั้นลุกไหม้ต่อไปได้อีก

    ส่วนข้อที่ ๓ เป็นขั้นทำให้มูลสมาธิ หรือขณิกสมาธินั้น เจริญขึ้นไป จนกลายเป็นอัปปนาสมาธิ (่ผ่านอุปจารสมาธิ) ในขั้นฌาน ด้วยวิธีกำหนดอารมณ์อื่นๆ เช่น กสิณ เป็นต้น
     
  10. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,913
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,493
    เรื่องนี้ เราต้องคุยกัน

    "ส่วนตัวเวลาทำสมาธินั้น จะไม่มานั่งสนใจว่าตอนนี้อยู่ในสมาธิระดับใด"

    ที่ว่าทำสมาธิๆนั่น คุณทำสมาธิยังไงครับ

    "...แต่จากที่ศึกษามา จากคำสอนของหลวงตาบัว ท่านว่า ที่สุดของลมคือดับ ที่สุดของใจคือรวมเป็นสมาธิ"

    "ที่สุดของลมคือดับ..." คุณเคยถามหลวงตาบัวไหมว่า ที่สุดลมคือดับนั่น อะไรดับ










     
  11. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,913
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,493
    ตัวอย่างอื่นอีก เช่น ที่พระพุทธเจ้าตรัสเล่าถึงการบำเพ็ญเพียรของพระองค์เองว่า

    ๑. "ภิกษุทั้งหลาย เรานั้น เมื่อเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจมุ่งเด็ดเดี่ยวอยู่ มีเนกขัมมวิตก...อพยาบาทวิตก...อวิหิงสาวิตก เกิดขึ้น เราย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า เนกขัมมวิตก...อพยาบาทวิตก...อวิหิงสาวิตก นี้ เกิดขึ้นแล้วแก่เรา

    "ก็แล วิตกชนิดนั้น ย่อมไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตน ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่าย ช่วยเพิ่มพูนปัญญา ไม่ส่งเสริมความคับแค้น เป็นไปเพื่อนิพพาน

    "ถึงหากเราจะเฝ้าตรึกเฝ้าตรองวิตกชนิดนั้นตลอดทั้งคืน เราก็มองไม่เห็นภัยที่จะเกิดขึ้นจากวิตกชนิดนั้นเลย ถึงหากเราจะเฝ้าตรึกเฝ้าตรองวิตกชนิดนั้นตลอดทั้งวัน...ตลอดทั้งคืน และตลอดวัน เราก็มองไม่เห็นภัยที่จะเกิดขึ้นจากวิตกชนิดนั้นเลย

    "ก็แต่ว่า เมื่อเราเฝ้าตรึกตรองอยู่เนิ่นนานเกินไป ร่างกายก็จะเหน็ดเหนื่อย เมื่อกายเหน็ดเหนื่อย จิตก็จะฟุ้งซ่าน เมื่อจิตฟุ้งซ่าน จิตก็ห่างจากสมาธิ

    "ภิกษุทั้งหลาย เรานั้นแล จึงดำรงจิตไว้ในภายใน ทำให้อยู่ตัวสงบ ทำให้มีอารมณ์หนึ่งเดียว ตั้งมั่นไว้ ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะหมายใจว่า จิตของเราอย่าได้ฟุ้งซ่านไปเลย ดังนี้...

    ๒. "ภิกษุทั้งหลาย ความเพียร เราก็ได้เร่งระดมแล้ว ไม่ย่อหย่อน สติก็กำกับอยู่ ในเลื่อนหลง กายก็ผ่อนคลายสงบ ไม่กระสับกระส่าย จิตก็ตั้งมั่น มีอารมณ์หนึ่งเดียว

    ๓. "ภิกษุทั้งหลาย เรานั้นแล สงัดจากกามทั้งหลาย สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย บรรลุแล้ว ซึ่งปฐมฌาน..." (ม.มู.๑๒/๒๕๒-๓/๒๓๔-๖...)

    คำอธิบายว่า ความในข้อ ๑ ว่า "ดำรงจิตไว้ในภายใน ทำให้อยู่ตัวสงบ ทำให้มีอารมณ์หนึ่งเดียว ตั้งมั่น" ก็ดี ความในข้อ ๒ ว่า "จิตก็ตั้งมั่น มีอารมณ์หนึ่งเดียว" ก็ดี แสดงถึง "มูลสมาธิ" (คือ ขณิกสมาธิ) อันมีมาก่อนหน้าที่จะเกิดอัปปนาสมาธิในขั้นฌาน ตามความในข้อที่ ๓

    ..............

    ความในข้อ ๒ และ ๓ มาในที่อื่นๆด้วย เช่น ม.มู. 12/47/38 คำว่า ตั้งมั่น หรือเป็นสมาธินี้ ตามรูปศัพท์ จะแปลว่า ทรงตัวเรียบ ก็ได้ ดูเหมือนว่า ถ้าแปลอย่างนี้ จะให้ความรู้สึกเป็นการเคลื่อนไหวดีกว่า คือคล้ายกับแปลว่า เดินแน่วสม่ำเสมอ เหมือนคนใจแน่วแน่ เดินเรียบ บนเส้นลวดซึ่งขึงในที่สูง คำว่า ไม่กระสับกระส่าย จะแปลว่า ไม่เครียด ก็ได้
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 6 มิถุนายน 2017
  12. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,913
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,493
    ส่วนบริกรรมสมาธิ ก็มีตัวอย่าง เช่น ผู้ที่ฝึกทิพโสต ออกจากฌานแล้ว เอาจิตกำหนดเสียงต่างๆ ตั้งแต่เสียงที่ดังมาก แต่ไกล เช่น เสียงเสือสิงห์คำราม เสียงรถบรรทุก หรือเสียงแตรรถ เป็นต้น แล้วกำหนดเสียงที่เบาผ่อนลงมา เช่น เสียงกลอง เสียงระฆัง เสียงดนตรี เสียงสวดมนต์ เสียงคนคุยกัน เสียงนก เสียงลม เสียงจิ้งจก เสียงใบไม้ เป็นต้น ตามลำดับ
    เสียงที่คนจิตใจปกติพอได้ยิน แต่คนที่มีบริกรรมสมาธิ หรือขณิกสมาธินี้ได้ยิน จะดังชัดเจนกว่าเป็นอันมาก

    เรื่องขณิกสมาธิ พึงพิจารณาทำความเข้าใจ ตามนัยที่กล่าวมานี้


    คัมภีร์บางแห่งกล่าวถึง วิปัสสนาสมาธิ เพิ่มเข้ามาอีกอย่างหนึ่ง แทรกอยู่ระหว่างขณิกสมาธิ กับ อุปจารสมาธิ* (เช่น ปฏิสํ.อ.150) พึงทราบว่า วิปัสสนาสมาธินั้น ก็คือ ขณิกสมาธิ ที่นำไปใช้ในการเจริญวิปัสสนานั่นเอง และมีความประณีตยิ่งขึ้นไปเพราะการปฏิบัติ
     
  13. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,913
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,493
  14. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,913
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,493
    ศัตรูของสมาธิ

    สิ่งที่จะกล่าวต่อไปนี้ เป็นปฏิปักษ์ เป็นศัตรูของสมาธิ เป็นสิ่งที่ต้องกำจัดเสีย จึงจะเกิดสมาธิได้ หรือจะพูดว่า เป็นสิ่งที่ต้องกำจัดเสียด้วยสมาธิก็ได้ สิ่งเหล่านี้ มีชื่อเฉพาะเรียกว่า นิวรณ์

    นิวรณ์
    แปลว่า เครื่องกีดกั้น เครื่องขัดขวาง แปลเอาความตามหลักวิชาว่า สิ่งที่กีดกั้นการทำงานของจิตไม่ให้ก้าวหน้าในกุศลธรรม ธรรมฝ่ายชั่ว ที่กั้นจิตไม่ให้บรรลุคุณความดี หรืออกุศลธรรมที่ทำจิตให้เศร้าหมองและทำปัญญาให้อ่อนกำลัง

    คำอธิบายลักษณะของนิวรณ์ ที่เป็นพุทธพจน์มีว่า

    "ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการเหล่านี้ เป็นเครื่องปิดกั้น (กุศลธรรม) เป็นเครื่องห้าม (ความเจริญงอกงาม) ขึ้นกดทับจิตไว้ ทำปัญญาให้อ่อนกำลัง" (สํ.ม.19/499/135)

    "...เป็นอุปกิเลสแห่งจิต (สนิมใจ หรือสิ่งที่ทำให้ใจเศร้าหมอง) ทำปัญญาให้อ่อนกำลัง" (สํ.ม.19/490/133)


    "ธรรม ๕ ประการเหล่านี้ เป็นนิวรณ์ ทำให้มืดบอด ทำให้ไร้จักษุ ทำให้ไม่มีญาณ (สร้างความไม่รู้) ทำให้ปัญญาดับ ส่งเสริมความคับแค้น ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน" (สํ.ม.19/501/136)


    นิวรณ์ ๕ อย่างนี้ พึงระวัง อย่านำมาสับสนกับสมถะ หรือสมาธิ หากพบที่ใด พึงตระหนักไว้ว่า นี้ไม่ใช่สมถะ นี้ไม่ใช่สมาธิ นิวรณ์ ๕ * อย่างนั้น คือ

    ๑. กามฉันท์ ความอยากได้ อยากเอา (แปลตามศัพท์ว่า ความพอใจในกาม) หรืออภิชฌา ความเพ่งเล็งอยากได้ หรือจ้องจะเอา หมายถึง ความอยากได้กามคุณทั้ง ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นกิเลสพวกโลภะ จิตที่ถูกล่อด้วยอารมณ์ต่างๆ คิดอยากได้โน่นอยากได้นี่ ติดใจโน่นติดใจนี่ คอยเขวออกไปหาอารมณ์อื่น ครุ่นข้องอยู่ ย่อมไม่ตั้งมั่น ไม่เดินเรียบไป ไม่อาจเป็นสมาธิได้

    ๒. พยาบาท ความ ขัดเคืองแค้นใจ ได้แก่ ความขัดใจ แค้นเคือง เกลียดชัง ความผูกใจเจ็บ การมองในแง่ร้าย การคิดร้าย มองเห็นคนอื่นเป็นศัตรู ตลอดจนความโกรธ ความหงุดหงิด ฉุนเฉียว ความรู้สึกขัดใจ ไม่พอใจต่างๆ จิตที่มัวกระทบนั่นกระทบนี่ สะดุดนั่นสะดุดนี่ เดินไม่เรียบ ไม่ไหลเนื่อง ย่อมไม่อาจเป็นสมาธิ

    ๓. ถีนมิทธะ ความหดหู่และเซื่องซึม หรือเซ็งและซึม แยกเป็นถีนะ ความหดหู่ ห่อเหี่ยว ถอดถอย ระย่อ ท้อแท้ ความซบเซา เหงาหงอย ละเหี่ย ที่เป็นอาการของจิตใจ กับ มิทธะ ความเซื่องซึม เฉื่อยเฉา ง่วงเหงา อืดอาด มึนมัว ตื้อตัน อาการซึมๆ เฉาๆ ที่เป็นไปทางกาย (ท่านหมายถึงนามกาย คือกองเจตสิก) จิตที่ถูกอาการอย่างนี้ครอบงำ ย่อมไม่เข็มแข็ง ไม่คล่องตัว ไม่เหมาะแก่การใช้งาน จึงไม่อาจเป็นสมาธิได้

    ๔. อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านและเดือดร้อนใจ แยกเป็นอุทธัจจะ ความที่จิตฟุ้งซ่าน ไม่สงบ ส่ายพร่า พล่านไป กับ กุกกุจจะ ความวุ่นวายใจ รำคาญใจ ระแวง เดือดร้อนใจ ยุ่งใจ กลุ้มใจ กังวลใจ จิตที่ถูกอุทธัจจกุกกุจจะครอบงำ ย่อมพล่าน งุ่นง่าน ย่อมคว้างไป ไม่อาจสงบได้ จึงไม่เป็นสมาธิ

    ๕. วิจิกิจฉา ความ ลังเลสงสัย ได้แก่ ความเคลือบแคลง ไม่แน่ใจ เกี่ยวกับพระศาสดา พระธรรม พระสงฆ์ เกี่ยวกับสิกขา เป็นต้น พูดสั้นๆว่า คลางแคลงในกุศลธรรมทั้งหลาย ตกลงใจไม่ได้ เช่นว่า ธรรมนี้ สมาธิภาวนานี้ ฯลฯ มีคุณค่า มีประโยชน์ควรแก่การปฏิบัติหรือไม่ จะได้ผลจริงไหม คิดแยกไปสองทาง วางใจไม่ลง จิตที่ถูกวิจิกิจฉาขัดไว้ กวนไว้ ให้ค้าง ให้พร่า ให้ว้าวุ่น ลังเลอยู่ มีแต่จะเครียด ไม่อาจแน่วแน่เป็นสมาธิ

    .................
    อ้างอิงที่ *
    * นิวรณ์ ๕ ที่มีอภิชฌา เป็นข้อแรก มักบรรยายไว้ก่อนหน้าจะได้ฌาน ....ส่วนนิวรณ์ ๕ ที่มีกามฉันท์ เป็นข้อแรก มักกล่าวไว้เอกเทศ และระบุแต่หัวข้อ ไม่บรรยายลักษณะ...ดูอธิบายในนิวรณ์ ๖ (เติมอวิชชา)
    อภิชฌา = กามฉันท์
    อภิชฌา = โลภะ
    คำว่า กาย ในข้อ ๓ ท่านว่า หมายถึงนามกาย คือกองเจตสิก (สง.คณี อ. ๕๓๖)
     
  15. ธรรมแท้ว่าง

    ธรรมแท้ว่าง กายเบาใจเบา

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 มีนาคม 2011
    โพสต์:
    12,288
    ค่าพลัง:
    +12,620
    แหกกฎอีก....เขาไม่ให้ลงคลิปในห้องนี้
    มีทีลงให้แล้ว...ภาพที่ไม่เกี่ยวข้องด้วย
    ดูชาวบ้านคนอื่นเขาทำเหมือนเองไหม
    แหกกฎบ่อยๆ จนเป็นนิสัย...ไม่นานก็โดนอีก
    ไม่รู้ภาษาเลยเจ้านี่ น่ารำคาญมาก
    กวนจริงๆ แต่ไม่รู้ตัวแปลก
     
  16. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,913
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,493
    682964e39422f433a41ece40e14c7d14.jpg

    ลักษณะของจิตที่เป็นสมาธิ

    ดังได้กล่าวแล้วข้างต้นว่า อธิจิตตสิกขา คือ การฝึกปรือเพื่อเสริมสร้างคุณภาพ และสมรรถภาพของจิต ดังนั้น สมาธิซึ่งเป็นเป้าหมายของอธิจิตตสิกขานั้น จึงหมายถึงภาวะจิตที่มีคุณภาพ และมีสมรรถภาพดีที่สุด


    จิตที่เป็นสมาธิหรือมีคุณภาพดี มีสมรรถภาพนั้น มีลักษณะที่สำคัญ ดังนี้

    1. แข็งแรง มีพลังมาก ท่านเปรียบไว้ว่าเหมือนกระแสน้ำ ที่ถูกควบคุมให้ไหลพุ่งไปในทิศทาง เดียวย่อมมีกำลังแรงกว่าน้ำ ที่ถูกปล่อยให้ไหลพร่ากระจายออกไป

    2. ราบเรียบ สงบซึ้ง เหมือนสระ หรือ บึงน้ำใหญ่ ที่มีน้ำนิ่ง ไม่มีลมพัดต้อง ไม่มีสิ่งรบกวนให้กระเพื่อมไหว

    3. ใสกระจ่าง มองเห็นอะไรๆได้ชัด เหมือนน้ำสงบนิ่ง ไม่เป็นริ้วคลื่น และฝุ่นละอองที่มีก็ตกตะกอนนอนก้นหมด

    4. นุ่มนวล ควรแก่งาน หรือเหมาะแก่การใช้งาน เพราะไม่เครียด ไม่กระด้าง ไม่วุ่น ไม่ขุ่นมัว ไม่สับสน ไม่เร่าร้อน ไม่กระวนกระวาย


    ไวพจน์ที่แสดงความหมายของสมาธิคำหนึ่ง คือ เอกัคคตา แปลว่า ภาวะที่จิตมีอารมณ์หนึ่งเดียว แต่ถ้าว่าตามรูปศัพท์ จะเห็นลักษณะของจิตที่คล้ายกับในข้อแรก คือ เอกัคคตา = เอก + อัคค + ตา (ภาวะ)

    คำว่า อัคคะ ที่นี้ ท่านแปลว่าอารมณ์ แต่ความหมายเดิมแท้ คือ จุดยอด หรือจุดปลาย โดยนัยนี้ จิตเป็นสมาธิ ก็คือ จิตที่มียอด หรือมีจุดปลายจุดเดียว ซึ่งย่อมมีลักษณะแหลมพุ่ง รวมมุ่งดิ่งไป หรือแทงทะลุไปได้ง่าย
     
  17. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,913
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,493
    ต่อ

    จิตที่มีสมาธิขั้นสมบูรณ์ เฉพาะอย่างยิ่ง สมาธิถึงขั้นฌาน พระอรรถกถาจารย์เรียกว่า จิตพร้อมด้วยองค์ ๘ (อัฏฐังคสมันนาคตจิต) องค์ ๘ นั้น ท่านนับจากคำบรรยายที่เป็นพุทธพจน์นั่นเอง กล่าวคือ

    ๑. ตั้งมั่น
    ๒. บริสุทธิ์
    ๓. ผ่องใส
    ๔. โปร่งโล่ง เกลี้ยงเกลา
    ๕. ปราศจากสิ่งมัวหมอง
    ๖. นุ่มนวล
    ๗. ควรแก่งาน
    ๘. อยู่ตัว ไม่วอกแวกหวั่นไหว

    ท่านว่า จิตที่มีองค์ประกอบเช่นนี้ เหมาะแก่การนำเอาไปใช้ได้ดีที่สุด ไม่ว่าจะเอาไปใช้งานทางปัญญา พิจารณาให้เกิดความรู้เข้าใจถูกต้องแจ้งชัด หรือใช้ในทางสร้างพลังจิต ให้เกิดอภิญญาสมาบัติอย่างใดๆ ก็ได้

    ตามที่กล่าวมานี้ มีข้อควรย้ำว่า ลักษณะเด่นที่สุดของจิตที่เป็นสมาธิ ซึ่งสัมพันธ์กับความมุ่งหมายของสมาธิด้วย ก็คือ ความ "ควรแก่งาน" หรือ ความเหมาะแก่การใช้งาน และงานที่ถูกต้องตามหลักพุทธศาสนา ก็คือ งานทางปัญญา อันได้แก่ การใช้จิตที่พร้อมดีเช่นนั้น เป็นสนามปฏิบัติการของปัญญา ในการพิจารณาสภาวธรรม ให้เกิดความรู้แจ้งตามเป็นจริง

    ควรย้ำเพิ่มไว้อีกว่า สมาธิที่ถูกต้อง ไม่ใช่อาการที่จิตหมดความรู้สึก ปล่อยตัวตนเข้ารวมหายไปในอะไรๆ แต่เป็นภาวะที่ใจสว่าง โปร่งโล่ง หลุดออกจากสิ่งบดบังบีบคั้นกั้นขวาง เป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเอง ตื่นอยู่ เบิกบาน พร้อมที่จะใช้ปัญญา
     
  18. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,913
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,493
    ต่อ


    พึงพิจารณาพุทธพจน์ต่อไปนี้

    "ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการต่อไปนี้ เป็นเครื่องปิดกั้น เป็นนิวรณ์ เป็นสิ่งที่กดทับจิต ทำให้ปัญญาอ่อนกำลัง ๕ ประการ กล่าวคือ กามฉันท์...พยาบาท...ถีนมิทธะ...อุทธัจจกุกกุจจะ...วิจิกิจฉา...

    "ภิกษุไม่ละธรรม ๕ ประการ ที่เป็นเครื่องปิดกั้น เป็นนิวรณ์ เป็นสิ่งที่กดทับจิต ทำให้ปัญญา อ่อนกำลังแล้ว จักรู้จักประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย หรือจักประจักษ์แจ้ง ซึ่งญาณทัศนะอันวิเศษ ที่สามารถทำให้เป็นอริยะ ซึ่งยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์สามัญ ด้วยปัญญาที่ทุรพลไร้กำลัง ข้อนี้ ย่อมมิใช่ฐานะที่จะเป็นไปได้

    "เปรียบเหมือนแม่น้ำที่เกิดบนภูเขา ไหลลงเป็นสายยาวไกล มีกระแสเชียว พัดพาสิ่งที่พอจะพัดเอาไปได้ บุรุษเปิดปากเหมืองออกทั้งสองข้างของแม่น้ำนั้น เมื่อเป็นเช่นนั้น กระแสน้ำท่ามกลางแม่น้ำนั้น ก็กระจาย ส่ายพร่า เขวคว้าง ไม่แล่นไหลไปไกล ไม่มีกระแสเชียว และพัดพาสิ่งที่พอจะพัดเอาไปไม่ได้...(องฺ.ปญฺจก.22/51/72)
     
  19. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,913
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,493
    ต่อ

    ครั้งหนึ่ง สังคารวพราหมณ์ กราบทูลถามพระพุทธเจ้า และพระองค์ได้ตรัสตอบ ดังนี้

    พราหมณ์: ท่านพระโคตมะผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัยให้ ในบางคราว มนต์ทั้งหลาย แม้ที่ได้สาธยายมาแล้วตลอดเวลายาวนาน ก็ไม่แจ่มแจ้ง ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่มิได้สาธยาย และอะไรหนอเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัยให้ ในบางคราว มนต์ทั้งหลาย แม้ที่ได้สาธยายตลอดเวลายาวนาน ก็แจ่มแจ้ง ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่ได้สาธยาย

    พระพุทธเจ้า: ดูกรพราหมณ์ ในเวลาใด บุคคลมีใจกลุ้มรุมด้วยกามราคะ ถูกกามราคะครอบงำอยู่ และไม่รู้ชัดตามเป็นจริง ซึ่งทางออกแห่งกามราคะที่เกิดขึ้นแล้ว ในเวลานั้น เขาย่อมไม่รู้ชัด มองไม่เห็นตามเป็นจริง แม้ซึ่งประโยชน์ตน แม้ซึ่งประโยชน์ผู้อื่น แม้ซึ่งประโยชน์ทั้งสองฝ่าย มนต์ทั้งหลาย แม้ที่ได้สาธยายมาตลอดเวลายาวนาน ก็ย่อมไม่แจ่มแจ้ง ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่มิได้สาธยาย


    (บุคคลมีใจกลุ้มรุมด้วยพยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ และวิจิกิจฉา ก็เช่นเดียวกัน และทรงเปรียบจิตที่ถูกนิวรณ์ข้อต่างๆ ครอบงำ ดังต่อไปนี้)


    ๑. (จิตที่ถูกกามราคะครอบงำ) เปรียบเหมือนภาชนะใส่น้ำ ซึ่งเอาสีครั่งบ้าง สีขมิ้นบ้าง สีเขียวบ้าง สีแดงอ่อนบ้าง ผสมปนกันบ้าง คนตาดีมองดูเงาหน้าของคนในภาชนะน้ำนั้น ก็ไม่รู้ไม่เห็นตามเป็นจริง

    ๒. (จิตที่ถูกพยาบาทครอบงำ) เปรียบเหมือนภาชนะใส่น้ำ ที่เอาไฟเผาลน เดือดพล่าน มีไอพลุ่ง คนตาดีมองดูเงาหน้าของตนในภาชนะน้ำนั้น ก็ไม่รู้ไม่เห็นตามเป็นจริง

    ๓. (จิตที่ถูกถีนมิทธะครอบงำ) เปรียบเหมือนภาชนะใส่ น้ำ ที่ถูกสาหร่ายและจอกแหนปกคลุม คนตาดีมองดูเงาหน้าของตนในภาชนะน้ำน้ำ ก็ไม่รู้ไม่เห็นตามเป็นจริง

    ๔. (จิตที่ถูกอุทธัจจะกุกกุจจะครอบงำ) เปรียบเหมือน ภาชนะใส่น้ำ ที่ถูกลมพัด ไหวกระเพื่อม เป็นคลื่น คนตาดีมองดูเงาหน้าของตนในภาชนะน้ำนั้น ก็ไม่รู้ไม่เห็นตามเป็นจริง

    ๕. (จิตที่ถูกวิจิกิจฉาครอบงำ) เปรียบเหมือนภาชนะใส่น้ำ ที่ขุ่น มัว เป็นตม ซึ่งวางไว้ในที่มืด คนตาดีมองดูเงาหน้าของตนในภาชนะน้ำนั้น ก็ไม่รู้ไม่เห็นตามเป็นจริง


    ส่วนบุคคลที่ใจไม่มีนิวรณ์ ๕ ครอบงำ และรู้ทางออกของนิวรณ์ ๕ ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมรู้เห็นตามเป็นจริง ทั้งประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น และประโยชน์ทั้งสองฝ่าย มนต์แม้ที่มิได้สาธยายตลอดเวลายาวนาน ก็แจ่มแจ้งได้ ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่ได้สาธยาย และมีอุปมาต่างๆ ตรงข้ามกับที่ได้กล่าวมาแล้ว *
    …..

    อ้างอิงที่ *

    * สํ.ม.19/602-624/167-174 องฺ.ปญฺจก.22/193/257 (ไม่แจ่มแจ้ง หมายถึงนึกไม่ออก หรือคิดไม่ออก) อีกแห่งหนึ่ง ตรัสถึงจิตที่ไม่ขุ่นมัว เหมือนห้วงน้ำใส มองเห็นก้อนหิน ก้นกรวด หอย และปลาทีแหวกว่ายในน้ำ ส่วนจิตที่ขุ่นมัว ก็เหมือนห้วงน้ำขุ่นที่ตรงกันข้าม (องฺ.เอก. ๒๐/๔๖-๔๗/๑๐)





     
  20. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,913
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,493
    ต่อ ต่อ :D

    "ภิกษุทั้งหลาย อุปกิเลสแห่งทอง ๕ อย่างต่อไปนี้ ทองเปื้อนปนเข้าด้วยแล้ว ย่อมเป็นเหตุให้ไม่อ่อน ไม่ควรแก่งาน ไม่สุกปลั่ง เปราะ ไม่เหมาะที่จะนำไปทำอะไรๆ ๕ อย่างนั้น เป็นไฉน ? ได้แก่ เหล็ก โลหะอื่น ดีบุก ตะกั่ว และเงิน...


    “เมื่อใด ทองพ้นจากอุปกิเลส ๕ ประการเหล่านี้แล้ว ก็จะเป็นสภาพอ่อน ควรแก่งาน สุกปลั่ง ไม่เปราะ เหมาะที่จะนำไปทำอะไรๆได้ดี กล่าวคือ ช่างทองต้องการทำเครื่องประดับชนิดใดๆ จะเป็นแหวน ตุ้มหู สร้อยคอ สร้อยคอ หรือสุวรรณมาลา ก็ตาม ย่อมสำเร็จผลที่ต้องการ ฉันใด

    "อุปกิเลสแห่งจิตทั้ง ๕ อย่างต่อไปนี้ จิตพัวพันเศร้าหมองเข้าแล้ว ย่อมไม่นุ่มนวล ไม่ควรแก่งาน ไม่ผ่องใส เปราะเสาะ และไม่ตั้งมั่นด้วยดี (ไม่เป็นสัมมาสมาธิ) เพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ฉันนั้น ๕ อย่างนั้นเป็นไฉน ? ได้แก่ กามฉันท์ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ และวิจิกิจฉา...

    "เมื่อใด จิตหลุดพ้นจากอุปกิเลส ๕ ประการเหล่านี้แล้ว ก็จะเป็นสภาพอ่อนโยน ควรแก่งาน ผ่องใส ไม่เปราะเสาะ และย่อมตั้งมั่นด้วยดี (เป็นเป็นสัมมาสมาธิ) เพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย อนึ่ง เธอจะน้อมจิตไป เพื่อรู้จำเพาะประจักษ์แจ้ง ซึ่งอภิญญาสัจฉิกรณียธรรม * อย่างใดๆ ก็ย่อมถึงภาวะที่สามารถเป็นพยานในธรรมนั้นๆได้ ในเมื่อเหตุมีอยู่.." (องฺ.ปญฺจก.22/23/17)
    ........
    ที่อ้างอิง *
    * อภิญญาสัจฉิกรณียธรรม สิ่งที่พึงทำให้ประจักษ์แจ้งด้วยการรู้เจาะตรง

     

แชร์หน้านี้

Loading...